การท่องเที่ยวกลายเป็นจุดขายหลักของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ละประเทศพยายาม “สร้าง” เมืองท่องเที่ยวขึ้นมา “แข่ง” กัน ดึงดูดให้ชาวต่างชาติ ให้ขนเงินเข้าประเทศของตนให้มากที่สุด และก็ได้ผลดี เนื่องด้วยค่าเงินที่แตกต่างกันมากกับประเทศแถบยุโรป อีกทั้งคนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีพื้นฐานนิสัยที่ใจดี ยิ้มแย้มแจ่มใส นอกจากนี้ด้วยสภาพภูมิอากาศที่อบอุ่น เหมาะแก่การมาพักผ่อนหนีหนาว ยิ่งเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว สิ่งสำคัญที่สุดเห็นจะเป็นศิลปวัฒนธรรมแบบท้องถิ่นที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว

ประเทศไทยดูเหมือนจะพยายามอย่างยิ่งในการสร้าง “เมืองท่องเที่ยว” ขึ้นมา โดยเน้นการ “ขาย” วัฒนธรรม หากวัดจากโฆษณาการท่องเที่ยว เราจะเห็นวัฒนธรรม “แช่แข็ง” มากมายจนลายตา เช่น การร่ายรำแบบไทยภาคกลาง ฟ้อนภาคเหนือ เซิ้งอีสาน รำภาคใต้ แต่เรามองไม่เห็นวัฒนธรรมอันแท้จริงที่ปรากฏอยู่ในวิถีชีวิตจริงๆ ของคนในภูมิภาคนั้น ซึ่ง นั่นต่างหากที่เป็นจุดขายที่แท้จริงของการท่องเที่ยว

ในฐานะนักท่องเที่ยวสมัครเล่น ข้าพเจ้าเคยเดินทางไปหลวงพระบางครั้ง โดยได้แรงบันดาลใจจากหนังสือเรื่อง “หลวงพระบาง” ของ ขจรฤทธิ์ รักษา ที่เขียนเรื่องท่องเที่ยวแบบวรรณกรรม อุ่นลึก เหงาเปล่าเปลี่ยวอยู่ในที ชวนให้อยากไปสัมผัสบรรยากาศเช่นในหนังสือสักครั้ง

และข้าพเจ้าเคยเดินทางไป เมืองปาย เมืองเล็กในหุบเขา จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นการเดินทางไปเพราะอยากเห็นเมืองเล็กๆ นั่นกับตาว่าสวยเหมือนคำเล่าลือหรือไม่ ไม่ได้เพราะแรงโฆษณาใดๆ ของท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และการเดินทางซ้ำไปยังปายอีกหลายครั้งเกิดจากความหลงใหลในมนต์เสน่ห์เล็กๆ ของเมืองเล็กๆ นั้น จนแม้ภายหลัง เมืองปายได้เป็น ฉากของหนังเรื่องหนึ่ง ที่ทำให้นักดูหนังหลายคนอยากไปเที่ยวปายสักครั้ง

การท่องเที่ยวอันแท้จริงมิได้เกิดจากการโฆษณา เพียงแต่จุดขายทางวัฒนธรรมของสถานที่แห่งนั้นดึงดูดแค่ไหน ไม่ต่างจากฉากและสถานที่ชวนประทับใจในภาพยนตร์เกาหลี หรือภาพบรรยายอันลึกซึ้งทางวรรณกรรม อย่าง “ทุ่งวัวแล่น” ในเรื่อง “แผ่นดินของเรา”

ทั้งปาย และ หลวงพระบาง เป็นเมืองท่องเที่ยวที่เน้นขายวัฒนธรรมและวิถีชีวิตผู้คน พอๆ กับสภาพธรรมชาติที่ชวนรื่นรมย์ใจ แม้ว่าลักษณะของการก่อร่างสร้างเมืองทั้งสองจะแตกต่างกันอย่างลิบลับ

หลวงพระบาง อดีตเมืองหลวง แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นเมืองริมแม่น้ำคาน ซึ่งไหลมาจบแม่น้ำโขง อันมีต้นกำเนิดจากบริเวณที่ราบสูงธิเบต แถบเทือกเขาตังกุลา (Tanggula) มณฑลชิงไห่ (Qinghai) ประเทศจีน ไหลผ่านมณฑลยูนานและออกจากประเทศจีนที่เมืองเชียงรุ้ง (Cheingrong) เป็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศจีนกับประเทศพม่า ไหลผ่านพม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม รวมความยาวมากถึง 4,880 กิโลเมตร และเป็นแหล่งอาศัยของปลาบึก ปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และพบเพียงแห่งเดียวในโลก

ส่วนเมืองปาย ของประเทศไทย เป็นเมืองเล็กๆ กลางหุบเขาระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในอดีตเป็นทางผ่านของเหล่าค้าวัวต่างม้าต่าง จึงเป็นเหมือนเมืองศูนย์รวมของคนหลากหลายเชื้อชาติ อันปรากฏมาจนปัจจุบัน ชาวท้องถิ่นในปายมีทั้งชาวไทยเหนือ ไทยใหญ่ ชาวจีนฮ่อ และชาวมุสลิม เมืองปายตั้งอยู่ริมน้ำปาย ซึ่งเป็นแม่น้ำที่เกิดจากทิวเขาถนนธงชัยและทิวเขาแดนลาวในเขตอำเภอปาย แล้วไหลลงมาทางทิศใต้ ผ่านอำเภอแม่ฮ่องสอนไปประจบกับแม่น้ำสาละวิน (แม่น้ำคง) ในเขตรัฐคะยา ประเทศพม่า มีความยาว 180 กิโลเมตร กว้างประมาณ 30 เมตร และลึกประมาณ 7 เมตร ท้องน้ำมีลักษณะเป็นกรวดทราย ในฤดูแล้งน้ำน้อยลึกเพียง 1 เมตร แม่น้ำปาย เป็นแหล่งอาศัยของปลาตูหนา (ปลาไหลหูดำ ปลาสะแงะ) เป็นปลา 2 น้ำ มีเกล็ดเล็กละเอียด รูปร่างคล้ายปลาไหล เป็นปลาที่มีการอพยพระหว่างน้ำจืดและทะเล ตัวเต็มวัยเข้ามาหากินในน้ำจืดและแม่น้ำขนาดใหญ่ บนเกาะในมหาสมุทรอินเดียและอันดามัน พม่า

ในแง่ของลักษณะเมือง หลวงพระบางดูจะยิ่งใหญ่อลังการ กว่าเมืองปายหลายเท่านัก เพราะเป็นอดีต “เมืองหลวง” ของลาว เป็นที่ประดิษฐาน “พระบาง” พระพุทธรูปยืนที่เป็นที่เคารพของชาวลาว หลวงพระบางทั้งเมืองได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกของมวลมนุษยชาติเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2538 และยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองที่ได้รับการปกปักรักษาที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเชียงใต้ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญคือวัดที่ทรงคุณค่าทางศิลปะมากมาย โดยเฉพาะวัดเชียงทองที่มีงานกระเบื้องประดับผนังที่สวยมาก วัดพระธาตุหมากโม ซึ่งมีจุดเด่นที่พระธาตุเป็นทรงกลมคล้ายแตงโม ด้านลักษณะบ้านเรือนเป็นลักษณะที่เรียกว่าโคโลเนียนสไตล์ หรือสถาปัตยกรรมแบบลาวผสมผสานฝรั่งเศส ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวในแต่ละภูมิภาค

ส่วนเมืองปาย นั้นลักษณะเมืองเล็กๆ อุดร วงษ์ทับทิม นักเขียนและนักวิจัยท้องถิ่น ซึ่งเคยไปทำงานวิจัยที่ปายระยะเวลานานหลายปี เสนอสมมุติฐานว่า ชาวพื้นเมืองเดิมของเมืองปาย เป็นชาว “ลัวะ” โดยมีซากโบราณสถานอยู่บนเขาเขตตำบลบ้านแม่ฮี้ ใกล้พระธาตุแม่เย็น (แต่มิได้เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และยังไม่ได้ทำทางเดินขึ้นไป) ซึ่งเป็นแหล่งโบราณสถานที่มีค่าในปาย แต่มักไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก

ส่วนบ้านของชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ มีชานเรือนซึ่งเป็นศิลปะไทยใหญ่ ซึ่งภายหลังเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเป็นบ้านทรงสมัยใหม่ โดยเฉพาะเมื่อธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มเฟื่องฟู บ้านหลายหลังถูกซื้อ-รื้อไปทำเกสต์เฮ้าส์ ส่วนวัดในปายนั้นเรียกได้ว่าเป็นวัดแบบ “ชาวบ้าน” ศิลปะไทยใหญ่-มอญ วัดที่น่าสนใจเช่น วัดกลาง ซึ่งภายในวัดมีพระเจดีย์องค์ใหญ่ ศิลปะไทยใหญ่แท้ ประดิษฐานอยู่กลางลานวัด มีเจดีย์ทรงมอญรายล้อมโดยรอบ ใต้เจดีย์ทำเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวัน เหนือฐานเจดีย์องค์ใหญ่ทำเป็นมณฑปยอดมงกุฎ วัดน้ำฮู ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระอุ่นเมือง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสิงห์สาม (ศิลปะล้านนา) ปางมารวิชัยทำด้วยโลหะทองสัมฤทธิ์ เป็นที่สักการะของชาวไทย เชื่อกันว่าสร้างโดยพระนเรศวรมหาราช เพื่อเป็นพระราชกุศลถวายพระพี่นางพระสุพรรณกัลยา พระพุทธรูปองค์นี้พระเศียรกลวง ส่วนบนปิดเปิดได้และมีน้ำขังอยู่เสมอ นักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปนมัสการพระอุ่นเมือง ต้องขออนุญาตจากเจ้าอาวาสเพื่อเปิดโบสถ์เสียก่อน นอกจากนี้ยังมีวัดพระธาตุแม่เย็น ซึ่งเป็นวัดที่สร้างบนเขาสูง มองเห็นทิวทัศน์ทั้งเมือง นอกจากการชมทิวทัศน์แล้ว เจ้าอาวาสยังเปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปได้ฝึกวิปัสสนา จึงเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศที่สนใจจะฝึกวิปัสสนากรรมฐาน

การเน้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นลักษณะเด่นของทั้งหลวงพระบาง และปาย ความมีเสน่ห์ของทั้งสองเมืองมิได้อยู่ที่แค่ความสวยงามของธรรมชาติ หรือสถาปัตยกรรม หากแต่ “ความมีชีวิต” ต่างหากที่ดึงดูดความสนใจ และเย้ายวนให้ “ใช้ชีวิต” อยู่ในเมืองนั้น ดังนั้นจะเห็นว่า ทั้งนักท่องเที่ยวที่ไปหลวงพระบาง และปาย มักจะมีกำหนด “พักค้างคืน” อย่างน้อย 2 คืน เพื่อสัมผัสภาพชีวิตของชาวเมือง จึงมีหลายคนที่ขนานนามว่าเมืองทั้งสอง เป็นเมือง “ยูโทเปีย” หรือเมืองในฝัน เมืองที่มีชีวิตรื่นรมย์ ยิ้มแย้ม ไม่เร่งร้อน นิ่งเรื่อยไปตามสายลมแสงแดดอย่างเย็นใจ

ในหลวงพระบาง ชีวิตเหล่านี้เริ่มต้นตั้งแต่ยามเช้า ในการตักบาตรข้าวเหนียว นักท่องเที่ยวนิยมไปที่สัดพูสี เพราะเมื่อตักบาตรแล้วก็เดินขึ้นเขาไปชมทิวทัศน์บนเขาเห็นหลวงพระบางเกือบทั้งเมือง จากนั้นก็ไปร้านกาแฟประชานิยม ซึ่งโด่งดังมากว่าเป็นกาแฟที่อร่อยที่สุด เดินตลาดดารา ชมของพื้นบ้าน และเครื่องเงิน จากนั้นก็ชมเมือง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายวัน คือชมวัด ชมเมือง ชมศิลปะอื่นๆ ที่นิยมมากก็คือร้านกระดาษสา และหากมีเวลาเพียงพอ ก็ต้องเลยไปน้ำตกตาดกวางสี ครั้นตกเย็น ตลาดเย็นก็มีให้เดิน ไก่ย่างมีให้เห็นมากกว่าอย่างอื่น (แต่อย่าหวังว่าจะเห็นส้มตำ) ข้าวจี่รสชาติลาว ที่น่าสนใจและพลาดไม่ได้เห็นจะเป็น “นม(วัว)ย่าง” ซึ่งเป็นกับแกล้มอย่างดีสำหรับคอเบียร์ แน่นอนว่าต้อง “เบียร์ลาว” เท่านั้น ก่อนพระอาทิตย์ตกอาจจะขึ้นพระธาตุพูสีอีกครั้งไปรอชมอาทิตย์ยามเย็นก็ยังได้ แล้วจากนั้นก็เดินชมตลาดมืด(ค่ำ) ซึ่งเป็นแหล่งซื้อของยามค่ำคืน สวยงามด้วยแสงสีสลัวราง และแสงไหววะวิบของเทียนทำให้มีชีวิตชีวาขึ้นมากทีเดียว

หากโชคดีที่มีโอกาสไปเยือนหลวงพระบางในช่วงสงกรานต์ หรือที่ชาวหลวงพระบางเรียกว่า “สังขาน” จะได้ชมขบวนแห่นางสังขาน ประกอบด้วย พระบาง พระม่าน ปู่เยอ ย่าเยอ และสิงห์แก้ว ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ประจำปีของชาวหลวงพระบาง การเล่นสงกรานต์ของชาวหลวงพระบางมีหลายรูปแบบ นอกจากสาดน้ำแล้วก็นิยมเล่นแป้ง ที่น่าสนใจคือการข้ามแม่น้ำโขง ไปยังเกาะหรือที่เรียกว่าบ้านเชียงแมน เพื่อเล่นสงกรานต์(แป้ง) นอกจากนี้ยังมีบ้านที่เปิดบ้านตัวเองเป็น “วิกรำวง” สำหรับวันรุ่นมารวมตัวฉลองสงกรานต์ร้องเพลงเต้นรำอย่างสนุกสนาน

สำหรับปาย ยามเช้าเริ่มต้นที่ตลาดเช้า ซึ่งเป็นตลาดชาวบ้าน มีกาแฟเจ้าอร่อยอยู่แถวหน้าธนาคารกรุงไทย โดยทั่วไปยามเช้าเป็นช่วงของชาวพื้นถิ่น ชีวิตนักท่องเที่ยวมักเริ่มต้นด้วยการหาจักรยานปั่น หรือมอเตอร์ไซค์ ชมเมือง เริ่มโป่งน้ำร้อนเมืองแปง ถือโอกาสอาบน้ำแร่แช่น้ำร้อนไปแต่เช้า เข้าวัดพระธาตุแม่เย็น ชมเมือง

และในเมืองนี้ก็มีมัสยิดถึง 2 แห่ง คือนอกถนนก่อนเข้าเมือง และในตัวเมือง จากนั้นไปชมศิลปะมอญที่วัดกลาง วัดน้ำฮู เลยไปยังหมู่บ้านจีนฮ่อ หรือหมู่บ้านสันติชน ออกไปยังน้ำตกหมอแปง แหล่งอาบแดดของชาวต่างชาติ แล้วจะวนกลับมายังสะพานประวัติศาสตร์ท่าปาย พ.ศ. 2485 (สะพานรถไฟสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2) การเดินทางในปาย ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวไม่รีบร้อน ค่อยๆ ชมแต่ละส่วนไปตามอัธยาศัย อาจจะถือเบียร์ติดมือไปด้วย

สิ่งน่าสนใจอีกอย่างในปายคือ งานแสดงศิลปะ หลังจากมีศิลปินหลายคนขนข้าวของไปอยู่ที่ปาย เมืองปายก็กลายเป็นเมืองแสดงศิลปะเล็กๆ เมืองหนึ่ง โดยเฉพาะที่ ร้านมิตรไทย ของสกนธิ์ – วันเพ็ญ สังขมี สองศิลปินที่เริ่มต้นร้านโปสการ์ดปาย ให้เป็นที่นิยมและมีคนตามอีกหลายร้าน จนขยายมาทำห้องแสดงศิลปะของตนเอง นอกจากนี้บรรดาชาวต่างประเทศที่มาพักที่ปาย (ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลานาน บางคนอยู่นานหลายเดือน) บางคนก็มาอยู่แสดงงานศิลปะได้เลย

ตกเย็นเดินตลาดเย็นอีกครั้ง มีสินค้าท้องถิ่นมากมาย เช่น เสื้อผ้าแบบชาวเขา กระเป๋า หมวก ผ้าห่ม จะได้เห็นพืชผักพื้นบ้านราคาถูกมาก ซื้อกลับไปลองทำกินได้ และที่ขาดไม่ได้สำหรับนักท่องเที่ยวคือ โรตีสูตรอาบังปาย เป็นโรตีหลากหลายสูตรล้วนน่ากิน นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารยามกลางคืน ร้านเหล้า ซึ่งบางร้านมีดนตรีสดแสดง แกลลารี่กลางคืน (แกลลารี่บางแห่งเปิดเฉพาะกลางคืน เพื่อขายเครื่องดื่มด้วย) นักท่องเที่ยวก็จะแยกย้ายเข้าร้านที่ตัวเองชอบ

อย่างไรก็ตาม แม้เมืองหลวงพระบาง ใหญ่กว่าปาย แต่หลวงพระบางมีกฎหมายที่ควบคุมเมืองอย่างดี การก่อสร้างอาคารอะไรเพิ่มเติมต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาล โดยเฉพาะสถานบันเทิง ร้านเหล้า นั้นมีการควบคุมอย่างเข้มงวด หลวงพระบางจึงมีความเปลี่ยนแปลงน้อย แม้จะมีร้านอาหาร-ร้านกาแฟ- ร้านขนมปัง แบบฝรั่งหลายร้าน แต่ก็ดูผสมกลมกลืนกับวิถีชีวิตของคนทั่วไป

แต่เมืองปายนั้น หลังจากธุรกิจการท่องเที่ยวบูม ก็เกิดเกสต์เฮาส์จำนวนมาก แม้ส่วนใหญ่จะสร้างด้วยวัสดุในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ ไม้ สร้างในแบบศิลปะภาคเหนือ แต่ระยะหลังมีการสร้างมากขึ้น ทั้งบ้านปูน ทั้งใช้เครื่องปรับอากาศอย่างเกินความจำเป็น ทำให้เมืองเจริญแบบไม่มีการควบคุม ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายต่อวิถีชีวิตของชาวท้องถิ่น ซึ่งแท้ที่จริงก็เป็นจุดขายสำคัญของปาย ปัญหาอีอย่างของปายคือการทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อเอามาใช้ในการท่องเที่ยว เช่น การตัดไม้ไผ่ โดยไม่ได้มีการปลูกทดแทน การทิ้งน้ำเสีย ซึ่งเหล่านี้ล้วนต้องใช้การจัดการด้านผังเมืองมาควบคุมทั้งสิ้น

แม้วัฒนธรรมจะเป็นสินค้า เพื่อเป้าหมายสำหรับการท่องเที่ยว แต่ว่าการดูแลสภาพเมือง เพื่อสานต่อวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ อย่างยิ่ง หากเมืองเสื่อมโทรม วัฒนธรรมจะดำรงอยู่อย่างไร

หากจะคิด “ขาย” วัฒนธรรม ก็จงสร้างแหล่งกำเนิดทางวัฒนธรรมที่มั่นคง นั่นจะทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ไปพร้อมกับวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของชาวเมือง

กว่าชื่น บางคมบาง เรื่อง/ภาพ
สงวนลิขสิทธิ์ตามพรบ. ลิขสิทธิ์