รางวัล มนัส เศียรสิงห์ “แดง”
เกียรติแห่งคนทำงานศิลปะ

รางวัล มนัส เศียรสิงห์ “แดง” เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2544 ในวาระครบรอบ 25 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยริเริ่มจากฝ่ายศิลปกรรม สถาบันปรีดี พนมยงค์ เพื่อมุ่งหวังส่งเสริมคนทำงานศิลปะ ที่มีความคิดและอุดมการณ์ ดังเจตนารมณ์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ที่มุ่งหวังส่งเสริมให้มี สันติภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรมในสังคม หรือที่อาจารย์ป๋วย อึ้งภากร ได้นำคำทั้งสามมารวมกันเป็นคำว่า “สันติประชาธรรม”

ชื่อมนัส เศียรสิงห์ “แดง” นั้น เป็นชื่อของศิลปินคนหนึ่งในแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย ที่ทำงานเพื่อส่วนรวม แต่ต้องมาจบชีวิตที่หน้าหอประชุมธรรมศาสตร์ ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม อีก 25 ปีต่อมา กลุ่มเพื่อนและกลุ่มศิลปินเดือนตุลา ร่วมกับสถาบันปรีดี พนมยงค์จึงตั้งรางวัล มนัส เศียรสิงห์ “แดง” ขึ้น เพื่อระลึกถึงศิลปินผู้เสียสละคนนี้ ในขณะเดียวกันก็เพื่อส่งเสริมศิลปินที่ทำงานอย่างมี “สันติประชาธรรม” เพื่อต้านทานกระแสหลักที่ศิลปะมักมุ่งเน้นไปทางด้านผลประโยชน์ที่เป็นรายได้และเงิน การเชิดชูเกียรติแก่ผู้สร้างงานศิลปะอย่างมีอุดมการณ์นั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่าสังคมมิได้ทอดทิ้งให้ศิลปินทำงานอย่างโดดเดี่ยว ทว่ายังมีองค์กรและกลุ่มบุคคลที่สนใจและส่งเสริมผู้ที่ทำงานเพื่อสังคม

รางวัลมนัส เศียรสิงห์ “แดง” นั้น มุ่งหมายมอบให้แก่ผู้ที่ทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง จึงมีระยะการมอบรางวัล ครั้งละ 5 ปี เพื่อเว้นช่วงในการติดตามและพิสูจน์วิถีการทำงานของศิลปิน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ รางวัลมนัส เศียรสิงห์ ‘แดง’ ศิลปินเกียรติยศ (HONORARY RED ART AWARD) มอบให้ศิลปินทัศนศิลป์ผู้สร้างสรรค์ผลงานสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 ปี และรางวัลมนัส เศียรสิงห์ ‘แดง’ (RED ART AWARD) มอบให้แก่ศิลปินทัศนศิลป์ผู้สร้างสรรค์ผลงานสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งนับว่าเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่เริ่มทำงานต่อเนื่อง

ผู้ได้รับรางวัลมนัส เศียรสิงห์ “แดง” ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2544 รางวัลมนัส เศียรสิงห์ ‘แดง’ ศิลปินเกียรติยศ ได้แก่ ทวี รัชนีกร และ ลาวัณย์ อุปอินทร์ (ดาวราย) ส่วนผู้ได้รับรางวัล รางวัลมนัส เศียรสิงห์ “แดง” ได้แก่ วสันต์ สิทธิเขตต์

[/img]

(ภาพบน ซ้าย พิทักษ์ ปิยะพงษ์ ขวา โชคชัย ตักโพธิ์
ภาพล่าง ซ้าย สุโรจนา เศรษฐบุตร ขวา สุธี คุณาวิชยานนท์)

สำหรับรางวัลมนัส เศียรสิงห์ “แดง” ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2549 นี้ ได้แก่
รางวัลมนัส เศียรสิงห์ “แดง” ศิลปินเกียรติยศ (HONORARY RED ART AWARD)
1.นายโชคชัย ตักโพธิ์
2.นายพิทักษ์ ปิยะพงษ์

รางวัลมนัส เศียรสิงห์ “แดง” ศิลปินทัศนศิลป์ดีเด่น (RED ART AWARD)
1. นายสุธี คุณาวิชยานนท์
2. นางสาวสุโรจนา เศรษฐบุตร

อาจารย์โชคชัย ตักโพธิ์ ผู้ได้รับรางวัลมนัส เศียรสิงห์ “แดง” ศิลปินเกียรติยศ เป็นศิษย์สาขาภาพพิมพ์ รุ่นแรกของเพาะช่าง มีผลงานได้รับรางวัลตั้งแต่สมัยเรียน ได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อรับใช้สังคม เข้าร่วมเป็นแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย เมื่อเรียนจบรับราชการและเป็นผู้บุกเบิกคณะศิลปกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษา อุบลราชธานี มีผลงานนิทรรศการมากมาย
การแสดงนิทรรศการครั้งสำคัญ เช่น นิทรรศการศิลปกรรม ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (๒๕๑๖) นิทรรศการภาพคัตเอาท์การเมืองเดือนตุลา บนเสาไฟกินนรี เกาะกลางถนนราชดำเนินกลาง ( ๒๕๑๘) นิทรรศการศิลปกรรมแห่งประเทศไทย นิทรรศการศิลปกรรม ชุดวัดหนองป่าพง ( ๒๕๔๓-๒๕๔๔) นิทรรศการสีน้ำและวาดเส้นชุด ผาแต้ม-แต้มสี ณ หอศิลป์นิทรรศการมารศรี วังสวนผักกาด และที่อื่นๆ ( ๒๕๔๕-๒๕๔๖) นิทรรศการศิลปกรรมร่วมสมัย โชคชัย ตักโพธิ์ : กระบวนทัศน์ ๓ ทศวรรษ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลป ( ๒๕๔๖ )
ปัจจุบันเป็นอาจารย์ คณะศิลปกรรม สถาบันการอาชีวศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (วิทยาลัยอาชีวศึกษา อุบลราชธานี)

พิทักษ์ ปิยะพงษ์ ผู้ได้รับรางวัลมนัส เศียรสิงห์ “แดง” ศิลปินเกียรติยศ ลูกชาวนา ศิษย์เพาะช่างผู้มีบทบาทสำคัญในการออกแบบโปสเตอร์เคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชน เป็นผู้ผลักดันให้นักกิจกรรมทัศนศิลป์หนุนสร้างงานศิลป์ให้กับกิจกรรมนักศึกษาและองค์กรภาคประชาชน เป็นผู้ร่วมก่อตั้งแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย ก่อตั้งชมรมศิลปกรรมแห่งประเทศไทย และเป็นกำลังสำคัญในการจัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมแห่งประเทศไทย
ในด้านกระบวนการพัฒนาเทคนิควิธีการทางศิลปะ เป็นผู้เริ่มและบุกเบิกการเขียนภาพสดขนาดใหญ่ ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมือง ได้คิดค้นสร้างสรรค์งานศิลปะจากดินโคลนกลางท้องทุ่งนา รวมทั้งนำเอาชันยาเรือและดินเลนมาเขียนรูปภาพ โดยยังคงกลิ่นอายจิตวิญญาณชาวนาไว้อย่างเหนียวแน่น นอกจากนี้ยังใช้นามปากกา ทาสไท พิทักษ์ชน เขียนบทกวี สะท้อนปัญหาสังคมและสภาพแวดล้อม
การแสดงนิทรรศการครั้งสำคัญ เช่น แสดงนิทรรศการร่วมกับกลุ่มศิลปินกลุ่มธรรม (2505) แสดงนิทรรศการร่วมกับกลุ่มศิลปินอิสระ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2516) นิทรรศการชมรมศิลปกรรมแห่งประเทศไทย (2522) ได้รับเชิญไปแสดงนิทรรศการศิลปกรรมร่วมกับศิลปินญี่ปุ่น ณ เมืองเกียวโต , อิวาดะ ประเทศญี่ปุ่น มีผลงานภาพศิลปะแนวเพื่อชีวิตสะสมอยู่ในหอศิลป์ร่วมสมัย ประเทศญี่ปุ่น และอื่นๆอีกมากมาย
ปัจจุบัน นายพิทักษ์ ปิยะพงษ์ ได้อุทิศตนให้กับการสอนศิลปะให้เด็กในพื้นที่ชนบทของจังหวัดฉะเชิงเทรา

นายสุธี คุณาวิชยานนท์ ผู้ได้รับรางวัลมนัส เศียรสิงห์ “แดง” ศิลปินทัศนศิลป์ดีเด่น (RED ART AWARD) เริ่มศึกษาศิลปะที่วิทยาลัยช่างศิลป กรุงเทพฯ จบศิลปบัณฑิต สาขาภาพพิมพ์ พ.ศ. 2532 จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จากนั้นไปศึกษาต่อที่ ซิดนีย์ คอลเลจ ออฟ ดิ อาร์ตส์ (Sydney College of the Arts) มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ได้รับปริญญาศิลปมหาบัณฑิตสาขาทัศนศิลป์ พ.ศ. 2536
พัฒนาการสร้างสรรค์งานศิลปะทั้งทางรูปแบบ เทคนิค วิธีการอย่างไม่หยุดนิ่ง ให้สอดรับกับเนื้อหาที่ที่มีสาระหนักแน่นลึกซึ้ง ภายใต้ลักษณะร่วมสมัยทางสังคม
แสดงนิทรรศการครั้งสำคัญได้แก่ ผลงานชุด “ช้างเผือกสยาม” (2538) ได้รับเชิญไปร่วมแสดงนิทรรศการกับกลุ่มศิลปินแนวศิลปะการแสดงญี่ปุ่น คณะบูโด ที่ Nishi Kitaza เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น 2538) ผลงานชุด “ความซ้ำซากอันเป็นนิรันดร์” ( 2540-2541) ผลงานศิลปกรรมแนวจัดวางชุดสำคัญ ที่สร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมในด้านการเรียนรู้ประชาธิปไตย ชื่อชุด “ห้องเรียนประวัติศาสตร์” ในโอกาสครบรอบชาตกาล 100 ปี นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งจัดแสดงบนฟุตบาทถนนราชดำเนินกลาง ระหว่างวันที่ 11-14 พฤษภาคม พ.ศ. 2543
ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นคอลัมนิสต์เกี่ยวกับศิลป

สุโรจนา เศรษฐบุตร ศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเรียน Chinese Painting จากอาจารย์ Lim Eow ช่วงปี พ.ศ. 2518 จนถึง 2523 จากนั้นไปศึกษาต่อทางด้านเครื่องปั้นดินเผา จบปริญญาตรี University of Kansas, KS ประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2519 ได้รับปริญญามหาบัณฑิตทางด้านเครื่องปั้นดินเผาจาก Kansa State University ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ. 2532
ในระยะแรกนั้น สุโรจนา เศรษฐบุตร ได้สร้างงานศิลปกรรมเครื่องปั้นดินเผา ต่อมาได้พัฒนาการสร้างสรรค์งานศิลป์ในรูปแบบศิลปะแนวจัดวางบนพื้นที่ โดยใช้เทคนิคและวัสดุประเภทศิลปะเครื่องปั้นดินเผามาประกอบเป็นผลงาน ผลงานสะท้อนความรู้สึกในเรื่องจิตสำนึก ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่เบียดเบียน อีกทั้งยังให้สติกับผู้เสพงานศิลป์ ได้ใช้วิจารณญาณในการพิจารณาไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน
การแสดงนิทรรศการที่สำคัญ เช่น ชุด 14th Annual Prairie Art Exhibition Sterhing College, KS ประเทศสหรัฐอเมริกา (2531) การแสดงนิทรรศการสำคัญ ได้แก่ ผลงานเรื่อง ธาตุ 4 (Elements) ณ หอศิลปแห่งชาติ 2539) การแสดงนิทรรศการเดี่ยวชุด “อิสราเอล” ณ หอศิลปแห่งชาติ (2541) นิทรรศการชุด “วัฏจักรของประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนิน” ( 2543) บนฟุตบาทถนนราชดำเนินกลาง นิทรรศการชุด “หนึ่งในทรัพยากรธรรมชาติของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อการส่งออกสู่ทวีปยุโรป ที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก” ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร (2543) นิทรรศการชุด “ป่าไม้ ไทย ลาว” ณ หอศิลป์ตาดู ( 2544) และเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากมูลนิธิ 14 ตุลา ให้เป็นผู้ดำเนินงานจัดทำและติดตั้งกระเบื้องดินเผาประดับสถูปวีรชน ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง
ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ

รางวัลมนัส เศียรสิงห์ “แดง” นับเป็นรางวัลแห่งเกียรติ ที่มุ่งเชิดชูเกียติแด่ศิลปินที่ทำงานเพื่อ “สันติประชาธรรม” อย่างต่อเนื่อง
สำหรับงานเชิดชูเกียรติผู้ได้รับรางวัลมนัส เศียรสิงห์ “แดง” จะจัดขึ้น ในวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์