ข่าวโศก แจ้งมาจากสถาบันปรีดี พนมยงค์ ว่า ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยารัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว เป็นความสูญเสียอีกครั้ง ของประเทศนี้

อย่างไรก็ตาม ทายาทของท่านผู้หญิง ได้ส่งแจ้งพินัยกรรมสุดท้ายของท่านไว้ อ่านแล้วถึงกับน้ำตาซึม ด้วยสาระในจดหมายของท่าน อันเป็นเสมือนข้อความสอนธรรมะแด่ผู้อ่านทุกคน
ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดข่าวจากทายาทค่ะ

ทายาทท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่า
ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยารัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ ๘ มีอาการทางโรคหัวใจ จึงได้เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ต่อมาในค่ำวันที่ศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันปรีดี พนมยงค์ อาการของท่านผู้หญิงได้ทรุดหนักลงโดยลำดับ กระทั่งได้ถึงแก่อนิจกรรมโดยสงบ เมื่อเวลา ๐๒.๐๐ น. ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว
สิริอายุ ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน
ทั้งนี้ทายาทของท่านผู้หญิง ขอขอบคุณคณะแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ได้พยายามดูแลรักษาจนสุดความสามารถอย่างดียิ่งทุกประการ
ในการจัดพิธีศพท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ทายาทจะปฏิบัติตาม “คำสั่งถึงลูก” ที่ท่านผู้หญิงได้เขียนไว้ด้วยลายมือ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๑ ความว่า

คำสั่งถึงลูกๆทุกคน
เมื่อแม่สิ้นชีวิต ขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
๑)นำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันที เมื่อหมอตรวจว่าหมดลมหายใจแล้ว
๒)ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆทั้งสิ้น
๓)ประกาศทางวิทยุ และลงหนังสือพิมพ์เพื่อแจ้งข่าวให้ญาติมิตรทราบ
๔)ไม่มีการสวดอภิธรรม ทั้งนี้ไม่รบกวนญาติมิตรที่ต้องมาร่วมงาน
๕)มีพิธีไว้อาลัยที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยนิมนต์พระที่แม่นับถือแสดงธรรมกถา (เช่นเดียวกับที่จัดให้ปาล) และทำบัตรรับหนังสือที่ระลึก
๖)ไม่รบกวนญาติมิตร ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ หรือเงินช่วยทำบุญ
๗)เมื่อโรงพยาบาลคืนศพมาก็ทำการฌาปนกิจอย่างเรียบง่าย
๘)ให้นำอัฐิและอังคารไปลอยที่ปากน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นสถานที่ๆแม่เกิด
๙)หากมีเงินบ้าง ก็ขอให้บริจาคเป็นทาน แก่มูลนิธิต่างๆ ที่ทำสาธารณกุศล
๑๐)ขอให้ลูกทุกคนปฏิบัติตามที่แม่สั่งไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ต้องฟังความเห็นผู้หวังดีทั้งหลาย ลูกๆที่ปฏิบัติตามคำสั่งของแม่จงมีความสุข ความเจริญ

พูนศุข พนมยงค์
เขียนไว้ที่บ้านเลขที่ ๑๗๒ สาธร ๓ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๑
แม่มีอายุครบ ๘๖ ปี ๙ เดือนทายาทท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

สำหรับการลงนามไว้อาลัย

ลงนามไว้อาลัยได้ที่ สถาบันปรีดี พนมยงค์
๖๕/๑ สุขุมวิท ๕๕ (ซอยทองหล่อ)
แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา
โทรศัพท์ ๐-๒๓๘๑-๓๘๖๐-๑
ตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐

พิธีไว้อาลัยท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
วันอาทิตย์ที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐
ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์

สำหรับประวัติโดยสังเขป ของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
มีดังนี้

ท่านผู้หญิงพูนศุข เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2454 ในตระกูล ณ ป้อมเพชร์ ซึ่งเป็นตระกูลขุนนาง บิดา คือ พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ คนแรกของประเทศ เมื่อปี 2471 ท่านผู้หญิงได้สมรสกับนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งใน 4 ปีต่อมา กลายเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ในฐานะหนึ่งในผู้ก่อการ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบ ประ ชาธิปไตย และได้เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

อายุได้ 22 ปี ท่านผู้หญิง ต้องลี้ภัยการเมือง ไปต่างประเทศ เนื่องจากนายปรีดีประสบปัญหาทางการเมือง และเมื่อกลับมาจาก ต่างประเทศ ได้ติดตามนายปรีดี ไปทุกหนทุกแห่ง ในฐานะ ภรรยาของ สามีที่ดำรงแหน่ง รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง เมื่ออายุเพียง 28 ปี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ท่านผู้หญิง”

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดีได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ส่วนท่านผู้หญิงพูนศุขได้เข้าร่วมกับ ขบวนการเสรีไทย ทำงานใต้ดิน ส่งข่าวออกนอกประเทศให้แก่สัมพันธมิตร จนหลังสงครามโลกสิ้นสุด นายปรีดีได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาไม่นานก็เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ทหารขับรถถังมาจ่อหน้าทำเนียบท่าช้าง และสาดกระสุนเข้าไปในบ้านที่ท่านผู้หญิงและลูก ๆ พำนักอยู่ เหตุการณ์นั้นทำให้นายปรีดีต้องหนีตายไปอยู่ต่างประเทศ

ต้นปี พ.ศ. 2495 ท่านผู้หญิงและลูกชายถูกอำนาจเผด็จการสั่งจับกุมคุมขัง ในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร จนท่านผู้หญิงไม่อาจทนอยู่เมืองไทยได้ ตัดสินใจติดตามไปอยู่กับนายปรีดีที่ประเทศจีนและฝรั่งเศส ได้มีโอกาสกลับมาเมืองไทยช่วงสั้นๆ ในปี 2501 เนื่องจากมารดาป่วยหนัก และกลับมาอีกครั้งในปี 2518 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคมฯ แต่ก็ยังคงเดินทางไปมาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส จนกระทั้งนายปรีดีถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ท่านผู้หญิงจึงเดินทางกลับประเทศไทยโดยถาวร