อุปสรรคไม่ใช่ก้อนกรวด
หากอุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต คือ กรวดเล็ก ๆ หนึ่ง
วันที่เรายังเยาว์วัย กรวดก้อนนั้นยังเล็ก และไม่สร้างความเจ็บปวดให้มากมายนัก กระนั้น ใช่ว่ากรวดเล็ก ๆ นั้นจะไม่เป็นอุปสรรคในแต่ละย่างก้าวของชีวิต ในแต่ละย่างก้าวของการเติบโต
เช่นเดียวกับ “เจ้าป๋อง” ตัวละครที่เป็นดั่งตัวแทนวัยเยาว์ที่ให้ภาพสะท้อนต่อวัยผู้ใหญ่จากบทบาทภายใต้คำสอนของ “หลวงตาจิ๋ว” ในผลงานนวนิยายเล่มล่าสุดของศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ คุณ ชมัยภร แสงกระจ่าง ซึ่งเริ่มต้นนิยายเล่มบางเล่มนี้จากคอลัมน์ในนิตยสาร The Secret ในวันที่ต้องมารู้ว่าพื้นที่การเขียนกำลังจะหายไป
ขณะที่เรื่องราวของเจ้าป๋องเพิ่งจะเริ่มย่างก้าวก็กลับต้องสะดุดต่อกรวดก้อนแรกเสียแล้ว
“…เราต้องโยงกับไปที่สถานการณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์…” คุณชมัยภรบอกเกริ่นถึงกรวดก้อนแรกที่ทำให้เกิดเป็นเรื่องราวของ “หลวงตาจิ๋วกับเจ้าป๋อง” จากสถานการณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ประสบปัญหาขาดทุนจนต้องทยอยปิดกิจการไปหลายราย ไล่เรียงมาตั้งแต่ นิตยสารสกุลไทย ขวัญเรือน และ The Secret ซึ่งเป็นคอลัมน์ที่ชมัยภรได้รับโอกาสไม่อย่างคาดฝัน จากเมื่อแรก นิตยสารต้องการให้คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน ที่มีความรู้ทางธรรมมาเขียน ทว่าด้วยข้อจำกัดต้องเขียนทุก ๆ 15 วัน ทำให้คุณหญิงเสนอชื่อของชมัยภรในฐานะผู้เขียนร่วม กระทั่งมอบหมายให้เป็นผู้เขียนหลักแต่เพียงผู้เดียวในที่สุด
“…ด้วยความที่ The Secret นั้นเป็นคอลัมน์สั้น ๆ และสังคมก็คงต้องการการเยียวยาทางใจ หนังสือก็เลยอยู่นาน ดิฉันสามารถเขียนคอลัมน์ติด ๆ กันไปสองสามปี มีเรื่องเป็นร้อยเรื่องเลย ก็อยากจะรวมเล่มทีเดียว แต่ทางสำนักพิมพ์เขารวมทีละครึ่ง ก็เลยออกมาเป็นชีวิตที่มีเรา กับ ทั้งชีวิตช่างเปราะบาง…”
จุดเริ่มต้นของหลวงตาจิ๋วกับเจ้าป๋อง
ด้วยพื้นเพของความเป็นผู้สนใจปฏิบัติธรรม ซึ่งหนึ่งในหลักคำสอนก็คือว่า การจะเขียนสอนคนอื่น หากสอนผิด เป็นบาปมากกว่าไม่ได้สอนเสียอีก
จึงเป็นความตั้งใจที่จะไม่เขียนงานในเชิงสอนสั่งใด ๆ ให้แก่ผู้อ่าน แต่ด้วยนิสัยของ “นักเขียน” เมื่อได้รับโอกาสให้เขียนคอลัมน์ คุณชมัยภรจึงปรับเปลี่ยนเรื่องราวในคอลัมน์ให้กลายมาเป็นนวนิยาย โดยอิงจากบุคคลจริงที่มีโอกาสได้พบตอนปฏิบัติธรรมนั่นเอง
“…ถ้าใครให้เราเขียนคอลัมน์ เราจะขโมยคอลัมน์เขามาทำเป็นนวนิยาย ทีนี้เราก็ทำเหมือนกัน ตั้งชื่อหลวงตาจิ๋วกับเจ้าป๋อง หลวงตาจิ๋วเนี่ย เป็นตัวละครที่มีอยู่จริง แล้วชื่อเจ้าป๋อง เรารู้สึกว่าชื่อนี้มันมีความน่ารัก เจ้าป๋องเขาเป็นเพื่อนกับหลาน ทั้งที่เขาอายุสักสามสิบกว่า แต่หน้าตามันประมาณสิบห้า แล้วเขาเป็นเพื่อนกับหลานเรา ป๋องมันมีวิญญาณความเป็นเด็กในตัวสูงมาก เราก็เลยตัดสินใจเอาชื่อเขามา ส่วนหลวงตาจิ๋วก็คือพระอาจารย์ที่เคยสอน ท่านก็จะสอนง่าย ๆ เราก็รู้สึกว่าอยากเอาพระอาจารย์จิ๋วซึ่งดุเราในการปฏิบัติธรรมมาใช้ ท่านยังไม่ได้เป็นหลวงตา แต่เรามาคิดแทนป๋อง ถ้าเป็นเด็กก็ต้องเรียกหลวงตา พฤติกรรมทั้งปวงที่ปรากฏในเรื่อง ก็จะเอาตัวเองนะคะ เพราะฉะนั้นเมื่อป๋องเหยียบกรวด ก็คือเราเหยียบ ทุกอันที่เขียน ต้องคิดแล้วว่า มันสามารถจบได้ในหนึ่งตอน แล้วมันก็สามารถปลอมตัวว่าเราไม่ได้เขียนเรื่องยาว เพื่อให้ บก. เขาไม่โวย เรามีความรู้สึกว่าถ้าเราทำแบบนี้ ผลพลอยได้ก็คือเมื่อเราเขียนจบแล้วเนี่ย เราจะได้รวมเล่ม ปัญหาก็คือ ยังไม่ทันจบเลย เขาปิดนิตยสารไปเสียก่อน…”
ธรรมะที่เข้าถึงง่าย
เมื่อนิตยสารปิดตัวไปแล้ว หากแต่ในฐานะนักเขียน คุณชมัยภรได้อ่านทบทวนเรื่องราวของหลวงตาจิ๋วกับเจ้าป๋องแล้วเห็นว่าเรื่องราวของทั้งสองยังสามารถไปต่อได้ เรื่องราวที่ถูกม้วนอย่างพยายามให้จบลงในตอนอย่างรวบรัด จึงถูกคลี่ขยายกระทั่งออกมาเป็นหนังสือที่เสร็จสมบูรณ์ในที่สุด
ด้วยความที่ไม่ได้เป็นนักอ่านมาก่อนตั้งแต่เยาว์วัย กระทั่งเมื่อก้าวมาเป็นอาจารย์จึงมีโอกาสได้อ่านมากขึ้น ผศ.กิตติชัย พินโน หรือ อาจารย์โจ๊ก ของนิสิตหลาย ๆ คน ขอออกตัวให้ความเห็นในฐานะ “นักอ่าน” คนหนึ่ง ที่เอา “ตำแหน่ง” ไปแขวนเอาไว้ก่อนว่า
“…จุดที่น่าสนใจคือ ไหน ๆ เป็นธรรมะมาแล้ว เราชอบตอนที่เดินไปตามถนนลาดยางมะตอย แล้วหินมันโผล่ออกมาเพราะว่ามีการเบียดบังงบประมาณทำถนน ทำให้มองเห็นว่า ความที่เราอยากได้ความเจริญ แล้วความเจริญนั้นมันมาถึง มันมาเต็มที่หรือเปล่า หรือว่ามาถึงครึ่ง ๆ กลาง ๆ อย่างเวลาเราเห็นพระเณรที่เดินไปสะดุ้งไป จริง ๆ เป็นข้อดี ให้มีสติในทุกย่างก้าวที่เดิน อยู่กับสิ่งที่เห็น นี่คือสิ่งสำคัญที่บางทีไม่ต้องมาสอนบอกกันด้วยคำพูด แต่ให้เหตุการณ์มันเล่าเรื่อง ให้เราคิดต่อได้…”
ขณะที่คุณแนน หรือ ร.ท.หญิง สุนิสา ปัญจมะวัต มองเรื่องราวใน “หลวงตาจิ๋วกับเจ้าป๋อง” ว่าเป็นเรื่องที่เด็ก ๆ น่าจะเข้าถึงได้ง่าย “…เพราะมันมีคำว่า “พิจารณา” อยู่ตรงไหนของเล่ม แล้วมันก็เป็นการสอนธรรมจริง ๆ…”
สอดรับกับอาจารย์โจ๊กที่มองว่าจุดเด่นอีกแง่ของนวนิยายเล่มนี้ คือ นักเขียนมีความคำนึงถึงคนอ่านที่เป็นเด็กและเยาวชนเสมอ เช่น ในส่วนของคำสวด หรือศีลห้าต่าง ๆ ก็จะมีคำอธิบาย และคำแปลให้
ทราบผ่านบทบาทของตัวหลวงตาจิ๋วควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถ “เข้าถึง” ธรรมะได้โดยง่าย
ตุ๊กแกและประสบการณ์สอนใจ
ปฏิเสธไม่ได้ว่างานเขียนกับผู้เขียนแทบเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หลากเรื่องราวในงานเขียนล้วนอิง หรือมาจากประสบการณ์ของนักเขียนแทบทั้งสิ้น ไม่เว้นเช่นเดียวกันในงานชิ้นล่าสุดนี้ของคุณชมัยภร ซึ่งหยิบเอาเรื่องราวจากความทรงจำในวัยเยาว์มาเขียน ทั้งปมปัญหากับมารดา การเติบโตมาในบ้านสวนที่จังหวัดจันทบุรี พบเจอประสบการณ์ทั้งการถูกสุนัขกัดและการเผชิญกับตุ๊กแก สัตว์เลื้อยคลานที่ใครหลายคนเป็นต้องร้องกรี๊ดเมื่อพบเจอ แม้เพียงแค่ได้ยินเสียง “อั๊บแอ่ ๆๆ”
ในส่วนนี้ อาจารย์โจ๊กได้บอกเล่าในฐานะผู้อ่านอีกเช่นเดิมว่า จังหวะที่ผู้เขียนทำให้ผู้อ่านรู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของคนอ่านเหมือนกัน
“…ถ้ามีประสบการณ์หรือภูมิหลัง มันก็ยิ่งสะกิดให้เรารู้สึก อย่างตอนที่เจ้าป๋องไปอยู่วัดคืนแรก ป้าแม่ครัวก็เอามุ้งเอาอะไรมาให้ เจ้าป๋องไม่รู้จักมุ้งเพราะเป็นเด็กในเมืองก็เลยเอามาห่ม หลวงตามาเห็นเข้าก็มากางมุ้งให้ เราเองมีประสบการณ์ส่วนตัวเพราะเป็นคนต่างจังหวัด มีจังหวะคล้าย ๆ กันที่นอนโดยไม่กางมุ้ง แม่ก็มากางให้ มันมีความผูกพัน ความรัก หลวงตาที่เจอกับป๋องครั้งแรก ก็มีความเอ็นดู ความรักเหมือนกัน นั่นคือตอนที่หนึ่ง หรือตอนที่เจอตุ๊กแก…”
ขณะที่คุณแนนมองว่า “เสน่ห์” ของนวนิยายเล่มนี้ มีแทบจะทุกหน้า ทุกตอน เป็นเสน่ห์ที่ไปสะกิดทุกความทรงจำให้หวนกลับมาขณะที่เปิดผ่านไปแต่ละหน้า
“…คือมันเป็นเรื่องที่ทุกคนเคยเจอ เช่นการโดนหมากัด โดยการเปิดแผล ไม่งั้นเราจะจุกแผล เอารองเท้าตบแผล ตบให้เลือดออก เลือดมันจะได้ไม่คั่ง หรืออย่างเรื่องตุ๊กแก เด็กทุกคนจะกลัว บ้านนอกตุ๊กแกมันมีเป็นสิบ แม่เห็นว่าลูก ๆ กลัว เช้าวันต่อมาเราก็เห็นตุ๊กแกผูกคอตายใต้ต้นมะยม แม่บอกว่าไม่ต้องไปกลัวแล้ว เห็นไหมมันผูกคอตาย…”
นอกเหนือจากบรรยากาศของเรื่องที่ชวนให้หวนคืนสู่ความทรงจำในวัยเยาว์แล้ว อีกสิ่งที่น่าสนใจในนวนิยายเล่มนี้ คือ เรื่องของปัญหาของผู้ใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก เช่น ในตอนที่ป๋องบอกว่า “แม่ก็ไม่รัก” ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่คุณแนบเคยประสบมาโดยตรงจากการได้รับรู้ว่ามีเด็กที่ถูกพ่อแม่พูดใส่ว่าไม่ได้รัก ในส่วนนี้ คุณชมัยภรก็ยอมรับว่าเป็นความตั้งใจที่จะสอดแทรกความสัมพันธ์ของผู้ใหญ่ที่ในที่สุดแล้วย่อมไปกระทบกับโลกของเด็ก
“…คือจริง ๆ แล้วทุกครอบครัวมีปัญหาหมด เราต้องโยงกลับไปที่ สุภาพบุรุษสุดลำบากที่มีปัญหาอยู่หลังบ้าน ซึ่งเขาตีลูกเขาทุกวันจนเราเขียนได้เล่มหนึ่ง ปัญหาของเขาก็คือว่า เด็กไม่ใช่ลูกจริง เป็นลูกเลี้ยง ก็ฝังใจเรา ตอนเด็ก ๆ เวลาโกรธพ่อแม่ก็จะไปเขียนว่าเขาเก็บเรามาจากข้างถนน มันฝังใจมาแต่เล็ก เวลาเขียนเรื่องสายสัมพันธ์ในครอบครัวอะไรต่าง ๆ มันเป็นเรื่องลึกซึ้ง ในเรื่องนี้ แม่ป่วย ซึ่งสามารถทำโรคนั้นไปติดลูกได้ เลยต้องให้ลูกห่างที่สุด ซึ่งปัญหามันมีหลายชั้น แต่ก็ไม่ได้บอกรายละเอียด แต่เนื่องจากเราเขียนเรื่องเด็ก ระหว่างเด็กกับพระ เราคงไม่สามารถไปเล่าเรื่องผู้หญิงคนนั้นอย่างละเอียดได้…”
โลกยังมีหวัง หากเรามีธรรม
ทั้งที่มาที่ไปของนิยาย ทั้งที่มาที่ไปของตัวละครเด่น ทั้งเนื้อหาในภาพรวมที่อยากให้คนอ่านเป็นผู้สัมผัสเองผ่านการอ่านที่เรียกได้ว่า เป็นธรรมะที่ย่อยง่าย และเข้าถึงทุกคน ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่แล้ว คุณชมัยภรยังให้แง่คิดถึงความหวังท่ามกลางโลกปัจจุบันที่โหดร้าย ด้วยหัวใจที่มีธรรมเอาไว้ในแง่ที่ว่า เราทุกคนควรมี “สติ” ในทุก ๆ ย่างก้าวของชีวิต
“…ทำให้คำว่าสติมันติดมาอยู่กับเรา สิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ คือเรื่องความกลัว ไม่มีตัวไหนรุนแรงเท่าความกลัว มันเขย่าหัวใจจริง ๆ เวลาเรากลัว ครั้งหนึ่งดิฉันไปเดินจงกลมอยู่ที่วัดทางสระบุรี ไปกับคุณหมออมรา ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ความกลัวมันจับที่หัวใจแล้วเราเดินไม่ได้ เรามาบอกคุณหมอที่หลังว่าความกลัวนี่มันน่ากลัวจริง ๆ เรามาบอกคุณหมอทีหลัง คุณหมอก็บอกว่าทำไมไม่บอก เวลามันกลัว มันมองไปทางไหนมันกลัวหมดเลยนะ เพราะว่าวันนั้นเราไม่ได้ดูสถานที่ก่อน เราไม่รู้จักดีเราเลยไม่มีสติ ไอ้ความกลัวก็เลยเป็นประเด็นมาเขียนให้ป๋อง เพื่อสอนตัวเอง จริง ๆ แล้วก็ไม่เคยไปเที่ยวสอนใครเลยนะ ก็เขียนสอนตัวเอง เขียนเกี่ยวกับความกลัวเพื่อพาป๋องออกจากความกลัว ก็คือพาป๋องออกจากความกลัวนั่นแหละ แล้วเรื่องตุ๊กแกมีจริง เรามีประสบการณ์มาตลอด พระอาจารย์จิ๋วเล่าให้ฟังว่า เด็กมาอยู่กับพระอาจารย์ที่วัดแล้วกลัวตุ๊กแกมาก พระอาจารย์ก็เลยให้เลี้ยงตุ๊กแก เราก็เลยเอามาเขียน โดยจินตนาการวิธีการเลี้ยงเอาเอง พระอาจารย์ก็บอกว่า หลังจากที่เด็กเริ่มไม่กลัวตุ๊กแก พ่อก็มารับกลับบ้าน พ่อเห็นตุ๊กแก พ่อก็กลัวมาก เราก็รู้ทันทีเลยว่าทำไมเด็กมันกลัวตุ๊กแก เพราะมันกลัวตามพ่อ เราก็เลยเอาเรื่องนี้มาใส่ให้เจ้าป๋อง แล้วอีกคนที่ป๋องกลัว คือ พ่อเลี้ยง ซึ่งเขาไม่ได้ร้ายนะแต่มีความบกพร่องบางอย่างอยู่ข้างใน มาปฏิบัติธรรมให้ตัวเองดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ใครปฏิบัติแล้วจะกลายเป็นคนดีในฉับพลัน…”
ขณะที่อาจารย์โจ๊กกล่าวโดยยกฉากเจ้าป๋องเดินตามพระไว้ว่า “…เรื่องเดินตามพระมันก็ทำให้เรามีสติ เรื่องสตินี่ก็สอนหลายครั้งมาก การกวาดลานวัดเหมือนกัน กวาดให้รู้ว่ากวาด ไม่ได้กวาดให้มันเสร็จ ก็เป็นคำพูดที่โดนใจ หรือตอนโดนหมากัด มันก็เป็นเรื่องของกรรม หรือการกระทำ เพราะเจ้าป๋องทำไม้ไป
โดนหัวหมา หมาเลยมองว่าเป็นอริ เพราะเราไปทำมันก่อน การโดนมันกัดก็เป็นกรรมแบบหนึ่ง มันทำให้เรารู้สึกว่า เรื่องนี้ทำให้เรากล้าเผชิญหน้ากับความกลัวของตัวเราเอง ถ้าเราเอามาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน อาจจะมีคนที่เราไม่ชอบขี้หน้า ชิงชัง แต่เราต้องอยู่กับเขา เพราะฉะนั้นเราต้องเผชิญหน้า…”
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ผู้อ่านอาจรู้สึกว่าเรื่องราวที่ถูกนำมาเรียบเรียงจากบรรยากาศงานเปิดตัวหนังสือ “หลวงตาจิ๋วกับเจ้าป๋อง” ซึ่งจัดขึ้น ณ ร้านหนังสือบุ๊คโมบี้ ชั้น 4 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อเย็นย่ำวันเสาร์ที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา ยังไม่อิ่มเอมเทียมเท่าการได้อ่านจากนวนิยายทั้งเล่ม เปรียบไปแล้วก็เหมือนคำกล่าวที่คุณชมัยภรได้พูดไว้ว่า “…ใครปฏิบัติแล้วจะกลายเป็นคนดีในฉับพลัน…”
การได้อ่านเรื่องราวอันสนุกสนานแฝงคติธรรมในนวนิยายเล่มนี้ จึงไม่ใช่หลักปฏิบัติธรรมที่เมื่อปิดหนังสือลงแล้วทุกปัญหาจะคลี่คลายลงในทันที ความทุกข์จะปลาสนาการไปโดยฉับพลัน แต่หากคุณค่าของหนังสือเล่มหนึ่งที่ควรมีและควรเป็น คือ การชี้ให้เห็นว่าทุก ๆ รอยทางของชีวิตล้วนต้องเหยียบก้อนกรวดกันคนละไม่มากก็น้อย ผ่านความเจ็บช้ำ เจ็บปวดในทุก ๆ ก้าวไม่มากก็น้อย เพื่อจะเข้าใจซึ่งสัจธรรม
“หลวงตาจิ๋วกับเจ้าป๋อง” ก็เป็นหนังสือเล่มนั้น หนังสือที่ถูกเขียนขึ้นไม่ใช่เพื่อสอน “ใคร” แต่เพื่อสอน “ใจ” เราเอง
“สร้างธรรมในใจด้วยการอ่าน”
ติดตามไลฟ์ได้ที่เฟซบุ๊กเพจคมบาง