คนกับหนังสือ : วีโทลด์ กอมโบรวีช กับ เฟอร์ดีเดอร์ก : ความไร้วุฒิภาวะของมนุษย์  // ปรีดา อัครจันทโชติ

     เมื่อเอ่ยถึงงานวรรณกรรมที่สะท้อนแนวคิดปรัชญาอัตถิภาวะนิยม หรือ Existentialism ชื่อของ วีโทลด์ กอมโบรวีช (Witold Gombrowicz) นักเขียนพลัดถิ่นชาวโปแลนด์ อาจไม่เป็นที่คุ้นหูนักอ่านบ้านเรานัก ชื่อแรกๆ ที่เรานึกถึงมักเป็น ฌอง ปอล ซาร์ตร์ อัลแบร์ กามูส์ หรือไม่ก็ ซามูเอล เบกเกตต์

     กอมโบรวีชเคยได้รับรางวัล International Prize for Literature ในปี ค.ศ. ๑๙๖๗ จากนวนิยายเรื่อง Cosmos ซึ่งว่ากันว่าเป็นผลงานประพันธ์ที่ดีที่สุดของเขา และเขาเป็นหนึ่งในตัวเก็งที่จะได้รับรางวัลโนเบลปีถัดมา (แต่ในที่สุดก็เป็น ยาสึนาริ คาวาบาตะ แห่งญี่ปุ่นได้รับไป) นอกเหนือจากเรื่องสั้นและนวนิยายแล้ว เขายังมีผลงานบทละครและบันทึกอีกส่วนหนึ่ง งานของเขามัก “เล่น” กับความเหลวไหลไร้สาระ และความไร้วุฒิภาวะของมนุษย์ งานหลายชิ้นโจมตีขนบทางสังคมอย่างเปิดเผย ผสมรวมกับการเสียดสีศาสนา มีเนื้อหารักร่วมเพศ และกล่าวถึงการต่อสู้ทางชนชั้น อันสะท้อนบริบททางสังคมของโปแลนด์ในยุคนั้นโดยใช้อารมณ์ขันผ่านสัญญะต่างๆ

     ผลงานของกอมโบรวีชเป็นงานเขียนยุคแรกเริ่มของแนวอัตถิภาวะนิยม ก่อนจะพัฒนาไปสู่แนวคิดโพสต์โมเดิร์น (Postmodernism) และการรื้อสร้าง (Deconstruction) ในเวลาต่อมา

     วีโทลด์ กอมโบรวีช เกิดเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๐๔ ในโปแลนด์ เขาเกิดมาในครอบครัวเจ้าของที่ดินผู้มั่งคั่ง เริ่มต้นศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัยที่กรุงวอร์ซอ จากนั้นจึงไปศึกษาปรัชญาและเศรษฐศาสตร์ที่กรุงปารีส แต่ด้วยความที่ไม่สนใจการเรียน จนกระทั่งถูกบิดาตัดเงินค่าใช้จ่าย เขาจึงต้องกลับมาฝึกหัดเป็นทนายความในกรุงวอร์ซออย่างเสียไม่ได้ ที่นี่เองที่เขาได้เริ่มเขียนเรื่องสั้นจนมากพอจะตีพิมพ์เป็น Memoirs of a Time of Immaturity (๑๙๓๓) แต่ผลที่ได้รับก็คือถูกสับเละจากพวกนักวิจารณ์

     สองปีหลังจากนั้น กอมโบรวีชตัดสินใจเลิกอาชีพทนายความ หันมาอุทิศตัวให้งานเขียนอย่างเดียว จนถึงปี ๑๙๓๗ นวนิยายเรื่องแรกของเขา Ferdydurke (เฟอร์ดีเดอร์ก) ก็ได้รับการตีพิมพ์ คราวนี้ผลตอบรับจากบรรดานักอ่านและนักวิจารณ์เป็นไปในทางที่ดี มีผู้กล่าวว่านิยายเรื่องนี้คือตัวแทนแนวคิดปรัชญาของนีทเชซึ่งเฟื่องฟูขึ้นมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๑๙

     หลังจากนั้นเขาเดินทางไปอาร์เจนตินา กระทั่งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ อุบัติขึ้น โปแลนด์เป็นหนึ่งในสมรภูมิรบของพวกนาซีเยอรมัน กอมโบรวีชจึงตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ที่อาร์เจนตินา (รวมถึงย้ายไปอยู่ประเทศอื่นๆ ช่วงเวลาสั้นๆ ในภายหลัง) โดยไม่เคยกลับสู่แผ่นดินแม่อีกเลยตราบจนสิ้นลมหายใจในปี ๑๙๖๙ ที่ประเทศฝรั่งเศส

     ด้วยคำสั่งของนาซี Ferdydurke กลายเป็นงานต้องห้ามในโปแลนด์ ก่อนที่มันจะถูกแปลเป็นภาษาสเปนในปี ๑๙๔๗ (ภาษาสเปนใช้กันทั่วไปในประเทศละตินอเมริกายกเว้นบราซิล และเป็นที่แพร่หลายในภาคพื้นยุโรปมากกว่าภาษาโปแลนด์) แม้เมื่อนาซีเยอรมันถูกล้มไป และอำนาจการเมืองในโปแลนด์ถูกผ่องถ่ายมาสู่พวกคอมมิวนิสต์ งานชิ้นนี้ก็ยังคงถูกแบนอยู่ดี
     แม้นี่จะไม่ใช่ผลงานที่ดีที่สุดของกอมโบรวีช แต่ก็มีผู้กล่าวว่านี่คือ “นวนิยายที่ถูกมองข้ามที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ ๒๐“

     Ferdydurke เปิดเรื่องด้วยชายหนุ่มวัย ๓๐ ชื่อ จอห์นนี โควัลสกี ตื่นขึ้นมาพบว่าตัวเองกลายเป็นเด็กหนุ่มอายุ ๑๖ ที่แสนน่ารังเกียจ (เป็นลักษณะเดียวกับที่ เกรกอร์ ซามซา ในเรื่อง Metamorphosis ของ ฟรานซ์ คาฟคา ตื่นขึ้นมาพบว่าตัวเองกลายเป็นแมลงยักษ์)

     โครงสร้างของเรื่องนี้ (หากเราเชื่อว่ามันมีอยู่) แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องชีวิตในโรงเรียนของจอห์นนีซึ่งถูกศาสตราจารย์พิมโกพาไปฝึกให้เขาเป็นเด็กหนุ่มผู้แสนบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ส่วนที่ ๒ คือเหตุการณ์ที่ศาสตราจารย์พาเขาไปอยู่กับครอบครัวยูธฟุล เพื่อให้เขามีชีวิตวัยเยาว์ที่ดี (หลังจากที่เห็นว่าการหล่อหลอมโดยโรงเรียนประสบผลสำเร็จไประดับหนึ่งแล้ว) ขณะที่ส่วนที่ ๓ คือการเดินทางของจอห์นนี โดยระหว่างแต่ละส่วนมีบทแทรกซึ่งเนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกับโครงเรื่องหลัก แต่เป็นเวทีที่ผู้เขียนใช้เหน็บแนมความดัดจริตของศิลปะและศักดินา

     กอมโบรวีชนั้นไม่ใส่ใจกับขนบทางวัฒนธรรม หรือแม้แต่ความสำเร็จของบรรพชน จะเรียกว่าเขาปฏิเสธอดีตก็พอได้ นอกจากนี้เขายังไม่ศรัทธาในงานศิลปะ กาพย์กลอน หรือแม้แต่นวนิยาย (ถึงแม้ว่าเขาจะยกย่องดอสโตเยฟสกีและนีทเชก็ตาม) ในเรื่อง Ferdydurke นี้ เขาแสดงความขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงกับฝ่ายขบถทางความคิดและฝ่ายอนุรักษนิยม เขาเสียดสีความคิดแบบธรรมเนียมนิยมโดยให้ตัวละครอาจารย์ใหญ่กล่าวถึงคณะอาจารย์ในโรงเรียนว่า “พวกเขาจะไม่สอนอะไรที่ตัวเองไม่เคยถูกสอนมาก่อน” (หน้า ๕๑)

 
      นอกจากนี้กอมโบรวีชยังสร้างตัวละคร “คุณน้าทางวัฒนธรรม” หรือที่เรียกอีกอย่างว่าเป็น “ผู้พิทักษ์แห่งคุณค่าทางวัฒนธรรม” ขึ้นมาเพื่อเสียดเย้ยความพยายามที่จะจัดการกับวัฒนธรรม ยกย่องวัฒนธรรมบางอย่างซึ่งพวกเขาเห็นว่าดีอย่างไม่ลืมหูลืมตา ดูแคลนวัฒนธรรมบางอย่างซึ่งพวกเขาเห็นว่าไร้สาระ

     “คุณน้าทางวัฒนธรรม” อาจชวนให้เรานึกถึงกระทรวงวัฒนธรรมในบ้านเรา หรือ “ใครบางคน” ที่มักออกมาวิพากษ์วิจารณ์ดารานักแสดงว่าประพฤติตัวขัดต่อวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาติ ทั้งที่ “วัฒนธรรมอันดีงาม” หรือ “วัฒนธรรมชั้นสูง” ก็เกิดขึ้นได้เพราะมนุษย์ให้คุณค่าแก่มัน
 
     “ท่าน-เป็น-กวี-ที่ยิ่งใหญ่ อย่าลืมสิว่า ท่านเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ ทำไมเราจึงรู้สึกในความรัก ความชมชื่น ความปลื้มปรีดา ก็เพราะว่า ท่าน-เป็น-กวี-ที่ยิ่งใหญ่ กวีที่ยิ่งใหญ่ พวกเธอผู้เบาปัญญาหัวขี้เลื่อยทั้งหลาย จงนำสิ่งนี้ฝังไว้ให้แน่นในหัวของเธอ แล้วพูดตามฉัน : ยูเลียส สโลวัสกี เป็นกวีที่ยิ่งใหญ่…” (หน้า ๕๕)

     ในเรื่องมีตัวละครพูดภาษาละตินบ่อยครั้ง และในโรงเรียนก็มีการเรียนวิชาภาษาละติน (ซึ่งเป็นรากฐานของการศึกษาวรรณคดีตะวันตก) ทั้งที่ภาษาละตินตายไปแล้ว ดังนั้นภาษาละตินในเรื่องที่ปรากฏเป็นระยะๆ จึงมีค่าเสมอเป็นการเสแสร้งลวงหลอกให้คิดว่ามันยังมีอยู่จริง โดยนัยเดียวกับที่นีทเชบอกว่า “พระเจ้าตายแล้ว” สิ่งที่ผู้คนนับถือกันอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นการเสแสร้งตอแหลทั้งสิ้น

     “ถ้าเธอวิจักขณ์ภาษาลาตินไม่ได้ อย่างที่เธอน่าจะทำได้แล้วละก้อ ข้อสรุปที่เป็นไปได้ประการเดียวก็คือ เธอมันไม่ฉลาดพอ มันต้องใช้ปัญญาฉลาดทั้งหมดเลยจากคนธรรมดาๆ ในอันจะวิจักขณ์ประโยชน์อันพรั่งพรูออกมาจากมัน…” (หน้า ๗๕)
     ในโลกของ Ferdydurke ความไร้วุฒิภาวะเป็นเรื่องน่าสะอิดสะเอียนสำหรับผู้ใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ (หรือผู้มีอำนาจ) ต้องการให้เยาวชน (หรือประชาชนผู้ไร้อำนาจ) เป็น จอห์นนีพยายามที่จะแข็งขืนไม่ยอมรับว่าตนคือเด็กหนุ่มอายุ ๑๖ ถึงแม้ว่าความพยายามของเขาดูจะไร้ผล แต่อย่างน้อยเขาก็เป็นตัวละครตัวเดียวที่ตระหนักว่าตนเองเป็นผู้ใหญ่

     กอมโบรวีชเสียดเย้ยเด็กวัยรุ่นที่ถูกทำให้ “เป็นอะไรสักอย่าง” ที่ไร้วุฒิภาวะ ไม่ขัดขืนและสร้างปัญหาให้พวกผู้ใหญ่ อย่างในกรณีของไซฟอนที่เป็นเด็กดีตามแบบที่ผู้ใหญ่ต้องการให้เป็น (แปลอีกอย่างก็คือการถูกกระบวนการขัดเกลาทางสังคมให้สยบยอมต่อผู้ใหญ่และขนบ) ขณะเดียวกันเขาก็เสียดสีความเป็น “บรมครู” การวางมาดเป็นพวกนักวิชาการผู้มีอำนาจในทางความคิดเหนือกว่าผู้อื่น
     กอมโบรวีชสนับสนุนวัยเยาว์และความไร้วุฒิภาวะ แต่เป็นความไร้วุฒิภาวะแบบที่เป็นตามธรรมชาติ (หรือเรียกอีกอย่างว่า “ไร้เดียงสา”) มิใช่ความไร้วุฒิภาวะแบบที่ผู้ใหญ่พยายามยัดเยียดหรือล้างสมองเด็ก

     ฉากหนึ่งที่กอมโบรวีชเขียนได้อย่างถึงแก่นก็คือฉากการประลองตีสีหน้ากันระหว่างไซฟอนกับเมียนทัส แน่นอนว่าไซฟอนซึ่งกลายเป็นเด็กบริสุทธิ์ไร้เดียงสาจากกระบวนการของระบบโรงเรียน ทำให้เขามีชัยเหนือเมียนทัส แต่ยิ่งเขาตีหน้าได้เก่งเท่าไร เขาก็ยิ่งสูญเสียตัวตนและใบหน้าที่แท้จริงของตนเองไปมากเท่านั้น “หน้ากาก” ที่เขาใส่ที่สุดแล้วก็คือความจอมปลอม และมันกลายเป็นใบหน้าถาวรของเขาไปตลอด
     ขณะที่ “ก้น” นั้นแตกต่างจากใบหน้าตรงที่มันไม่ได้โผล่ออกมาอย่างเปล่าเปลือย การมีกางเกงหรือกระโปรงห่อหุ้มทำให้มันไม่อาจเปลี่ยนแปลง หรือใช้ในการหลอกลวงผู้อื่นได้อย่างที่ใบหน้าของมนุษย์วิวัฒนาการไปได้ หลายครั้งที่กอมโบรวีชเขียนถึง “ก้นเด็ก” และ “การเอาก้นมาใส่ให้” โดยมีนัยถึงความน่าเอ็นดู แต่ขณะเดียวกันก็ไร้พลังขัดขืน เป็นภาวะจำยอมต่อการถูกบีบคั้น


     เมื่อจอห์นนีถูกส่งไปอยู่กับครอบครัวยูธฟุล (อันแปลว่าวัยเยาว์) เขาต้องเผชิญกับการต่อสู้ทางชนชั้น และท่าทีแบบ “ขุนนางๆ” นางยูธฟุลอาจจะเปิดใจกว้างกับวัยเยาว์ และรังเกียจการที่เยาวชนเสแสร้งจอมปลอม รวมถึงการวางท่าเป็นผู้ใหญ่เกินวัย เธอสนับสนุนให้เด็กๆ มีอิสรภาพ และเป็นธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตามบุคลิกแบบขุนนางของครอบครัวก็ทำให้เธอปฏิบัติต่อผู้อื่นแบบมองจากบนลงล่าง (ดูได้จากการที่เธอดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการปราบเยาวชนเร่ร่อน)
     นอกจากสะท้อนแนวคิดของนีทเชแล้ว Ferdydurke ยังแฝงด้วยปรัชญาของรุสโซ ในส่วนที่ ๓ อันเป็นเรื่องราวการเดินทางของจอห์นนีและเมียนทัสเพื่อแสวงหา “ความเขียว” และ “เด็กคอกม้า” อันหมายถึงการหวนคืนสู่ธรรมชาติ เพราะธรรมชาติคือความดีงาม เมียนทัสซึ่งเป็นขบถต่อสังคมและไม่ยี่หระต่อธรรมเนียมใดๆ เปลี่ยนไปเป็นคนละคนเมื่อได้สัมผัสกับ “เด็กคอกม้า” และต้องการทำ “ภรดาภาพ” (“ภราดรภาพ” ตามการสะกดแบบพจนานุกรม) กับเขา
 
     การเล่นกับความเหลวไหล (absurdity) ของเหตุการณ์ เอื้อให้กอมโบรวีชสร้างเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องปะติดปะต่อหรือเป็นเหตุเป็นผล การต่อต้านขนบทางวัฒนธรรมของกอมโบรวีชยังรวมถึง “ขนบทางการประพันธ์” อีกด้วย ดังนั้นแล้วการอ่านวรรณกรรมเล่มนี้จึงอาจเป็นเรื่องทำใจได้ยากสำหรับผู้คุ้นเคยกับนวนิยายทั่วไป
     พฤติกรรมพิลึกพิลั่นอย่าง “การเอาก้นไปใส่ให้ใคร” “การตีหน้า” “การละเมิดรูหู” หรือแม้แต่ “การทำภรดาภาพ” จึงเป็นพฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์ซึ่งอาจตีความได้ต่างๆ นานา (สองพฤติกรรมหลังอาจชวนให้นึกถึงการล่วงละเมิดทางเพศ และกิจกรรมทางเพศตามลำดับ) เช่นเดียวกับที่ตัวละครต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “ศาสตราจารย์พิมโก” “เมียนทัส” “คุณน้าทางวัฒนธรรม” “เด็กคอกม้า” และ “เด็กสาวสมัยใหม่” ก็อาจตีความได้ถึงบุคคลประเภทต่างๆ ในสังคม ไม่เพียงแต่ในโปแลนด์เท่านั้น หากยังพบได้แม้แต่ในเมืองไทย

     ที่สุดแล้วการพยายามตีความ Ferdydurke อาจเป็นความคิดที่ผิด ดังที่นีทเชเคยกล่าวไว้ว่า ในการรับรู้ (perception) นั้น เราไม่เห็นสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง (fact) ก็เพราะเรามัวแต่ตีความ (interpret) การแสดงความคิดเห็นหรืออ้างเหตุผลใดๆ เกี่ยวกับนวนิยายเล่มนี้อาจไม่ใช่เรื่องเข้าท่านัก บางทีสิ่งที่เราควรทำก็คือทำตามคำแนะนำของผู้เขียนที่กล่าวไว้ในคำนำฉบับแปลเป็นภาษาสเปนว่า
     “…ดังนั้น ผมขอให้คุณเงียบไว้ดีกว่า เงียบไว้ด้วยหวังสิ่งที่ดีกว่าในอนาคต ระหว่างนี้ ถ้าคุณอยากให้ผมรู้ว่าหนังสือเล่มนี้มันทำให้คุณพอใจ เวลาเจอผมคุณก็แค่จับหูข้างขวา และถ้าคุณจับข้างซ้าย ผมก็จะรู้ว่าคุณไม่ชอบ ถ้าคุณจับจมูกก็หมายถึง-ไม่แน่ใจ…แบบนี้แหละ เราก็จะเลี่ยงสถานการณ์ที่มันชวนให้ไม่สบายใจ หรือแม้แต่น่าทุเรศทุรัง และเข้าใจซึ่งกันและกันได้…”

     หมายเหตุ : ข้อความในหนังสือที่ยกมาประกอบบทความทั้งหมด อ้างจาก เฟอร์ดีเดอร์ก แปลโดย ดลสิทธิ์ บางคมบาง จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ชมนาด


 


ที่มา นิตยสารสารคดี


ฉบับที่ 249 > พฤศจิกายน 48 ปีที่ 21


http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=428