คุณปู่แว่นตาแตก เรื่องของคุณปู่แว่นตาโต ที่แว่นตามาแตกเอาภาคนี้ คุณปู่เรียนรู้ว่า บางอย่างหลานก็ต้องสอนปู่ นี่จึงเป็นภาคแสนสนุก เมื่อคุณหลานกับคุณปู่ต่างเป็นครูให้แก่กัน


เคยตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย


 


หนา 248 หน้า


ราคาปก 200 บาท


มีขายในงานหนังสือครั้งนี้แน่นอน พบกันที่ M 38 โซนซี 1 ชั้นล่าง วันที่ 25 มีนาคม – 6 เมษายน 2554 ณ ศูนย์สิริกิติ์


อ่านคำนำจากผู้เขียน และคำนำสำนักพิมพ์กันก่อนค่ะ


(จากผู้เขียน)


คุณปู่แว่นตาแตก  นักเขียนก็แว่นตาแตก



 ตามปกติฉันตั้งปณิธานไว้เลยว่า จะไม่เขียนเรื่องอะไรที่ต่อจากเรื่องที่จบไปแล้วเป็นอันขาด เพราะคิดว่า การทำเช่นนั้น จะไม่สามารถส่งพลังออกไปได้เท่าเรื่องที่ตั้งต้นได้เลย   ดังนั้น  เมื่อเขียนคุณปู่แว่นตาโต จบลง  ฉันก็ไม่เคยคิดว่าจะมี ‘คุณปู่แว่นตาโต’ (ภาคสอง) เลย  สาบานได้ !



 แต่เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า โครงการวิจัยการวิจารณ์ของอาจารย์เจตนา นาควัชระนั้น  ไม่เคยปิดลงไปอย่างสมบูรณ์แบบสักที อาจารย์มักจะมีภาคสอง ภาคสาม ภาคสี่ ภาคห้า ฯลฯ โดยมีคนใหม่ๆ เข้ามาเป็นหัวหน้าโครงการ และมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษาอยู่อย่างนั้น  และโครงการก็ดำเนินไปอย่างเรียบร้อยดี มีความต่อเนื่อง และได้เนื้อได้หนังเป็นชิ้นเป็นอัน



 ฉันก็มักไปช่วยงานอยู่เป็นครั้งเป็นคราว  และเมื่อมาดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยต่อเนื่องอยู่ ๔ ปี ฉันก็ขอทำงานร่วมกับโครงการวิจัยการวิจารณ์ภาคต่างๆ ของอาจารย์อยู่เสมอ  และในระหว่างทำงานใครต่อใครมักพูดว่า พี่ๆ เมื่อไหร่จะเขียน ‘คุณปู่แว่นตาโต’ อีก เราก็จะพูดหยอกล้อกันว่า คุณปู่แว่นตาแตกไปแล้ว  แต่ที่ล้อกันอย่างนั้น  ฉันก็ยังไม่คิดจะเขียน



 จนกระทั่ง คุณปู่เกิดความเครียดในหัวขึ้นมาเพราะความเปลี่ยนแปลงไปของบ้านเมืองและสิ่งรายรอบ  มองอะไรไม่ถนัดถนี่  จับไม่ได้ไล่ไม่ทันราวกับว่าแว่นตาได้แตกไปแล้วจริงๆ   ฉันก็เลยเกิดแรงบันดาลใจอยากเขียนขึ้นมา  แบบเมาหมัดและเมามันไปพร้อมกัน  และในวาระเดียวกันนั้น  คุณปู่ตัวจริงคือศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ ก็อายุ ๗๒ ปีพอดี  และท่าทางจะยังไม่เลิกทำงานง่าย ๆ  ฉันจึงอยากจะฉลองวาระ ๗๒ ปีให้ท่านด้วย   จึงเขียนล้อ ‘คุณปู่แว่นตาโต’  ออกมาเป็น ‘คุณปู่แว่นตาแตก’ ให้อ่านสนุกเล่นๆ



อยากจะบอกว่า เรื่องนี้ฉันเหยียบเปลือกกล้วยหอมลื่นปรื๊ดเข้ามาเขียน  ถึงขนาดแว่นตาแตกกระเด็นเลยค่ะ



      ชมัยภร  แสงกระจ่าง
      ๑ มีนาคม ๒๕๕๔ 


 


คำนำสำนักพิมพ์
คุณปู่แว่นตาแตก


นักอ่านคงประทับใจและสนุกสนานกันมาแล้วกับเรื่อง ‘คุณปู่แว่นตาโต’ ของ ชมัยภร แสงกระจ่าง เรื่องราวของคุณปู่นักวิชาการที่เริ่มต้นชีวิตหลังเกษียณอายุราชการด้วยการสอนเด็กๆ วัยอนุบาลและประถมที่อยู่แถวบ้าน ให้เรียนรู้ศิลปะ  ที่สำคัญ คุณปู่ เป็นตัวละครที่มาจากตัวจริง- ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. เจตนา นาควัชระ  เมธีวิจัยอาวุโส (สาขาวรรณคดี ปี ๒๕๓๘)  นักวิชาการคนสำคัญของวงการวิชาการด้านวรรณกรรมของประเทศไทย



‘คุณปู่แว่นตาโต’ ได้รับรางวัลดีเด่น ในการประกวดหนังสือดีเด่นประจำปี 2544 (ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ) ของกระทรวงศึกษาธิการ  และได้รับเลือกให้แปลเป็นภาษาจีน



 ๑๐ ปี ผ่านไป ‘คุณปู่แว่นตาแตก’ เล่มนี้ก็ปรากฏสู่สายตานักอ่าน



 ‘คุณปู่แว่นตาแตก’ แม้จะเป็นภาคสอง ของ ‘คุณปู่แว่นตาโต’ แต่มีตัวละครเดิมเพียงแค่คุณปู่และคุณย่านิจเท่านั้น ส่วนนักเรียนวัยเด็กรุ่นนี้เป็นเด็กนักเรียนประถมที่อยู่ในวัยกำลังเรียนรู้  ที่สำคัญคือสารของคุณปู่ที่ส่งผ่านมายังเด็กรุ่นใหม่ ครั้งนี้เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนความ ‘ต่าง’ ของกันและกัน เพื่อยอมรับในความแตกต่าง ความเก่า-ใหม่ ความเชื่อ และสังคมที่แตกต่าง  การแลกเปลี่ยนความเห็นโดยยอมรับในความต่าง นับเป็นการวิจารณ์ที่สร้างสรรค์ อันจะนำไปสู่สังคมที่ก้าวหน้าและพัฒนา



 คุณปู่ ของหลานๆ (และของนักอ่าน) ในครั้งนี้ อาจจะดูเหนื่อยกับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เหนื่อยและท้อเสียจนแว่นตาแตก  แต่ทว่าสิ่งอันเป็นความหวังและเป็นพลังให้แก่คุณปู่อย่างยิ่งยวดก็คือ เด็กๆ  –คนรุ่นใหม่ยังคงเป็นความหวังของประเทศนี้



 คุณปู่บอกกับพวกเราว่า เราต้องมีหวัง และต้องร่วมมือกันสร้างหนทางแห่งความหวังให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
 ‘คุณปู่แว่นตาแตก’ เป็นวรรณกรรมเล่มที่อ่านได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่  และไม่จำเป็นต้องเคยอ่าน ‘คุณปู่แว่นตาโต’ มาก่อน ก็อ่านได้สนุกไม่แพ้กัน



 สำนักพิมพ์คมบาง หวังว่า เมื่อได้อ่าน ‘คุณปู่แว่นตาแตก’ แล้ว นักอ่านทุกท่านคงรื่นรมย์ และมีความหวังกับประเทศนี้ขึ้นมาบ้าง อย่างน้อยก็มีความหวังกับการสร้างนักอ่านที่ดีๆ รุ่นต่อไป ด้วยการนำหนังสือเล่มนี้ไปเผยแพร่ต่อๆ กัน ด้วยหัวใจมีความสุข
 ขอให้มีความสุขในการอ่าน


สำนักพิมพ์คมบาง