ประวัติโดยสังเขป
นายวัฒน์ วรรลยางกูร
นักเขียนรางวัลศรีบูรพาคนที่ 19 ประจำปี 2550
เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ที่ตำบลตะลุง อำเภอเมือง ลพบุรี เป็นบุตรคนเดียวของนายวิรัตน์ และนางบุญส่ง วรรลยางกูร แต่ยังไม่ทันโตจำความได้ บิดามารดาก็หย่าร้างกัน มารดาจึงพาไปอยู่บ้านเดิมที่จังหวัดปทุมธานี พ.ศ.๒๕๐๕ เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ ๑ ที่โรงเรียนประชาบาลวัดดาวเรือง ปทุมธานี เมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ บิดาได้ติดต่อขออุปการะจึงพากลับไปอยู่ลพบุรีอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ.๒๕๐๘ เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ ๕ อยู่กับย่าที่บ้านสวน ริมแม่น้ำลพบุรี ศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนวินิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๑๔ เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จังหวัดลพบุรี โดยไปเป็นเด็กวัดอยู่ในเมืองลพบุรี สอบตกชั้นม.ศ.๕ เพราะกำลังเริ่มสนใจการประพันธ์อย่างจริงจัง จนต้องเรียนซ้ำชั้น แต่สอบเทียบได้จึงเลิกเรียนและเข้ากรุงเทพฯ ต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๗ สมัครเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่เรียนอยู่เพียง ๒ เดือน ก็เลิกเรียน
ในด้านการประพันธ์ เนื่องจากมีโอกาสอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก เพราะใกล้ชิดคุณตาที่ชอบอ่านหนังสือมวยซึ่งมีนวนิยายด้วย ส่วนบิดาอ่านนิตยสารคุณหญิงที่มีคอลัมน์ แวดวงกวี เมื่อเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ ๗ จึงเริ่มเขียนกลอนรักให้เพื่อนนักเรียนหญิง ต่อมาได้ออกหนังสือเพื่ออ่านกันในห้องเรียน เป็นหนังสือเขียนด้วยลายมือโดยเป็นผู้เขียนบทบรรณาธิการบริหาร อีกทั้งยังได้เขียนเรื่องสั้นไปลงในหนังสือโรเนียวของโรงเรียนที่ครูมีส่วนร่วมจัดทำขึ้น ใช้นามปากกา วัฒนู บ้านทุ่ง พร้อม ๆกันนั้นได้ส่งผลงานทั้งกลอนและเรื่องสั้นไปยังนิตยสารชัยพฤกษ์ ฟ้าเมืองไทย ฯลฯ
แม้ระยะแรกไม่ได้ลงพิมพ์ แต่ก็ยังเขียนให้เพื่อน ๆอ่าน จนในที่สุด เรื่องสั้นชื่อ คนหากินได้ลงพิมพ์เป็นครั้งแรกในหนังสือ ยานเกราะ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ หลังจากส่งไปให้พิจารณาทั้งหมด ๔ เรื่อง และแม้ว่าบรรณาธิการจะแก้ไขมากมาย แต่ก็ทำให้มีกำลังใจเพิ่มขึ้น จากนั้นไม่นาน ผลงานกลอนที่ส่งไปประกวดได้ลงพิมพ์ในนิตยสาร ชัยพฤกษ์ และเรื่องสั้นชื่อ มุมหนึ่งของเมืองไทยได้ลงพิมพ์ใน เขาเริ่มต้นที่นี่ของนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย ที่มีอาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นบรรณาธิการ ขณะนั้นเป็นช่วงปิดภาคเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๒
หลังจากนั้น มีผลงานกลอนและเรื่องสั้นเผยแพร่ตามนิตยสารต่าง ๆมากขึ้น เช่น ฟ้าเมืองไทย ชาวกรุง ลลนา ฯลฯ ในนาม วัฒน์ วรรลยางกูร (ชื่อเดิม วีรวัฒน์ ต่อมาเมื่อนามปากกาเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ประกอบกับมีปัญหาเรื่องการเบิกค่าเรื่องจึงแก้ไขชื่อในบัตรประชาชน) ระหว่างที่เรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้มีโอกาสคลุกคลีกับมิตรสหายในแผนกวรรณศิลป์ ได้รู้จักกับนักเขียนนักกิจกรรมหลายคน และได้รับคำแนะนำให้ไปทำหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ จึงได้ฝึกฝนเขียนข่าว บทความ สารคดี เรื่องสั้นและนวนิยายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะได้เขียนคอลัมน์ประจำชื่อ ช่อมะกอก ใช้นามปากกา ชื่นชอบ ชายบ่าด้านซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นเรื่องชุดในชื่อ ตำบลช่อมะกอกและกลายเป็นนวนิยายเรื่อง ตำบลช่อมะกอกในที่สุด รวมทั้งมีผลงานรวมเรื่องสั้นและบทกวีพิมพ์ต่อเนื่องมาอีก ๒ เล่มคือ นกพิราบสีขาว(พ.ศ.๒๕๑๘)และ กลั่นจากสายเลือด(พ.ศ.๒๕๑๙) ทำให้ชื่อเสียงของวัฒน์ วรรลยางกูร เป็นที่รู้จักของคนหนุ่มสาวที่เติบโตทางด้านความคิดในยุคสมัยดอกไม้บานร้อยดอก ( ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖-๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ )อย่างกว้างขวาง
เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ รุนแรงมาก นักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกทำร้ายอย่างโหดเหี้ยม วัฒน์ วรรลยางกูร จึงต้องหนีภัยการเมืองเข้าไปอยู่ในป่า ในช่วงนั้นได้มีโอกาสเขียนเรื่องสั้น บทกวี และนวนิยายมากมาย และมีผลงานรวมเล่มออกมา ๓ เล่มคือ รวมเรื่องสั้นและบทกวี ๒ เล่ม คือ ข้าวแค้น (พ.ศ.๒๕๒๒) กับ น้ำผึ้งไพร(พ.ศ.๒๕๒๓) ส่วนเล่มที่ ๓ เป็นนวนิยายชื่อ ด้วยรักแห่งอุดมการณ์ (พ.ศ.๒๕๒๔)
พ.ศ.๒๕๒๔ หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง วัฒน์ได้กลับคืนสู้เหย้ามาใช้ชีวิตนักเขียน โดยเริ่มต้นที่การประจำทำงานหนังสือพิมพ์มาตุภูมิ ไฮคลาส และถนนหนังสือ หลังจากทำได้ประมาณ ๑ ปีก็ลาออกมาเป็นนักเขียนอิสระเต็มตัว เขียนนวนิยายเรื่อง คือรักและหวัง และ จิ้งหรีดกับดวงดาว ตีพิมพ์ในนิตยสารลลนา รายปักษ์ เรื่องบนเส้นลวด ตีพิมพ์ในนิตยสารสตรีสาร รายสัปดาห์ เรื่อง มนต์รักทรานซิสเตอร์ ตีพิมพ์ในบางกอก เรื่อง เทวีกองขยะ ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ เป็นต้น หลังจากตีพิมพ์ในนิตยสารแล้ว เรื่องเหล่านั้นก็ยังได้รวมเล่มอีกหลายครั้งในโอกาสต่อมา นอกจากนี้ ยังมีผลงานเรื่องสั้น สารคดี และบทสัมภาษณ์ตีพิมพ์ในนิตยสารต่าง ๆอีกมาก
เรื่องสั้นชื่อ ความฝันวันประหาร ได้รับการเลือกสรรจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ให้เป็นเรื่องสั้นดีเด่น ประจำปี ๒๕๒๕
หลังจากใช้ชีวิตนักเขียนและช่วยงานนิตยสารหลายฉบับ ได้ไปทำธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างกับภรรยาที่จังหวัดกาญจนบุรีอยู่ระยะหนึ่ง และวนเวียนกลับไปทำงานนิตยสารอีกครั้งหนึ่ง เป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Good Life เป็นต้น และเนื่องจากเคยแต่งเพลงให้คนอื่นร้องไว้หลายเพลง จึงทดลองแต่งและเป็นนักร้องออกเทปเพลงของตนเองไว้หลายชุด แต่ก็ยังคงยึดงานประพันธ์เรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี สารคดี และอื่น ๆเป็นหลักเรื่อยมา
ทุกวันนี้ วัฒน์ วรรลยางกูร ยังผลิตงานสร้างสรรค์ทุกประเภท เขียนคอลัมน์เดือนละ 10 กว่าชิ้น ให้แก่ หนังสือพิมพ์ข่าวสด, นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์, หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก, MARS รายเดือน, ALL MAGAZINE ฯลฯ
ผลงาน
รวมเรื่องสั้น นกพิราบสีขาว (๒๕๑๘) เมื่อพิมพ์ครั้งที่สอง เปลี่ยนชื่อเป็น ความหวังเมื่อเก้านาฬิกา (๒๕๒๓) กลั่นจากสายเลือด (๒๕๑๙) ข้าวแค้น (๒๕๒๒) น้ำผึ้งไพร (๒๕๒๓) ใต้เงาปืน งูกินนา (๒๕๒๙) นครแห่งดวงดาว ฝุ่นรอฝน (๒๕๒๖) ลูกพ่อคนหนึ่ง(ถากไม้เหมือนหมาเลีย) กลับมาเมื่อฟ้าค่ำ (๒๕๒๔) เรื่องเล่าอันพร่าเลือน (๒๕๓๒) รถไฟสังกะสี ขบวนหนึ่ง ๒๕๑๓-๒๕๒๓ (๒๕๓๒) รถไฟสังกะสี ขบวนสอง ๒๕๒๔-๒๕๒๘ (๒๕๓๓) นิยายของยาย (รวมเรื่องสั้นชุดจบในตอน ๒๕๓๖) สู่เสรี(๒๕๓๙) ปลาหมอตายเพราะไม่หายใจ (๒๕๔๙)
นวนิยาย ตำบลช่อมะกอก (๒๕๑๙) โครงการรู้จักเพื่อนบ้านของมูลนิธิโตโยต้า ได้คัดเลือกไปแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วย ด้วยรักแห่งอุดมการณ์ (๒๕๒๔) คือรักและหวัง (๒๕๒๕) บนเส้นลวด(๒๕๒๕) จิ้งหรีดกับดวงดาว (๒๕๓๑) มนต์รักทรานซิสเตอร์ (๒๕๒๔) เทวีกองขยะ (๒๕๓๘) ปลายนาฟ้าเขียว (๒๕๓๒) ฉากและชีวิต (๒๕๓๙) สิงห์สาโท (๒๕๔๓) The pickup ขับชีวิตสุดขอบฟ้า (๒๕๔๘)
บทกวี เทปเพลง ฝันให้ไกลไปให้ถึง (๒๕๒๓) (ใช้ชื่อ รอยสัก ๒๕๒๘) แรงบันดาลใจ (๒๕๓๗) เงาไม้ลายรวง (๒๕๓๔) ชุดไม่ขาย (๒๕๓๙) กระท่อมเสรีภาพ (๒๕๓๘) ดินสอโดมธรรมศาสตร์เด่นสู้ศึก (๒๕๔๔) เสน่หาป่าเขา (๒๕๓๘)
สารคดี คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน (๒๕๔๑) ไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายหัวใจไม่ผูกเชือก (๒๕๔๓) ป่าเหนือเมื่อดอกไม้บาน (๒๕๔๓,๒๕๔๔) หอมดินเคล้ากลิ่นไอฝน (๒๕๔๔) นิราศ A 30 ท่องป่าเหนือสุดแดนลาวชมสาวหลวงพระบาง (๒๕๔๖) ภูมิปัญญาที่ดื่มได้ (๒๕๔๖) บุญเลิศ ช้างใหญ่ คนดีที่กล้าหาญ (๒๕๔๗) ความเรียง และสาระนิยาย เสียงเต้นของหัวใจ (๒๕๓๗) แรมทางกลางฝุ่น:สาระนิยายชีวิตและความผูกพันหลังพวงมาลัย (๒๕๓๙)
*ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลศรีบูรพา คนที่ 19 ประจำปี 2550 ซึ่งพิจารณามอบให้แก่นักคิดนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และศิลปินผู้มีผลงานอันทรงคุณค่า มีชีวิตที่เป็นแบบอย่าง