คอลัมน์: เหะหะพาที: นักเขียนเตรียมอุดม
ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 02 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ผมได้รับหนังสือเล่มหนึ่งจากสมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นเนื่องในโอกาสงานคืนสู่เหย้าชาว ต.อ.ครั้งที่ 26 เมื่อวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ก็คือ การนำบทประพันธ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ประพันธ์โดยศิษย์เก่าเตรียมอุดมศึกษาที่เป็นนักเขียนชั้นนำของประเทศมารวมไว้ในที่เดียวกัน
เนื่องในวโรกาสที่ประชาชนชาวไทย ร่วมกันน้อมเกล้าฯถวายความจงรักภักดีในวาระที่พระองค์ท่านทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา
นักเขียนชั้นนำที่ได้รับเชิญมาเขียนถวายพระพรชัยมงคลได้แก่ ศาสตราจารย์ พิเศษ ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา, ชอุ่ม ปัญจพรรค์, วิลาศ มณีวัต, มนันยา, อุบล สรรพัชญพงษ์, ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ฯลฯ เป็นต้น
จากนั้น สาราณียกรของหนังสือเล่มนี้ (ชมัยภร แสงกระจ่าง) ก็จัดการรวบรวมและเรียบเรียงให้ทราบว่า ศิษย์เก่าของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษานับตั้งแต่รุ่นแรก มาจนถึงรุ่นปัจจุบันมีใครบ้างที่ไปเป็นนักเขียน และมีผลงานด้านการเขียน
พร้อมกับนำเรื่องราวที่เป็นเรื่องสั้นๆ หรือบทความที่ศิษย์เก่าดังกล่าวเคยเขียนไว้มาลงเป็นตัวอย่างให้อ่านท่านละ 1 เรื่อง…กลายเป็นหนังสือเล่มหนาที่มีคุณค่าขึ้นมาในทันทีทันใด
ทำให้มีโอกาสได้รู้ว่า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ไม่ใช่เป็นเพียงโรงเรียนที่ผลิตนักเรียนโอลิมปิกเหรียญทอง หรือนักเรียนเก่งในประเภทต่างๆ เท่านั้น ยังเป็นโรงเรียนผลิตนักเขียนที่ยิ่งใหญ่โรงเรียนหนึ่งของประเทศไทย
นอกเหนือจากชื่อนักเขียนชั้นบรมครูที่ผมเอ่ยไว้ในช่วงเกี่ยวกับงานเขียนเฉลิมพระเกียรติข้างต้นแล้ว ยังมี…ศุภร บุนนาค, นิตยา นาฏยะ-สุนทร, อ.อุดากร, ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว, อาจินต์ ปัญจพรรค์, รงค์ วงษ์สวรรค์, สุภาว์ เทวกุลฯ, โบตั๋น, ว.วินิจฉัยกุล, รัศมี ดารา ฯลฯ อีกด้วย
ทางด้านบทกวี ก็มี จิตร ภูมิศักดิ์, ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์, วนิดา สถิตานนท์, อาพันธ์ชนิตร สุวรรณกร, ผ่องพรรณ สิงหเสนี, ท่านผู้หญิง มณีรัตน์ บุนนาค, โกวิท สีตลายัน, วันเพ็ญ เซ็นตระกูล, นภาลัย สุวรรณธาดา, จินตนา ปิ่นเฉลียว, แววตา สีมานันท์, จิระนันท์ พิตรปรีชา, ประภาส ชลศรานนท์ ฯลฯ
ประเภทคอลัมน์ บทความข้อคิด…ได้แก่ ศ.ดร.ระวี ภาวิไล, สาทิส อินทรกำแหง, ศ.นพ.ประเวศ วสี, เทศภักดิ์ นิยมเหตุ, นวพร เรืองสกุล, จิตรา ก่อนันทเกียรติ ฯลฯ
แล้วก็…ซูม…ไทยรัฐ ห้อยอยู่ด้วยในหมวดนี้
สาเหตุสำคัญที่ผมหยิบยกหนังสือเล่มนี้มาเขียนเสียยืดยาว นอกจากจะเป็นเพราะความปลื้มอกปลื้มใจที่มีโอกาสได้เป็นศิษย์รุ่นพี่รุ่นน้อง กับผู้ประสบความสำเร็จในด้านงานเขียน และงานประพันธ์ตามรายชื่อที่หนังสือได้รวบรวมไว้…แล้ว
ผมยังอยากจะถือโอกาสเขียนต่อเติมท่อนสุดท้ายของ “บทความ” ของผมที่สาราณียกรหยิบยกมาเป็นตัวอย่างด้วย
ได้แก่เรื่อง “ความสุขของคนขับรถไม่เป็น” ซึ่งเป็นเรื่องรำพึงรำพัน เกี่ยวกับตัวผมเองที่เกิดมาขับรถไม่เป็น เพราะมัวแต่ทำงานไม่ยอมหัดขับรถ
แต่ผมก็มีความสุขดีและได้รับความสะดวกสบายอันสุดพรรณนาได้จากการนั่งแท็กซี่ไปโน่นไปนี่
ข้อเขียนชิ้นนี้ผมเขียนให้กับนิตยสาร “แพรว” ฉบับพิเศษของ อมรินทร์พรินติ้ง เมื่อ 15 ปีก่อน…
ต้องขอขอบคุณสมาคมศิษย์เก่าเตรียมอุดมอีกครั้งที่กรุณาส่งหนังสือที่ระลึกเล่มนี้มาให้ ทำให้ผมได้มีโอกาสอ่านข้อเขียนของนักเขียนต่างๆอย่างเต็มอิ่ม
รวมทั้งเรื่องของตัวเองด้วย…เพราะปกติผมมักจะไม่ได้ตัดเก็บไว้เวลาเขียนให้สำนักอื่นๆ ก็จะได้ถือโอกาสซีรอกซ์เก็บเรื่องนี้ไว้เสียด้วยเลย
สำหรับเรื่อง “ความสุขของคนขับรถไม่เป็น” ที่ว่านี้ ผมอ่านแล้ว ก็รู้สึกว่าอาจจะต้องเขียนขยายความ หรืออธิบายความเพิ่มเติมเพราะทุกวันนี้เหตุการณ์เริ่มเปลี๊ยนไป๋ ทำให้ความสุขของการนั่งรถแท็กซี่ชักจะน้อยลง
เนื่องจากเนื้อที่วันนี้ไม่พอเสียแล้ว ผมขออนุญาตจบเพียงเท่านี้ก่อนก็แล้วกัน… โดยทิ้งน้ำหนักของสาระประจำวันนี้ไว้ที่รายชื่อของนักเขียนต่างๆ ซึ่งเคยผ่านโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบ
พรุ่งนี้ผมขออนุญาตเขียนต่อโดยเจาะลงข้อเขียนของผมโดยตรงที่หนังสือเล่มนี้ กรุณาคัดเลือกไปตีพิมพ์
อะไรเอ่ยที่ทำให้ความสุขในการนั่งแท็กซี่ทุกวันนี้…ลดลง?

“ซูม”