บ่ายแก่ ๆ ของวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๓ ฉันเปิดเมล์ที่ตอบกลับมาจากบรรณาธิการที่เคารพด้วยใจระทึก ไม่รู้ว่าเนื้อความที่ตอบมานั้นคืออะไร เพราะโดยปรกตินาน ๆ ครั้ง (ทั่น)บรรณาธิการจะตอบเมล์กลับมาสักหน
  “อย่าลืมถ่ายรูปงานแซยิดนี้ทำข่าวส่งตะวันส่องหล้า! ด่วนจี๋! … บ.ก.”
  “เว่ย!” … ฉันร้องและสะดุ้งเล็กน้อยเมื่ออ่านเมล์ฉบับที่สั้นที่สุดในโลก แต่ก็ทรงพลังที่สุดจบลง



  คำสั่งแบบด๊วนด่วนถูกส่งตรงมาถึงฉันในวันเวลาที่กระชั้นสุดชีวิต เหลือบดูปฏิทินบนโต๊ะแล้วก็ต้องลอบถอนใจเฮือกใหญ่พร้อมกับยกมือขึ้นปาดเหงื่อ (ทั้ง ๆ ที่อยู่ในห้องแอร์เย็นฉ่ำ) เพราะ “ข่าว” ที่บรรณาธิการสั่งให้ทำนั้น เป็นงานที่จะจัดในวันรุ่งขึ้น  โอ้ ยิ่งคิดก็ยิ่งเครียดและกังวลเป็นทบทวี เพราะไม่มีเวลาเตรียมตัว มิหนำซ้ำชีวิตยังยุ่งเหยิงอีรุงตุงนังกับงานอื่น ๆ ที่กอง (พะเนิน) อยู่ตรงหน้า “เอาวะ ด่วนก็ด่วน!”  ฉันบอกตัวเองในที่สุดเพราะไม่มีคำตอบข้อไหนให้เลือกตอบอีกแล้วแต่ก็แทบไม่อยากจะคิดถึงวันรุ่งขึ้นว่าจะเป็นอย่างไร



  เช้าตรู่ของวันที่ ๕ มิถุนายน ฉันแทบไม่อยากลากตัวเองลงจากเตียง ชั่วโมงการนอนเพียงสองชั่วโมงของคืนนั้นบวกกับความชุ่มฉ่ำเย็นชื้นของสายฝนที่กระหน่ำลงมากลางดึกของคืนก่อน ทำให้เนื้อตัวแทบจะจมหายไปกับเตียงนอนและยากจะงัดแงะตัวเองออกมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย แต่งานก็ต้องเป็นงาน ฉันลุกขึ้นเตรียมตัวเองให้พร้อมที่สุดเพื่อภารกิจลับสุดยอดและด๋วนจี๋ตามที่บรรณาธิการมีใบสั่งมา



  ภายในซอยกรุงเทพ-นนทบุรี ๓๓ แถว ๆ บางซื่อ คึกคักขวักไขว่ไปด้วยรถราที่เข้าและออกและต่างก็มุ่งหน้าไปยังจุดหมายปลายทางเดียวกัน คือ ที่ทำการของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เทียบเชิญแบบลับ ๆ ส่ง (และสั่ง) ให้ฉันมาร่วมงานแซยิดหรืองานฉลองครบรอบวันคล้ายวันเกิด ๖๐ ปี ของนายกสมาคม คุณชมัยภร แสงกระจ่าง ที่มิเพียงดำรงตำแหน่งนายกสมาคม หากแต่ยังมีตำแหน่งคุณยายไฮเปอร์ คุณพี่ คุณป้า คุณน้า ของนักเขียน กวี ทั้งรุ่นเล็ก รุ่นกลาง  รุ่นใหญ่ และยังเป็นครู-อาจารย์ของลูกศิษย์ผู้มีใจรักในงานวรรณกรรมอีกนับไม่ถ้วน



  ฉันไปถึงงานเป็นคนแรก ๆ ของจำนวนแขกที่ถูกเชิญแบบลับ ๆ จากกองอำนวยการการจัดงาน ที่ต้องบอกว่า “ถูกเชิญอย่างลับ ๆ” เนื่องจากว่างานนี้จัดขึ้นอย่างเงียบ ๆ และเป็นความลับ ลับในที่นี้ คือ ลับต่อตัวนายกสมาคมที่คณะกรรมการสมาคมจัดขึ้นเองโดยที่นายกสมาคมไม่รู้ไม่เห็นว่างานจะออกมาในรูปแบบใดและเชิญใครมาเป็นแขกในงานครบรอบวันเกิดของตัวเองบ้าง (ลับจริง ๆ แม้กระทั่งเจ้าของวันเกิดก็ยังไม่รู้)



  ลานจอดรถด้านหน้าที่ทำการ ตกแต่งด้วยริบบิ้นสีสันสวยงาม และลูกโป่งหลากสี มีป้ายนิทรรศการภาพถ่ายและผลงาน (บางส่วน) ของคุณชมัยภร จำนวนสี่ป้ายตั้งรอแขกผู้มาเยือน  มีตั้งแต่ภาพถ่ายสมัยเป็นนักเรียนและเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือภาพเมื่อครั้งเป็นลูกสาว (ของคุณยาย)เป็นอาจารย์สอนหนังสือ เป็นวิทยากร เป็นคุณแม่ (ของลูกสาว-ลูกชาย) เป็นนักเขียน นักอ่าน กวี เป็นเพื่อน พี่ น้อง ยาย (ของหลานสาวตัวน้อย) เป็นนายก และเป็น.. เป็น.. เป็น.. เป็น… “เป็นอย่างที่เห็น เป็นชมัยภร แสงกระจ่าง (บางคมบาง)”



   ฉันหยุดดูภาพถ่ายแห่งความทรงจำเหล่านั้นด้วยความทึ่งที่คน ๆ หนึ่ง สามารถเป็นอะไร ๆ ได้หลายอย่างในเวลาเดียวกันหรือไล่เลี่ยกัน อีกทั้งยังสามารถทำในสิ่งที่ “เป็น” เหล่านั้นได้อย่างงดงามและไม่ขาดตกบกพร่อง หรือถ้ามีก็คงจะน้อยเต็มที เพราะเท่าที่ฉันได้ยินชื่อเสียงและติดตามการทำงานของคุณชมัยภรมาบ้างนั้น เรียกได้ว่าเป็นอีกคนหนึ่งที่ทำหน้าที่ที่ “มี” และ “เป็น” ได้อย่างดีและเป็นที่ยอมรับของบรรดานักเขียน กวี หรือแม้แต่ผู้ที่ร่วมทำงานด้วย และนี่ก็คงเหตุผลหลัก ๆ อีกข้อหนึ่งที่เป็นเหตุผลส่วนตัวที่สามารถพาฉันมาอยู่ในงานนี้ได้ ที่นอกเหนือจากคำสั่ง “ลับ ลวง พราง ฉบับด่วนจี๋” จากบรรณาธิการ
 


   คุณชมัยภร แสงกระจ่าง (บางคมบาง) นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน เป็นคนจังหวัดจันทบุรี จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นทั้งนักวิจารณ์วรรณกรรม เป็นนักเขียน (เรื่องสั้น, บทวิจารณ์, กวี, สารคดี (เขียนนวนิยายเป็นตอน ๆ ในนิตยสารขวัญเรือนและสกุลไทย) เป็นกวี เป็นวิทยากร เป็นครู และยังเป็นกรรมการร่วมตัดสินรางวัลวรรณกรรมต่าง ๆ มากมาย มีนามปากกาที่ใช้เขียนงานหลายนามปากกา เช่น “ไพลิน รุ้งรัตน์”, “ชมจันทร์”, “แสนดาว”, “นศินี วิทูธีรศานต์”, ปัจจุบันใช้นามปากกา “ชมัยภร แสงกระจ่าง”  มีผลงานรวมเล่ม ๖๙ เล่ม ผลงานที่เขียนยังได้รับรางวัลวรรณกรรมและรางวัลดีเด่นจากหน่วยงานต่าง ๆ หลายเล่ม เช่น



    “บ้านหนังสือในหัวใจ” รางวัลชมเชย ประเภทสารคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ, “มิเหมือนแม้นอันใดเลย” รางวัลชมเชย ประเภทบทกวี จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ, “บันทึกจากลูก(ผู้)ชาย” (วรรณกรรมเยาวชน) รางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดี สำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ สร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เป็นหนึ่งในห้าร้อยเล่มหนังสือดีของสมาพันธ์องค์การเพื่อการพัฒนาหนังสือและการอ่าน, “อ่านหนังสือเล่มนี้เถอะ..ที่รัก” (นวนิยาย) รับรางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดี สำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ, “พระอาทิตย์คืนแรม” รางวัลชมเชย  ประเภทนวนิยาย จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ, “คุณปู่แว่นตาโต” (วรรณกรรมเยาวชน) รับรางวัลดีเด่น ประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ, “ขวัญสงฆ์” (นวนิยายร้อยกรอง) รับรางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดี สำหรับเด็กอายุ ๑๔-๑๘ จากคณะกรรมการประกวดหนังสือดีเด่น กระทรวงศึกษาธิการ, “ในสวนเมฆ” (นวนิยาย) รับรางวัลชมเชยจากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๓ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฯลฯ      



  สายแล้ว แขกคนอื่น ๆ เริ่มทยอยเข้ามาในงานที่เต็มไปด้วยลูกโป่งสีสวยและดอกไม้หอมที่ปักอยู่ในแจกันหลายใบรอบ ๆ บริเวณ .. คุณอาจินต์-คุณแน่งน้อย ปัญจพรรค์, ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์, ผศ.ดร.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์, ศ.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์, คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์, คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, คุณประภัสสร-คุณชุติมา เสวิกุล, คุณพนิดา ชอบวณิชา, คุณมณฑา ศิริปุณย์, คุณสุวดี  จงสถิตย์วัฒนา, คุณพรกวินทร์ แสงสินธุ์ชัย, คุณวัธนา บุญยัง, คุณไมตรี ลิมปิชาติ, คุณวันทนีย์ นามะสนธิ,  นอกจากนี้ยังมีกรรมการสมาคมนักเขียนฯ ที่เป็นกองอำนวยการจัดงาน (แบบลับ ๆ) อาทิ คุณธาดา เกิดมงคล, คุณเจน สงสมพันธุ์, คุณนิเวศน์-คุณกนกวลี กันไทยราษฎร์, คุณบูรพา-คุณญาดา อารัมภีร, คุณขจรฤทธิ์ รักษา, คุณจตุพล บุญพรัด, คุณพนิจ นิลรัตน์, คุณนรีภพ สวัสดิรักษ์, คุณเพชรยุพา  บูรณ์สิริจรุงรัฐ, คุณจิตติ หนูสุข, คุณศรีโสภา วงศาโรจน์, คุณเสรี ทัศนศิลป์, คุณศักดา วิมลจันทร์, คุณจเลิศ เจษฎาวัลย์, คุณปนัดดา เลิศล้ำอำไพ และยังมีนักเขียน รุ่นน้อง รุ่นหลานมาร่วมงานกันอีกหลายคน ทุกคนล้วนมาด้วยความยินดี หน้าตายิ้มแย้ม แจ่มใส หอบหิ้วและโอบอุ้มของขวัญของฝาก และยังเป็นแขกพิเศษที่กองเฉพาะกิจเชิญมาเพื่อเซอร์ไพรส์ (ขอใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษหน่อยค่ะ) เจ้าของวันเกิดอย่างแท้จริง



  กองอำนวยการเล็ก ๆ (แต่น่ารัก) นี้ นอกจากจะเตรียมป้ายนิทรรศการอวดโฉมไว้ด้านหน้าแล้ว ยังเตรียมสมุดเขียนอวยพรให้กับนายกด้วยอีกหนึ่งเล่ม เมื่อก้าวเท้าเข้ามายังที่ทำการแขก (เฉพาะกิจ) แต่ละคนจะได้เขียนอวยพร แสดงความรัก ความปรารถนาดีลงบนหน้าสมุดปกสีเขียวเพื่อส่งผ่านไปยังคนที่เขาเหล่านั้น รัก เคารพ และศรัทธา  นอกจากนี้ทีมงาน (ลับ ลวง พราง) ยังจัดพิมพ์หนังสือ “เป็นอย่างที่เห็น เป็นชมัยภร” เพื่อแจกให้กับผู้มาร่วมงาน ที่เป็นการรวมประวัติ ผลงานการเขียนและข้อเขียนที่มีต่อคุณชมัยภร จากเพื่อนพ้อง รุ่นพี่ รุ่นน้องในแวดวงน้ำหมึกอีกจำนวนหนึ่ง  ซึ่งแต่ละถ้อยคำ แต่ละตัวอักษรที่แต่ละคนเขียนถึงนั้น ล้วนมีความเป็น “ชมัยภร” แฝงอยู่ในนั้นแทบทั้งสิ้น



  พิธีการในช่วงเช้าจัดแบบเรียบง่ายที่นายกชมัยภรจัดเองด้วยความตั้งใจ คือ การทำบุญเลี้ยงพระเพลและอุทิศส่วนกุศลให้กับบรมครู นักเขียน กวี และเพื่อนพ้องในวงวรรณกรรมผู้ล่วงลับ จากนั้นก็รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน แต่ทางกองเฉพาะกิจไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์ รีบขอคืนพื้นที่โดยฉับพลัน เพราะยังต้องใช้พื้นที่ในห้องที่ทานอาหารจัดเวทีเพื่อกิจกรรมในช่วงบ่ายต่อไป



  ราว ๆ บ่ายสองโมง คุณเจน สงสมพันธุ์ เลขาธิการสมาคมนักเขียนฯ หัวหน้าหน่วย ลับ ลวง พราง กล่าวต้อนรับแขกที่ถูกส่งเทียบเชิญแบบลับ ๆ อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งกล่าวถึงที่มาที่ไปของงานนี้ว่า เหตุใดจึงต้องมีคำว่า   “ลับ ลวง พราง” หรือ คำว่า “เฉพาะกิจ” นี้ขึ้น



  คุณเจนว่า.. “วันแรก ๆ ที่เราคุยกันถึงเรื่องที่จะจัดงานนี้ เราคุยกันว่า งานนี้ไม่ได้ติดอยู่กับกรรมการเพียงยี่สิบกว่าคน หรืออุปนายก หรือเลขาธิการ ไม่มีใครเป็นเจ้าของพี่อี๊ด (คุณชมัยภร) .. ไม่ใช่อย่างนั้น เรารู้กันในคนไม่กี่คนว่าเราจะทำงานนี้ เราจึงไม่อยากให้เรื่องพวกนี้ไปสู่การรับรู้ของคนอื่น เพราะอาจจะมีคนที่ไม่เข้าใจเจตนาแล้วแปลเจตนาไปเป็นอื่น – – แต่พอเรามาใช้สถานที่ของสมาคม ก็จำเป็นอยู่ที่สองสามปีมานี้ที่เราได้ใกล้ชิดกัน ทำงานร่วมกัน ก็ต้องใช้คนขององค์กรมาช่วยทำงาน มาช่วยกันให้การต้อนรับ เพราะในฐานะของนายกสมาคมนักเขียนฯ ถ้าไม่มีทีมที่จะมาทำให้มันก็จะยุ่งยาก” 



  ฉันฟังสิ่งที่คุณเจนกล่าวแล้วเข้าใจในเหตุผล และยิ่งเข้าใจมากขึ้นที่ไม่ว่าจะมองไปทางใด หรือที่แขกคนไหน ก็ล้วนแต่เป็นมิตร เป็นเพื่อน พี่ น้อง ที่คุ้นหน้าคุ้นตาและสนิทสนมกันทั้งนั้น แต่ความลับของทีมนี้ก็ยังไม่หมด เมื่อถึงคราวของ ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวเปิดในฐานะประธานการจัดงาน ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวอย่างเป็นกันเองและติดตลกว่า ทีมนี้มีความสามารถในการเก็บความลับของการจัดงานได้เก่งมาก เพราะกระทั่งตนเองที่จะต้องมาเป็นประธานในวันนี้ก็เพิ่งจะทราบข่าวและกำหนดการก่อนวันงานเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น  แต่นั่นคงยังไม่พอสำหรับทีมนี้ ผศ.ดร.สุวรรณา กล่าวเสริมขึ้นอีกว่า ตนเองก็ได้รับกำหนดการก่อนมางานเพียงแค่วันเดียว มิหนำซ้ำกำหนดการที่ได้ยังไม่เหมือนกันสักฉบับ ตนเองจะต้องกล่าวปาฐกถาถึงผลงานการเขียนของคุณชมัยภร แต่ระยะเวลาที่จะต้องกล่าวนั้น มีทั้ง ๑๐ นาที, ๒๐ นาที, และฉบับล่าสุดบอกว่าให้กล่าวนานถึง ๔๕ นาที แต่ด้วยบรรยากาศที่สบาย ๆ เป็นกันเอง สนุกสนานและมากด้วยเสียงหัวเราะของคนกันเองนี้ คุณเจนจึงว่า ขอยกเวทีให้ ผศ.ดร.สุวรรณา กล่าวปาฐกถาคนเดียวยาวเลยถึง ๗๕ นาที (นำตัวเลขมารวมกัน) ต่างคนต่างขำหัวเราะชอบใจ แต่ก็ไม่คิดว่าสิ่งที่คุณเจนแซวไว้นั้นจะใกล้เคียงความเป็นจริง เพราะเมื่อ ผศ.ดร.สุวรรณา นักวิชาการวรรณกรรม ครูและมิตรทางวรรณกรรม กล่าวถึงเส้นทางบนถนนวรรณกรรมของคุณชมัยภรแล้ว เราก็พบว่าสิ่งที่กล่าวแม้จะกินเวลาและยาวนานแต่เนื้อหาและสิ่งที่ได้รับนั้นล้วนเป็นประโยชน์ มองเห็นภาพ และเห็นความเป็น “ชมัยภร” ที่โลดแล่นบนถนนสายวรรณกรรมนี้อย่างชัดเจนทุกคำพูดทีเดียว



  ความบางส่วนจากการปาฐกถาของ ผศ.ดร.สุวรรณา


“เส้นทางวรรณกรรมของชมัยภรเป็นเส้นทางสายธรรมดา มันมาจากถนนดิน จากชนบท มาเป็นทางที่ลาดยางซึ่งดีขึ้นมาหน่อย แต่ที่สำคัญ “มันไม่ใช่ทางด่วน ถ้าคุณอ่านเรื่องของชมัยภรอย่างขับรถบนทางด่วน คุณก็จะไม่เห็นอะไรรายทาง”  เราขับรถบนทางด่วนเพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางอย่างเร็วที่สุด แต่เราขับรถบนทางธรรมดาเพื่อให้ได้เห็นบ้าน เห็นผู้คน เห็นต้นไม้ เรื่องของชมัยภรที่ไม่ว่าจะเป็นบทกวี นิยาย เรื่องสั้น คุณก็ต้องอ่านอย่างนั้น อย่างบนถนนสายธรรมดา บนชีวิตของคนธรรมดา – – สิ่งที่ตัวเองรู้สึกพอใจมากก็คือ งานของคุณชมัยภรเป็นงานที่มีความจริงใจ อะไรที่ไม่รู้จริงก็จะไม่เขียน ไม่ไปสอนคนอื่นถ้าตัวเองไม่รู้เรื่องนั้น ความมีอารมณ์ขันในการเล่าเรื่อง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ความเป็นคนที่มีหัวใจ เพราะมนุษย์ถ้าไม่มีหัวใจก็เป็นมนุษย์ไม่ได้”



  เสร็จจากภาคผลงานแล้ว เป็นการกล่าวอวยพรจากผู้ใหญ่ในวงการ เริ่มจาก คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์   เขียนกวี ชื่อ “๖๐ ปีชมัยภร” ความว่า “ชมัยภรแสงกระจ่างสว่างจ้า เด่นบนฟ้าวรรณกรรมประจำประจักษ์ เป็นนายกสมาคมนักเขียนเพียรพิทักษ์ เป็นศรีศักดิ์อักษรศาสตร์แห่งชาติไทย อายุครบห้ารอบประกอบกิจ ด้วยกายใจชีวิตอิศให้ บริการนักเขียนเพียรสุดใจ ขอเธอจงสุขสดใสตลอดกาล”



   คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ก็อวยพรด้วยบทกวีเช่นกัน .. “เธอคือโคมทองของนักเขียน เธอคือดวงเทียนแห่งอักษร เธอคือดวงดาวนิรันดร เธอคือชมัยภร บางคมบาง”



  คุณประภัสสร เสวิกุล มากับบทกวีที่ชื่อว่า “คือ ชมัยภร” .. “คือนวลแสงกระจ่างสว่างฟ้า คือศัสตรา-บางคมสมศักดิ์ศรีคือนักขียน นักวิจารณ์ นักกานท์กวี คือคนดีศรีวิไล.. ชมัยภร”



  มาถึงทางด้านกรรมการสมาคมที่ถือเป็นไฮไลท์ของงาน เพราะทันทีที่ถึงคิวของกรรมการจะมีเสียงฮือฮากึกก้องทั่วห้องประชุม พร้อมเสียงปรบมือและเสียงหัวเราะของนายกชมัยภร เมื่อกรรมการที่มาในวันนั้นทั้งหมดพากันเดินขบวนเข้ามาในห้องเพื่อมอบกระเช้าของขวัญให้กับนายกสมาคม นอกจากนี้ ดร.ญาดา ยังขับเสภากับบทที่ชื่อว่า  “พี่อี๊ด นายกไฮเปอร์” ซึ่งหลาย ๆ คนคงบอกว่าเป็นบทที่มองเห็นความเป็น “ชมัยภร” ได้ชัดเจนที่สุด


“สาวตัวเตี้ยหิ้วตะกร้านุ่งผ้าถุง หัวหยิกยุ่งนานนานทีจึงหวีได้ มองลอดแว่นเช้าค่ำอยู่ร่ำไป มีรอยยิ้มจริงใจด้วยไมตรี วันแรกรับตำแหน่งเป็นนายก กรรมการตื่นตระหนกอกเต้นถี่ เจ็ดชั่วโมงประชุมได้ประชุมดี แทบจะพับคาเก้าอี้ทีละคน – – หัวใจโตกว่าตัวคนกลัวนัก ถึงงานหนักเพียงใดไม่หนีหน้า สารพัดโครงการที่ผ่านมา ประกาศค่าของคนด้วยผลงาน”



  ช่วงท้าย (แต่ไม่ใช่ท้ายที่สุด) ของงานวันนั้น เป็นภาคบันเทิงที่มีการร้องเพลงจากศิลปินรับเชิญ เช่น นิยุติ สงสมพันธุ์ และคณะใต้สวรรค์, แม้ว คนรักแมว, โก้โก้ ตาโบ ศิลปินจากเกาะโอกินาวาประเทศญี่ปุ่น และสลับกับการอ่านบทกวีจากน้อง ๆ กวีและนักเขียนที่ตามมาสมทบในช่วงค่ำ (แบบลับ ๆ อีกเช่นกัน) อาทิ คุณเสรี ทัศนศิลป์, คุณเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์, คุณพจนารถ พจนาพิทักษ์, คุณกุดจี่-พรชัย แสนยามูล, และยังมีบทกวีชิ้นพิเศษที่ส่งตรงมาจากประเทศเกาหลีที่เขียนโดยคุณพิเชษฐ์ แสงทองผ่านมาทางคุณนพดล ปรางทอง ที่วันนี้อ่านกวีถึง ๒ ชิ้นด้วยกัน โดยมีคุณคมสัน นันทจิต, คุณนันทพร ไวศยะสุวรรณ์ และคุณจริญญา ศักดิ์สิริ สลับกันทำหน้าที่พิธีกร



  “แม้ว คนรักแมว” เริ่มต้นร้องเพลงโปรดของคุณชมัยภรถึง ๓ เพลงต่อเนื่อง และตามมาด้วยบทกวีจากแดนไกลของคุณพิเชฐ ที่คุณนพดล เป็นผู้อ่าน กับบทที่ชื่อว่า “ไม่ใช่แม่แต่เป็นเหมือนเช่นแม่” …


 “ไม่ใช่แม่แต่เป็นเหมือนเช่นแม่ ช่วยดูแลปากท้องกรองงานเขียน ไม่ใช่เทียนแต่เป็นดั่งเช่นเทียน ส่องสว่างวงเวียนวรรณกรรม” และอ่านบทกวีของตนเองต่อทันทีกับบทที่ชื่อสั้น ๆ ว่า “พี่อี๊ด” ..


“เป็นยาย ป้า และแม่แต่เป็นพี่ เป็นอยู่ด้วยดีงามล้ำสมัย เป็นทางเป็นธรรมมากน้ำใจ เป็นหนึ่งลมหายใจของบทกวี” 



  บทเพลงและบทกวีขับขานผ่านท่วงทำนองเคล้าเสียงดนตรี ด้วยน้ำเสียงและอากัปกิริยาของผู้อ่านที่ผสานไปกับความรู้สึก รัก เคารพ ศรัทธาและผูกพัน ทำให้บทเพลงและบทกวีในค่ำคืนนั้นมากด้วยความหมายและซาบซึ้งใจ  ทุก ๆ กิจกรรม ทุก ๆ ความเคลื่อนไหวของงานแซยิดในวันนี้ ฉันซึมซับและรับรู้ได้ถึงความตั้งใจจริงและความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างกองอำนวยการเล็ก ๆ กับแขกพิเศษแต่ละคน ทุกคนไม่ได้มาด้วยเทียบเชิญฉบับด่วนจี๋เพียงอย่างเดียว หากแต่ทุกคนมาด้วย “ใจ” ที่มีให้กับคนที่ตนรัก นับถือด้วยกันทั้งสิ้น



  หนังสือ “เป็นอย่างที่เห็น เป็นชมัยภร” ที่แจกในงานนั้น คงพอเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ความเป็นชมัยภรนั้น เป็นอย่างไร และหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงบันทึกประวัติ ผลงาน และข้อเขียนของใครต่อใครเท่านั้น หากแต่ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องระลึกความทรงจำของหลาย ๆ คน เพราะเมื่อผ่านพ้นวันนี้ไปแล้ว หนังสือและงานในวันนี้จะกลายเป็นอดีตที่ให้ทุก ๆ คนได้ย้อนรำลึกถึงบรรยากาศ ผู้คน และท่วงทำนองของบทเพลงและกวีที่ขับขานร่วมกันอย่างสุขใจ (ฉันเชื่ออย่างนั้น) และฉันก็แอบเห็นเจ้าของวันเกิดและแขกผู้ใหญ่หลาย ๆ คน นั่งคุยกัน ยิ้มแย้ม หัวเราะชอบใจ และต่างซักถามถึงที่มาและความหลังของภาพเก่า ๆ ที่ปรากฎบนหน้าหนังสือ.. ภาพแล้วภาพเล่า ภาพแล้วภาพเล่า …  ฉันเองก็ยิ้มให้กับภาพเหล่านั้นเช่นกัน แต่ก็อดที่จะแอบกระซิบกับคุณเจน หัวหน้าหน่วยลับ ลวง พราง ไม่ได้ว่า .. “หนังสือเล่มนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่หนังสือเพียงอย่างเดียว แต่มันทำหน้าที่ได้มากกว่านั้น” คุณเจนฟังแล้วก็ยิ้มตอบกลับมาพร้อมพยักหน้ารับรู้และเข้าใจในสิ่งที่ฉันเอื้อนเอ่ย



  “ในวาระหกสิบปีนี้ ถือเป็นวาระที่ได้ทบทวนตัวเอง เป็นวาระที่เราจะได้รู้ว่าหกสิบปีที่ผ่านมาเราได้ไปทำอะไรให้ใครเป็นอะไรหรือเปล่า หรือเราอาละวาดฟาดหางกันขนาดไหน – – ต้องขอขอบคุณทุกคนที่ทำให้วันนี้มีความหมาย ทำให้มั่นใจในอายุหกสิบของตัวเองเป็นอันมาก แก่เท่าไหร่ไม่ว่า แต่ขอแค่ความมั่นใจเท่านั้นเอง.. ขอบคุณค่ะ” 



  ไม่มีความลับใดไม่ถูกเปิดเผย ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกลา ค่ำมากแล้วคุณชมัยภรกล่าวทิ้งท้ายไปแล้ว    นักดนตรีและกวีเก็บของเตรียมกลับบ้านกันแล้ว ฉันเองก็เหนื่อยมามากแล้วเช่นกัน บทเพลงดี ๆ กวีดี ๆ และอยู่ในแวดล้อมของคนดี ๆ ก็ทำให้มีช่วงเวลาดี ๆ กับเขาได้บ้างเหมือนกัน … พบกันคราวหน้า… ฉันว่า.. ฉันคงมีเรื่องราวดี ๆ ไม่ต่างกับงานในวันนี้มาฝากทุก ๆ  คนอีกเช่นเคย..  See you then.


 


————————————–