ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา  โครงการวิจัย “การวิจารณ์ศิลปะ: รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมลายลักษณ์กับวัฒนธรรมเสมือนจริง”  ซึ่งมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปาริชาติ  จึงวิวัฒนาภรณ์ เป็นหัวหน้าโครงการ  ได้เปิดตัวและเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการ 


 โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุกการวิจัย (สกว.) ซึ่งมีระยะเวลาในการดำเนินการวิจัยรวม 3 ปี  ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2553 ถึง 30 กันยายน 2556  ซึ่งการวิจัยจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ดำเนินการช่วงละ 18 เดือน      โครงการวิจัยนี้ยังคงเป็นโครงการวิจัยน้องใหม่และยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่ หลายมากนัก    แต่ก็ไม่ได้เป็น “น้องใหม่ถอดด้าม” ที่เริ่มต้นวิจัยจากศูนย์องศา   เพราะแท้ที่จริงแล้วเป็นโครงการวิจัยต่อเนื่องที่สืบทอดองค์ความรู้และ ประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการวิจารณ์ศิลปะที่ดำเนินวิจัยต่อเนื่องมาเกือบ 15 ปี  จากโครงการวิจัย 3 โครงการที่ผ่านมา  อันได้แก่  โครงการวิจัย “กวีนิพนธ์ในฐานะพลังปัญญาของสังคมร่วมสมัย : ประสบการณ์จากวรรณคดีไทย  อังกฤษ  อเมริกัน  ฝรั่งเศส และเยอรมัน”  โครงการวิจัย “การวิจารณ์ในฐานะพลังปัญญาของสังคมร่วมสมัย ภาค 1 และ 2” และ โครงการวิจัย “การวิจารณ์ในฐานะปรากฏการณ์ของสังคมร่วมสมัยเพื่อพัฒนาความรู้ด้านสังคมศาสตร์การวิจารณ์  ภาค 1 และ ภาค 2”



 องค์ความรู้และประสบการณ์ในการวิจัยของโครงการทั้งสาม  นับเป็นรากฐานสำคัญเพื่อใช้วิจัยต่อยอดในโครงการวิจัยใหม่นี้  เนื่องจากองค์ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาช่วยเผยให้เห็นว่าวิจารณ์ ศิลปะในสังคมไทยได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมว่า  การวิจารณ์ศิลปะในสังคมไทยเริ่มต้นจากวัฒนธรรมมุขปาฐะ   และต่อมาก็แปรเปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมลายลักษณ์  แต่ก็ยังไม่เป็นวัฒนธรรมลายลักษณ์อย่างเต็มรูปเหมือนในสังคมตะวันตก   เนื่องจากการวิจารณ์ในวัฒนธรรมุขปาฐะก็ยังคงเข้มแข็งและไม่ได้ลดบทบาทลงแต่ อย่างใด  โดยเฉพาะในศิลปะบางประเภท  เช่น  ดนตรีไทย  ละครเวที และ ทัศนศิลป์   เมื่อสังคมก้าวเข้ายุคโลกาภิวัตน์ของโลกไร้พรมแดนในยุคปัจจุบัน


    ศิลปะและการวิจารณ์ศิลปะได้ปรับตัวอีกเพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมใหม่ที่เกิด ขึ้น  ซึ่งก็คือวัฒนธรรมเสมือนจริงที่มีพื้นที่สำคัญอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตหรือ โลกไซเบอร์   ดังนั้น  โครงการวิจัยนี้จึงอาศัยข้อสรุปที่ว่าการวิจารณ์ศิลปะเป็นกิจกรรมที่มีบทบาท อยู่ในกระแสวัฒนธรรมลายลักษณ์และวัฒนธรรมเสมือนจริง  ขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ว่าการวิจารณ์อาจจะเป็นตัวช่วยสมานวัฒนธรรม ทั้งสองเข้าหากัน  เพราะว่ามีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่อยู่ใน “แดนกลาง” อันเป็นรอยต่อระหว่างวัฒนธรรมทั้งสอง  ซึ่งสามารถใช้ศักยภาพของทั้งสองกระแสในการสร้างงานวิจารณ์ที่มีคุณภาพอัน เป็นประโยชน์แก่สังคมได้  ด้วยเหตุนี้  การวิจัยของโครงการนี้จึงมุ่งที่จะหาข้อสรุปรวมที่ว่าด้วยลักษณะของการ วิจารณ์ลายลักษณ์ และศึกษาโอกาสใหม่ที่โลกเสมือนจริงเปิดให้แก่การพัฒนาการวิจารณ์  รวมทั้งนำกรณีตัวอย่างของผู้ที่อยู่แดนกลางมาวิเคราะห์  เพื่อแสวงหาแนวทางในการปรับการวิจารณ์ให้เป็นตัวกระตุ้นปัญญาให้แก่สังคม


 


            โครงการวิจัยนี้ไม่อาจดำเนินการได้ถ้าขาดผู้สนับสนุนที่เข้าใจและเปิดโอกาส ให้มีการวิจัยต่อเนื่องดังเช่นที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  เปิดโอกาสให้  เพราะการสนับสนุนทุนวิจัยขององค์กรอื่นๆ ส่วนใหญ่มักจะให้เป็นทุนระยะสั้น เช่น 1 ปี  ซึ่งเมื่อจบโครงการวิจัยหนึ่งๆ แล้วก็เปลี่ยนไปสนับสนุนโครงการวิจัยใหม่ๆ ต่อไป     แต่การวิจัยโดยเฉพาะการวิจัยทางด้านศิลปะ และการวิจารณ์ศิลปะจำเป็นต้องอาศัยเวลาเพื่อที่จะศึกษาและรวบรวมองค์ความรูป ที่ได้อย่างเป็นรูปธรรมและเชื่อถือได้  เมื่อ สกว.  ให้โอกาสโครงการฯได้ทำงานต่อเนื่องยาวนานมาเป็นเวลาเกือบ 15 ปี  จึงทำให้โครงการฯสามารถรวบรวมและสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการวิจารณ์ ศิลปะของสังคมไทยขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง  ขณะเดียวกันในระหว่างคณะผู้วิจัยก็ได้มีการถ่ายโอนความรู้และเรียนรู้ร่วม กันระหว่างรุ่นสู่รุ่น   ในปัจจุบันนักวิจัยส่วนใหญ่จัดได้ว่าเป็นรุ่นที่สาม  ซึ่งถือว่าเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ของโครงการฯ  ส่วนนักวิจัยรุ่นอาวุโส และนักวิจัยรุ่นกลางที่เคยเป็นผู้วิจัยโครงการฯรุ่นแรกๆ ก็ผันตัวเป็นที่ปรึกษาสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่นี้ด้วย  ท่านที่สนใจจะรับทราบบรรยากาศของการวิจัยในหมู่นักวิจัยที่ได้ทั้งความสนุก สนานและความรู้ทางวิชาการ  โปรดดูหนังสือ คุณปู่แว่นตาโต  ของ ชมัยภร  แสงกระจ่าง  ยิ่งไปกว่านั้น  วิชามนุษยศาสตร์เป็นวิชาที่ต้องคิดลึก  คิดนาน คิดต่อเนื่อง  แต่ถ้าจะให้ดีจะต้องมีการคิดร่วม  คณะผู้วิจัยจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการฯ  โดยเราจะใช้พื้นที่นี้เป็นจุดเรื่มต้นของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์  โดยจะมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ให้โอกาสเราได้ออกจากโลกเสมือนจรืงมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง   ด้วยการพบปะสังสรรค์กันในรูปของ “มนุษย์สัมผัสมนุษย์”