ชมัยภร แสงกระจ่าง หรือ ไพลิน รุ้งรัตน์ เกิดเมื่อปี ๒๔๙๓ ที่จังหวัดจันทบุรี จบการศึกษาชั้นประถมและชั้นมัธยมต้นที่จังหวัดจันทบุรี แล้วจึงมาที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพญาไท กรุงเทพฯ และสอบเข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี ๒๕๑๑ ในปี ๒๕๔๙ ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

เป็นคนสนใจการอ่านมาแต่เยาว์วัย เพราะแม่เป็นครู พ่อชอบเขียนกลอน สนใจการอ่านทั้งคู่ ในบ้านมีหนังสือนวนิยายและสารคดีเป็นจำนวนมาก เมื่อเรียนชั้น ม.ศ.๓ ได้ครูภาษาไทยกระตุ้นเร้าการอ่านการเขียน ทำให้หัดเขียนเรื่องสั้นไปลงชัยพฤกษ์ เมื่อเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ สนใจกิจกรรมชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ ได้ดำรงตำแหน่งประธานชมรมวรรณศิลป์ เมื่อเรียนชั้นปีที่ ๔ และในปีเดียวกันนั้นได้เรียนวิชาวรรณกรรมวิจารณ์กับอาจารย์ชลธิรา สัตยาวัฒนา ซึ่งเป็นผู้กระตุ้นให้ลงมือเขียนบทวิจารณ์ งานวิจารณ์ชิ้นแรกที่ได้ตีพิมพ์ในอนุสารวรรณศิลป์ จุฬาฯ คือ บทวิจารณ์รวมเรื่องสั้นและบทกวีชื่อ ความเงียบ ของสุชาติ สวัสดิ์ศรี

ต่อมาเมื่อเรียนจบหันมาสนใจการเขียนเรื่องสั้น เขียนไปลงสตรีสารได้สองสามเรื่อง อาจารย์ชลธิรา (สัตยาวัฒนา) กลัดอยู่ ก็ได้ชวนไปเขียนบทวิจารณ์ในนิตยสารประชาชาติรายสัปดาห์ ใช้ชื่อ ชมัยภร แสงกระจ่าง เขียนอยู่ประมาณ ๑ ปีก็เลิกเขียน ต่อมาได้ช่วยเขียนบทวิเคราะห์ให้ชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ ในการจัดนิทรรศการวรรณกรรมแนวประชาชน ในปี ๒๕๑๘ และผลงานนั้นได้รวมเล่มเป็น วรรณกรรมแนวประชาชน ใช้นามปากกาว่า นศินี วิทูธีรศานต์ ซึ่งภายหลังเหตุการณ์วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ได้กลายเป็นหนังสือต้องห้ามใน ๑๐๖ รายการของคณะปฏิวัติ

หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ประมาณปี ๒๕๒๑ สิทธิชัยและชมัยภร แสงกระจ่าง ได้จัดตั้งกลุ่มวรรณกรรมพินิจขึ้น เป็นการรวมตัวของชาววรรณศิลป์ จุฬาฯ ประมาณ ๑๕ คน และได้มีการอ่านเรื่องสั้นและบทกวีในรอบปีที่ตีพิมพ์ในนิตยสารต่าง ๆ ในรอบปี และคัดเลือกขึ้นมาประกาศเป็นวรรณกรรมยอดเยี่ยมประจำปี คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เคยขอให้กลุ่มเขียนเป็นบทรายงานสั้น ๆ ลงนิตยสารโลกหนังสืออยู่ระยะหนึ่ง กลุ่มวรรณกรรมพินิจได้คัดเลือกเรื่องสั้นอยู่ ๒ ปี ก็เลิกรากันไปเพราะคนในกลุ่มออกไปทำงานต่างจังหวัดหลายคน ในปี ๒๕๒๔ คุณพรชัย วีระณรงค์ บรรณาธิการนิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ในสมัยนั้นได้เปิดคอลัมน์ให้กลุ่มวรรณกรรมพินิจ ทำให้เกิดกลุ่มนักวิจารณ์ ชมัยภร แสงกระจ่าง ใช้นามปากกา ไพลิน รุ้งรัตน์ วิจารณ์หนังสือ พร้อมด้วย วิจักขณ์ ประกายเสน เวณุวัน ทองลา กรรแสง เกษมศานต์ ชีรณ คุปตะวัฒนะ เพียงทัศน์ พินทุสร คำดี เขมวนา เป็นต้น นับแต่นั้นมากลุ่มวรรณกรรมพินิจก็มีคอลัมน์วิจารณ์ประจำในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ และมีไพลิน รุ้งรัตน์ เป็นผู้เขียนบทวิจารณ์เจ้าประจำ ส่วนคนอื่น ๆนั้น ๆ ค่อยเขียนน้อยลง ๆ และเลิกราไปในที่สุด

ไพลิน รุ้งรัตน์ เขียนบทวิจารณ์ระหว่างปี ๒๕๒๑ จนถึงปี ๒๕๓๘ (สิ้นสุดปีที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงแก่อนิจกรรม และมีการเปลี่ยนตัวบรรณาธิการบริหารนิตยสาร)) รวมระยะเวลาที่เขียนบทวิจารณ์ประมาณ ๑๗ ปี บทวิจารณ์ที่ไพลิน รุ้งรัตน์ เขียนมีมากกว่า ๕๐๐ ชิ้น ทั้งหมดเป็นการวิจารณ์หนังสือเล่มในแต่ละยุคแต่ละสมัย มีการรวมเล่มเพียงครั้งสองครั้งคือ ปรากฎการณ์แห่งกวี เป็นการรวมบทวิเคราะห์กวีนิพนธ์ร่วมสมัย รวมเมื่อปี ๒๕๓๐ กับ วรรณพินิจ:กฤษณา อโศกสิน เป็นการรวมบทวิจารณ์ผลงานของกฤษณา อโศกสิน รวมเมื่อปี ๒๕๓๒ เล่มหลังได้รับรางวัลชมเชยประเภทสารคดี จากการประกวดหนังสือประจำปี ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ

ส่วนผลงานอื่น ๆที่เกี่ยวข้องกับการอ่านที่ใช้นามปากกา ไพลิน รุ้งรัตน์ และรวมเล่มก็คือบ้านหนังสือในหัวใจ อันเป็นบันทึกความทรงจำของนักอ่านเกี่ยวกับหนังสือที่ได้อ่านมา ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทสารคดีสำหรับเยาวชน ประจำปี ๒๕๓๓ อ่านหนังสือเล่มนี้เถอะ…ที่รัก นวนิยายว่าด้วยเรื่องของนักอ่าน ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดีสำหรับเยาวชนเมื่อปี ๒๕๓๙ นับแต่ปี ๒๕๓๙ เป็นต้นมา ชมัยภร แสงกระจ่างเขียนนวนิยายต่อเนื่องอย่างจริงจัง โดยเป็นนักเขียนนวนิยายประจำในนิตยสารสกุลไทย และนิตยสารขวัญเรือน หลังจากตีพิมพ์เป็นตอน ๆแล้วจึงรวมเล่ม

  • ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙
  • ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ๒ สมัย (๒๕๕๐-๒๕๕๔)
  • ได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๗

ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ

(จาก บล็อค Chamaiporn Writer)