ผลการคัดเลือก 100 หนังสือดีเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย
โดย : วิทยากร เชียงกูล
เราเลือกเฉพาะหนังสือที่คนไทยแต่ง ไม่รวมหนังสือแปล
หลังจากทำงานวิจัยร่วมกันมา 10 เดือน คณะนักวิจัย ที่ผมเป็นหัวหน้าโครงการ (ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน สสค.) ได้คัดเลือก 100 หนังสือดีเพื่อการพัฒนาคุณภาพเยาวชนไทยได้แล้ว ในที่นี้ผมจะยกตัวอย่างบางชื่อเรื่องและตั้งข้อสังเกตโดยสังเขป คณะนักวิจัยทั้ง 6 คน จะได้อภิปรายเกี่ยวกับเหตุผลของการคัดเลือกและคุณค่าของหนังสือทั้ง 100 ชื่อเรื่อง/ชุด ในวันพฤหัสที่ 25 ตุลาคม 2555 เวลา 9.00-12.00 น. ที่ห้องมีตติ้งรูม 4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เราเลือกเฉพาะหนังสือที่คนไทยแต่ง ไม่รวมหนังสือแปล เพราะอยากส่งเสริมผู้เขียนที่เป็นคนไทยและส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยได้อ่านเรื่องราวที่ผลิตขึ้นในสังคมของตนเอง แม้เราจะเห็นว่าเด็กและเยาวชนไทยควรได้อ่านวรรณกรรมเด็กและเยาวชนดีๆ ที่แปลมาจากต่างประเทศ ที่มีเนื้อหาสาระและคุณภาพสูงด้วยเช่นกัน
เราแบ่งหนังสือดีเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ เด็กเล็กวัย 0-6 ปี เด็กโตวัย 6-12 ปี และเด็กวัยรุ่น 12-18 ปี โดยเลือกตามคุณภาพของหนังสือเท่าที่ประเทศไทยผลิตได้ ไม่ได้กำหนดว่ากลุ่มไหนจะเลือกกี่เล่ม ผลการคัดเลือกแบบสำรวจหนังสือที่มีอยู่ในตลาดและห้องสมุดทั้งหมดอย่างกว้างขวาง เราได้คัดเลือกหนังสือกลุ่มเด็กเล็ก 23 ชื่อเรื่อง กลุ่มเด็กโต 20 ชื่อเรื่อง และกลุ่มเด็กวัยรุ่นเยาวชน 67 ชื่อเรื่อง (บางชื่อเป็นชุดที่ดีหลายเล่ม บางชื่อเราจับคู่กันเพราะเป็นแนวเดียวกัน)
ภาพรวมคือ เรายังผลิตหนังสือสำหรับกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มเด็กโตอายุ 0-12 ปีที่มีคุณภาพได้น้อย หนังสือที่เราผลิตได้มักมีเรื่องคล้ายๆ กันหรือเป็นเรื่องทำนองสาระบันเทิงให้ความรู้ด้านต่างๆ แต่ไม่ได้มีคุณค่าทางวรรณศิลป์สูงนัก เนื่องจากนักเขียน นักทำหนังสือเด็กของเรายังมีน้อย และยังพัฒนาได้ไม่มาก เมื่อเทียบกับบางประเทศที่มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาการในเรื่องนี้มากกว่าเรา (มีการแปลเป็นไทยอยู่ส่วนหนึ่ง)
หนังสือสำหรับเด็กเล็ก คือเรื่องเล่าหรือนิทานประกอบภาพที่เป็นเรื่องง่ายๆ ที่เด็กพอจะเข้าใจแบบเชื่อมโยงได้ เน้นรูปภาพประกอบ มีถ้อยคำน้อย ใช้ภาษาง่ายๆ อาจเป็นคำกลอนที่มีสัมผัส ซึ่งช่วยในการเรียนรู้เรื่องจังหวะ ความไพเราะ และการชื่นชมภาษาและวรรณกรรม ภาพประกอบควรสวยงาม น่ารัก สื่อความหมายได้ดี เราเริ่มจากบทกลอนกล่อมเด็กและบทปลอบเด็กที่แม้นมาส ชวลิต เป็นผู้รวบรวม (พิมพ์ใหม่โดยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2548.) คู่กับไม้อ่อนย่อมดัดได้ดั่งใจ ของสำนักพิมพ์ธารปัญญา เพราะเราอยากเรียกร้องให้พ่อแม่สมัยใหม่เห็นความสำคัญของการร้องหรืออ่านบทกลอนให้ลูกฟัง หนังสือเด็กเล็กอื่นๆ มีเช่น หนูน้อยพลอยเพลิน นุ่มนิ่มจอมซน ราชากะฤๅษี ความรัก ขอหนูหลับหน่อย กุ๋งกิ๋ง ชุดไดโนน้อย เป็นอะไรดีหนอ หัวใจแปลงร่าง ฯลฯ 
สำหรับเด็กโตหน่อยที่เริ่มอ่านหนังสือออกแล้ว (วัย 6-12 ปี) พวกเขาก็ยังคงชอบการ์ตูนและนิยายภาพอยู่ แต่เป็นหนังสือที่มีเรื่องราวเพิ่มขึ้น มีความยาวเพิ่มขึ้นได้ วรรณกรรมประเภทนิทานนอกจากจะเป็นเรื่องอ่านสนุกแล้ว ยังช่วยให้เด็ก (และผู้ใหญ่ด้วย) เข้าใจชีวิตและสังคม เกิดความใฝ่ฝันจินตนาการ รวมทั้งเรียนรู้คติธรรมในการอยู่ร่วมกันในสังคม ในกลุ่มนี้มีหนังสือที่มีภาพสวยๆ เรื่องเนื้อหาดีหลายเรื่อง เช่น ตาคมจับยักษ์ ชุดนิทานไทยโดยศิลปินมีชื่อเสียง โดย สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก ชุดนิทานแสนรักจากนักเขียนเอก โดย สำนักพิมพ์แฮปปี้คิดส์ เป็นต้น เด็กที่เริ่มอ่านหนังสือได้เก่งจะอ่านนิทานที่มีถ้อยคำโดยมีภาพประกอบน้อยหรือไม่มีภาพประกอบเลยได้เพิ่มขึ้น เราได้เลือกนิทานพื้นบ้าน ของ ธวัช ปุณโณทก นิทานเสียวสวาสดิ์ของชาวอีสาน เรียบเรียงโดย คำหมาน คนไค พระเจ้าห้าร้อยชาติ นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก โดย ธรรมสภา และนิทานไทลื้อในมณฑลยูนนาน เป็นต้น 
วรรณกรรมสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน 12-18 ปี เรามองกว้างถึงวรรณกรรมดีๆ ที่ไม่ได้มีตัวละครเป็นเด็กเยาวชน แต่มีเนื้อหาสาระที่เด็กและเยาวชนน่าจะได้เรียนรู้ด้วย ที่เราเลือกมามีทั้งการ์ตูน เช่น ลิ้นชักแห่งความทรงจำ ของ อิทธิวัฎภ์ สุริยมาตย์ หมอเสม คนดี 4 แผ่นดิน ชีวประวัติศรีบูรพา ฉบับการ์ตูน ผลิตโดย สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก เรื่องสั้น/นิทาน เช่น วรรณมาลัย รวมเรื่องสั้นนักเขียนไทย 41 คน โดยกระทรวงวัฒนธรรม แก้วหยดเดียว ของศรีดาวเรือง เส้นสมมุติ ของวินทร์ เลียววาริณ เจ้าหงิญ โดย บินหลา สันกาลาคีรี ฯลฯ
นวนิยายมีหลายเรื่อง ทั้งวรรณกรรมที่มีตัวละครเป็นเด็กและเยาวชน เช่น วัยฝันวันเยาว์ ของ พิบูลย์ศักดิ์ ละครพล ความสุขของกะทิ ของ งามพรรณ เวชชาชีวะ เศษกระดาษ ของ สองขา ขวัญสงฆ์ ของ ชมัยภร แสงกระจ่าง ฯลฯ และวรรณกรรมผู้ใหญ่ที่เยาวชนวัยนี้น่าจะได้อ่านด้วย เช่น นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เรื่องกรุงแตกยศล่มแล้ว ของสุจิตต์ วงษ์เทศ คนดีศรีอยุธยา ของเสนีย์ เสาวพงศ์ รัตนโกสินทร์ ของ ว.วินิจฉัยกุล เรื่องที่เป็นนวนิยายแฟนตาซีอย่าง ผู้เสกทราย ของ ลวิตร์ สุสานใต้ดวงดาว ของ สมเถา สุจริตกุล และนวนิยายที่สะท้อนปัญหาสังคม เช่น รุสนี ของ มนตรี ศรียงค์ เรื่องชะตากรรมที่ยากลำบากของชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และโลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ เรื่องเกี่ยวกับชาวพม่าผู้ลี้ภัยมาประเทศไทย นวนิยาย 2 เรื่องหลังนี้เข้ารอบ 7 เล่มสุดท้ายรางวัลซีไรท์ปีนี้ด้วย และเราเห็นว่าเป็นนวนิยายดีกว่านวนิยายเรื่อง คนแคระ ที่ได้รางวัลซีไรท์ปีนี้ไปอย่างน่าประหลาดใจ
ในแง่บทกวี เราเลือกงานรวมเล่ม จากบทกวีที่เด่นๆ ของกวีหลายคน มา 2 เล่ม คือ กาญจนกานท์ รวมบทกวีวรรคทอง พิมพ์โดย กระทรวงศึกษาธิการ และบทกวีคัดสรรตุลาวรรณกรรม โดย มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลาคม
เรายังได้รวมงานเชิงชีวประวัติ ความเรียง สารคดี ที่เขียนได้น่าอ่านและมีเนื้อหาดี ครอบคลุมความรู้ด้านต่างๆ ทั้งประวัติศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม สังคม ฯลฯ เด็กและเยาวชนไทยควรได้รู้ เช่น ชีวิตทนง เรียบเรียงโดย ภาณุมาศ ภูมิถาวร เอดส์ไดอารี โดย แก้ว เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก โดย ทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา วันที่ถอดหมวก ของ เสกสรร ประเสริฐกุล เดินสู่อิสรภาพ ของ ประมวล เพ็งจันทร์ ฯลฯ ผ่ามิติจินตนาการ โดย ชัยวัฒน์ คุประตกุล นิทานเซ็น ของ พุทธทาส และ ชาล้นถ้วย ของ ว.วชิรเมธี พุทธสาวก พุทธสาวิกา โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก ฯลฯ 
(ดูรายชื่อทั้ง100ได้ที่ http://goodbooksforthaichildren.blogspot.com/, https://www.facebook.com/โครงการหนังสือดี 100 เล่มเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทย)