เราเคยชมการแสดงชุด Pichet Klunchun and Myself ด้วย และไม่ใช่ชมธรรมดา แต่ไปชมถึงดิสนีย์คอนเสิร์ตฮอล อันเป็นโรงมหรสพประจำนครลอสเองเจลิส ชอบการแสดงชุดนั้น แม้ว่าจะมีที่ติอยู่บ้าง มันดีในฐานะการเต้นสมัยใหม่ (Modern dance) ซึ่งแทรกละครไว้นิดหน่อย แต่ถ้ามองมันในฐานะละครซึ่งแทรกการเต้นสมัยใหม่ลงไป ยังถือว่าสอบไม่ผ่านในบางจุด
กระนั้นก็ตามต้องยอมรับว่าศิลปินศิลปาธร พิเชษฐ กลั่นชื่น เป็นนักเต้นรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองอย่างมาก และน่าจะเป็นผู้เปิดหน้าต่าง นำแสงสว่างและอากาศบริสุทธิ์เข้ามาในแวดวงนาฏศิลป์ไทยอันคร่ำครึและเงียบเหงา
พิเชษฐ กลั่นชื่น: ทางไปสู่การอภิวัฒน์นาฏศิลป์ไทย คือสรุปสัมนาวิเคราะห์ผลงานของคุณพิเชษฐ พูดอีกอย่างมันก็คือการถอดเทปการสัมนาซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องประชุมสกว. วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2549 ถ้ามองในฐานะความเป็นหนังสือแล้ว ถือว่ามักง่ายทีเดียว กระนั้นก็ยังดีที่หนังสือเล่มนี้มีบทความของอาจารย์ปาริชาติปะหน้าปะหลัง บทความทั้งคู่ล้วนน่าอ่าน น่าเก็บไปคิดตาม
อาจารย์ปาริชาติพูดถึงอคติที่นาฏศิลป์ส่วนกลางมีต่อนาฏศิลป์ท้องถิ่น ที่มาที่ไปของมัน และเหตุใดอคติตัวนี้ถึงไม่อาจนำไปสู่การพัฒนา สร้างสรรค์แวดวงนาฏศิลป์ไทยได้ เราเห็นด้วยกับอาจารย์ แต่อยากเสริมอีกเรื่องหนึ่ง อคติที่อาจารย์พูดถึงนี้เป็นอคติในเชิงสถานที่ (space) เรารู้สึกว่ามันมีอคติเรื่องเวลา (time) ด้วยซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน และในบริบทการแสดงของคุณพิเชษฐ อคติทางด้านเวลาอาจมีบทบาทยิ่งกว่าเสียด้วยซ้ำ เราขอนิยามอคติทางด้านเวลาไว้ง่ายๆ ว่าเกิดจากความเชื่อว่าวัฒนธรรมไทยหมายถึงอะไรก็ตามที่มีมาแต่โบราณ และการสืบสานวัฒนธรรมก็คือการปลุกผีของเก่าในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่ามันจะหลุดจากบริบทของชีวิตประจำวันสักแค่ไหนก็ตาม
กล่าวคือถ้าสังคมทุนมันไม่เอื้อให้ผู้คนเสพอะไรเชื่องช้าอย่างนาฏศิลป์ หรือดนตรีไทย เราก็โทษว่าเป็นความผิดของสังคมทุน เพราะอัตลักษณ์ของความเป็นไทย มันถูกกำหนดไว้แล้วว่าต้องเชื่องช้า
ไอเดียนี้ค้านกับหลักมานุษยวิทยาหลังสมัยใหม่ ตัวอย่างง่ายๆ จากการแสดงของคุณพิเชษฐคือการใช้แสงสปอตไลท์มาช่วยขับเงาให้ท่วงท่านักแสดงโดดเด่นขึ้น แน่นอนว่าสิ่งนี้ไม่มีอยู่ในวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม แต่ถ้าไม่รู้จักดัดแปลงเอาอุปกรณ์สมัยใหม่เข้ามาใช้ แล้วดึงดูดคนหนุ่มสาวไม่ได้ ก็อย่าหาว่าไม่เตือนก็แล้วกัน!
ที่มา บล็อกLaughable Loves