คำนำสำนักพิมพ์

เรารู้อยู่แล้วว่าแม่อายุ ๘๘
ใครเคยอ่านนวนิยายแปลญี่ปุ่น เรื่อง ‘โตเกียวทาวเวอร์ แม่กับผมและพ่อในบางคราว’ บ้าง   โตเกียวทาวเวอร์  เขียนโดย ลิลี่ แฟรงกี้ (นามปากกาของนาคางาวะ มาซายะ)   เป็นนวนิยายที่ได้รับรางวัล ฮอนซะไทโช ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับหนังสือที่ร้านค้าอยากวางจำหน่ายมากที่สุด โตเกียวทาวเวอร์สร้างเป็นภาพยนตร์โดย โจจิ มัทซูโอกะ  (ปี ๒๐๐๗)   และได้รับรางวัล Japan Academy Award ถึง ๕ รางวัล ซึ่งรวมทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมด้วย เรื่องราวของโตเกียวทาวเวอร์ ช่างคล้ายกันเหลือเกินกับ ‘เรารู้อยู่แล้วว่าแม่อายุ ๘๘’ เพราะนี่คือเรื่องเล่าจากลูกผู้เล่าถึงความทรงจำเกี่ยวกับแม่ที่สู้ชีวิต เล่าในห้วงขณะที่เป็นช่วงสุดท้ายของชีวิตแม่ ก่อนที่แม่จะจากไปทิ้งไว้เพียงความทรงจำและความระลึกถึง  
     ‘เรารู้อยู่แล้วว่าแม่อายุ ๘๘’ เป็นเรื่องเล่าจากชีวิตจริงของผู้เขียน – ชมัยภร แสงกระจ่าง ในห้วงเวลาหลังการสูญเสียแม่ผู้เป็นที่รัก และเป็นคนสำคัญอย่างยิ่งในชีวิต  ผู้เขียนเล่าย้อนไปถึงความทรงจำวัยเด็กเกี่ยวกับแม่ จนมาถึงช่วงเวลาที่พบว่าแม่เป็นโรคที่รักษาไม่หาย ชีวิตในช่วงเวลาที่เหลือน้อยลงทุกที เป็นทั้งความทุกกข์ใจ และสุขใจ  แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การทำใจ” ให้รู้ว่า ชีวิตเมื่อดำเนินมาถึงปลายทาง เราจะทำอย่างไร
     แม้นี่จะเป็นเรื่องจริงเหลือเกินของชีวิต แต่การจะ ‘เข้าใจ’ และ ‘ยอมรับ’ ช่างยากเย็นแสนสาหัส การทำใจยอมรับความสูญเสีย และการปล่อยวางตนเอง ให้พ้นไปจากความรู้สึกผิด เป็นเรื่องที่มนุษย์ทำได้ยากยิ่ง  ผู้เขียนได้ถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของตนเองลงในหนังสือเล่มนี้  ซึ่งในอีกมุมหนึ่งก็อาจจะเป็นการ ‘ทำใจ’ ยอมรับความจริงผ่านตัวอักษรด้วยเช่นกัน แต่เป็นการทำใจที่ทำให้ผู้อ่านจะต้องมองย้อนกลับมาดูตนเอง และถามตนเองว่า เวลาที่เรายังเหลืออีกมาก เราจะทำอย่างไรกับคนที่เรารัก 
     สำหรับการจัดพิมพ์ ‘เรารู้อยู่แล้วว่าแม่อายุ ๘๘’ เล่มนี้ สำนักพิมพ์คมบาง ขอมอบรายได้ให้กับกองทุนครูบัวขาว และห้องสมุดบัวขาว จ. จันทบุรี อันเป็นโครงการริเริ่มของคุณชมัยภร แสงกระจ่าง  และนักอ่านท่านใดต้องการสนับสนุนโครงการกองทุนครูบัวขาว และห้องสมุดบัวขาว ด้วยการสั่งซื้อหนังสือไปเพื่อกิจกรรมการอ่าน หรือกิจกรรมส่วนตัว สามารถสั่งซื้อได้โดยตรงที่ สำนักพิมพ์คมบาง โทรศัพท์ ๐๒๓๖๘๒๑๘๒  หรือ อีเมล์ [email protected]
     หวังว่า ‘เรารู้อยู่แล้วว่าแม่อายุ ๘๘’ จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน ในทางกายและทางใจ
…………………………………………………..
จากผู้เขียน
เราอยู่แล้วว่าแม่อายุ ๘๘
แม่จากไปจะครบปีในเดือนกุมภาพันธ์นี้แล้ว  แต่ฉันก็ยังรู้สึกเหมือนว่าแม่ยังอยู่กับเรา  ทุกครั้งที่ไปบ้านจันท์  ฉันจะไปนอนบ้านแม่ ห้องแม่ ปูเสื่อนอนหน้าเตียงแม่ที่เดิม  บนเตียงก็ยังเหมือนมีแม่นอนอยู่  แต่บนข้างฝาที่มีรูปแม่แขวนอยู่  และโกศลายไทยสวยงามที่ตั้งหน้ารูปแม่บอกฉันว่า ความฝันก็คือความฝัน ความจริงก็คือความจริง แยกออกจากกันแล้วโดยสิ้นเชิง  แม่ไม่มีตัวตน ไม่มีร่างกาย จับต้องกอดร่างของแม่ไม่ได้แล้ว  แต่สำหรับเราลูกทั้งสามคน แม่ก็ยังมีจิตวิญญาณ ยังโอบอุ้มประคับประคองและเฝ้าดูเราอยู่อย่างไม่รู้เบื่อ
หลังจากแม่จากไปได้ ๑๑ เดือน ฉันได้มีโอกาสไปอบรมเรื่อง วิถีสู่ความตายอย่างสงบ กับพระไพศาล วิสาโล กับคณะ ที่บ้านน้ำสาน ของคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ที่ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่  ซึ่งมีหลักสูตรให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้จักความตาย ภาวะใกล้ตาย และการปฏิบัติตนทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น  การอบรมมีทั้งหมด ๕ วัน มีทั้งเนื้อหาสาระเกี่ยวกับความตายและการทดลองปฏิบัติเกี่ยวกับการทดลองตาย และการดูแลคนอื่นที่อยู่ในภาวะใกล้ตาย  ความรู้และกิจกรรมทั้งหมดที่ได้รับการอบรมทำให้ฉันได้มีโอกาสทบทวนชีวิตของตนเองกับแม่ ทั้งในส่วนที่ทำถูกและในส่วนที่ทำผิด  สรุปได้ว่า อย่างน้อยเจ็ดสิบห้าเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ฉันและพี่น้องได้ทำให้แม่ดีแล้ว  ความรู้สึกเสียใจ และสำนึกผิดที่ไม่ได้อยู่กับแม่ในวาระสุดท้ายจึงค่อยคลายจางลงไปบ้าง  ยิ่งมีเพื่อนเข้ารับการอบรมค้างคาใจเรื่องไม่ได้อยู่กับพ่อหรือแม่ในวาระสุดท้ายกันเป็นส่วนใหญ่ ฉันก็ยิ่งรู้สึกผิดน้อยลง  และเห็นว่า คงเป็นธรรมดาเสียแล้วที่เราปฏิบัติกันไม่ถูก  เพราะความตายที่มาเยือนเราผ่านพ่อหรือแม่นั้นเป็นความตายแบบใกล้ชิดที่เรามักจะพบเจอกันเป็นครั้งแรก
เมื่อเรื่องตีพิมพ์ในสกุลไทยจบลง  มีนักอ่าน แฟนคลับ คนที่รักแม่ทั้งหลายต่างแสดงปฏิกิริยาชื่นชม เพราะทุกคนต่างก็รักแม่รักพ่อ  และมีภาวะของท่านทั้งสองไม่ต่างกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีแม่เป็นครูเหมือนฉัน  “ต้อยติ่ง” นักเขียนเรื่องเด็ก ที่มีแม่เป็นครูเหมือนกัน โทรศัพท์มาบอกตั้งแต่เรื่องนี้ตีพิมพ์ในตอนแรกๆแล้วว่า  แม่เราเหมือนกันแทบทุกอย่างเลย ทั้งความคิดและพฤติกรรม  และอีกหลายคนก็มายืนยันเช่นเดียวกัน
ฉันอยากให้ “เรารู้อยู่แล้วว่าแม่อายุ ๘๘” เป็นอุทาหรณ์สำหรับลูกทุกคนว่าเขาควรจะยินดี ตราบใดที่ยังมีแม่หรือพ่ออยู่ในความดูแล  เพราะนั่นหมายความว่า เรายังมีโอกาสจะได้แสดงความกตัญญู  เพราะเมื่อท่านจากไปแล้ว  เราจะรู้สึกว่าชีวิตส่วนหนึ่งหายไปเสียแล้วอย่างน่าเสียดาย
ชมัยภร แสงกระจ่าง
๑๔ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๕