ในฐานะแม่ค้า ฉันย่อมต้องเล็งเห็นว่า ในงานสัมมนานักเขียน ฉันต้องเอาหนังสือดีๆ ของสำนักพิมพ์คมบาง ชมนาด หวีกล้วย (ของเรา) ไปขาย และแน่นอน ฉันก็ย่อมต้องทำสกู๊ปมาให้แฟนเว็บคมบางอ่าน เฮ้อ หน้าที่หลายซับหลายซ้อนเนอะ ยังไม่รวมว่า ต้องถ่ายรูปและอัดเสียงให้คุณชมัยภร นายกสมาคมนักเขียนด้วย อิอิอิ

“ไกล…นะ….” เด็กสาวชาวนครศรีแถวบ้าน (ที่ชื่อสาวด้วย) บอก “ ก็สัก 12 ชั่วโมงน่ะเจ๊” (เออ.. เดี๋ยวนี้ฉันเป็นระดับเจ๊แล้วนะ จะบอกให้) “ค่าน้ำมันก็ 3-4 พันบาท”
นั่นเป็นรายจ่ายที่เราในฐานะแม่ค้าต้องเอามาคำนวณว่าการเดินทางครั้งนี้จะคุ้มหรือไม่ แต่ด้วยความที่ฉันไม่เคยเรียนวิชาบัญชี กำไร ต้นทุน จึงคำนวณไม่ถูก และในที่สุดก็ตัดสินใจตามอารมณ์ว่า “ยังไงก็ต้องไป เกิดมาไม่เคยไปสักที ไม่มีทางขาดทุนแน่นอน” (ฮา….)

ฉันนัดแนะกันเป็นมั่นเป็นเหมาะ กับ พี่พู อุรุดา โควินท์ อาศัยว่าในฐานะนักเขียนที่ไปอยู่นครมานาน 5 ปี พี่อุรุดา คงเป็นผู้นำทางที่ดีแน่นอน

ออกจาก กรุงเทพ 6 โมงครึ่ง เช้าแจ่ม อากาศดีมาก (แดดร้อนสุด) เรา 3 คน คือฉัน พี่พู และหนุ่มขัยรถ นั่งคุยมาตลอดทาง อันที่จริง ฉันกับพี่พูต่างหากที่คุยกัน ผู้ขับรถแทบไม่ได้เอ่ยว่าอะไร นอกจากว่า “หิวข้าวไหม” (ตอนนั้นเฮียแกหิวท้องกิ่วแล้ว) กับ “เฮ้ย …คนแถวนี้เขาไม่เยี่ยวกันบ้างเรอะ” (เป็นตอนที่ข้างทางไม่มีปั๊มน้ำมันสักปั๊มให้จอดเข้าส้วม เพราะเฮียแกปวดเต็มที)

แล้วพี่พู ผู้นำทาง ก็มัวแต่คุยกับฉันเพลิน จนลืมมองทางเลี้ยว ที่จะไปออกพรหมคีรี ที่ใกล้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีรรมราช เราก็เลยตรงลิ่วเข้าเมืองนคร

ระหว่างทางพี่พูชี้ที่โรงพยาบาลข้างทาง แล้วพูดขึ้นลอยๆ ว่า “นี่ไง โรงพยาบาลนี้ที่พี่กนกพงศ์ตาย” เลยมาอีกสักหน่อย พี่พูดพูดว่า “เชื่อมั้ย ตอนนั้นพี่ขับรถคนเดียว มาที่โลตัส ซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ให้พี่กนกพงศ์ พี่เขาต้องใส่ชุดใหม่ เป็นความเชื่อ” เงียบไป ก่อนจะบอกว่า “ ไม่น่าเชื่อนะว่าพี่ขับได้ ไม่รู้ทำได้ไง ตอนนั้นมีหลายอย่างที่พี่ไม่คิดว่าพี่จะทำได้”

ฉันเงียบ ไม่รู้จะพูดอะไรต่อ นอกจากทำเป็นมองป้ายโฆษณาจตุคามรามเทพ สองข้างทาง
ก็เป็นโอกาสดีที่เราเข้าเมืองนครฯ เราได้ (ขับรถผ่านไป) ไหว้พระบรมธาตุด้วย

หกโมงเย็นกว่าๆ ที่เรามาถึง “เคียงคีรี” โรงแรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช พี่ปริทรรศ หุตางกูร มารับเราในสภาพหล่อแบบยุ่งๆ มาพร้อมกับเพื่อนหนุ่มผมยาวหยิกฟู ที่ชื่อว่า พี่แจ๊ซซ์ พี่แจ๊ซซ์เป็นศิลปินค่ะ ไม่ได้อยู่สายนักเขียนกับเขาหรอก

ร้านอาหารร้านแรกของเราในนครศรีธรรมราช คือ ทายสิ…
ร้าน ลาบยโสธร…. ส้มตำ ลาบ น้ำตก ตับหวาน รสชาติยโสโอหังมากๆ แซ่บอีหลี ปลาร้าหอมหวล ถูกใจจริงๆ ค่ะ

เราได้เจอ พี่จิระ อุ่นเรืองศรี ที่ร้านนี้ล่ะค่ะ

เช้าวันรุ่งขึ้น เข้าสู่เทศกาล เปิดขุมกำลังนักเขียนใต้

27 กค. 2550

กิจกรรมวันแรก เป็นงาน 25 ปี กลุ่มนาคร

ช่างยาวนานเหลือเกิน ตั้ง 25 ปี กลุ่มนาครอายุยืนมาถึงวันนี้ นักเขียนกลุ่มนาครที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยึดโยงชื่อของกลุ่ม ก็คือ กนกพงศ์ สงสัมพันธุ์ นักเขียนซีไรต์ ผู้ล่วงลับ และ ไพฑูรย์ ธัญญา หรือ ผศ. ธัญญา สังขพันธานนท์ ที่ปัจจุบัน ไปสร้างงานสร้างคนอยู่ที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เอาเข้าจริง กลุ่มนาครก็มีเรื่องราวชื่อเสียงในวงไม่กว้างนัก ดูเหมือนหัวเรือฝ่ายผลักดันความเคลื่อนไหวของกลุ่ม เห็นจะเป็น เจน สงสมพันธุ์ พี่ชายของกนกพงศ์

25 ปี กลุ่มนาคร ตั้งประเด็นใหญ่ไว้ว่า “เขียนชนบท”
เวทีเสวนาถกกันถึงภาพชนบท ในงานของกลุ่มนาคร แพทริก โจรี่ นักวิชาการ ภูมิภาคเอเชียศึกษา จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตั้งข้อสังเกตว่า งานเขียนของกลุ่มนาครดูเหมือนว่า ปฏิเสธความทันสมัย ให้ความสำคัญกับความเป็น pre modern

เวียง วชิระ ขึ้นเวที ยั้งๆ ฝีปากสักเล็กน้อย ก่อนลงท้ายด้วยการวิจารณ์งานเขียนของกลุ่มนาครในท่วงท่าแบบบรรณาธิการงานถนัด

ข้างฝ่ายพี่ใหญ่แห่งนคร จำลอง ฝั่งชลจิตร ขึ้นเวทีสับงานเขียนเล่มใหม่ของอัตถากร บำรุง เสียยับ ในข้อหาเป็นพวก “เสียดายข้อมูล” และ “ผีปัญญาชน” เข้าสิง

ส่วนจรูญพร ปรปักษ์ประลัย กับนฤมิตร สอดสุข ขึ้นเวทีวิเคราะห์ผลงานของไพฑูรย์ ธัญญา และกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ จรูญพร มองต่างจากพี่เวียง ว่า งานของ ไพฑูรย์ มีพัฒนาการในทางที่เติบโตขึ้น มีมุมมอง และคำตอบให้กับสังคมมากขึ้น ส่วนอาจารย์นฤมิตร ยกตัวอย่าง โลกใบเล็กของซัลมาน ของกนกพงศ์ ว่าเป็นเรื่องสั้นที่แสดงมุมมองของความคิดแบบยุคหลังอาณานิคม ที่เฉียบคมเรื่องหนึ่ง และจรูญพร มองงานยุคหลังของกนกพงศ์ว่า เป็นงานที่ดี ใกล้จะถึงเวลาสุกงอม เกือบจะถึงแล้ว แต่เสียชีวิตเสียก่อน งานของกนกพงศ์ ยุคหลังเป็นงานที่ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของชนบท มองปัจจุบันอย่างวิเคราะห์ มองสิ่งที่เป็นอยู่ และกำลังจะเปลี่ยนไป ก่อนจะปิดท้ายว่า การพูดถึงชนบทในวรรณกรรม อาจจะเป็นแค่ “วาทกรรม” หนึ่ง เท่านั้น คำว่าชนบท อาจจะไม่มีจริงแล้ว มันไม่มีชนบทอยู่แล้ว

ไพฑูรย์ ธัญญา ขึ้นเวที ชุดส่งท้าย ในการกล่าวถึงภาพชนบทในงานเขียนอีกครั้ง ก่อนจะเปิดเวทีวิจารณ์งานของกลุ่มนาคร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเสียงชื่นชม

สำหรับน้องๆ นักอ่าน ก็แอบพลิกหนังสืออ่านยาก (ของแปลก) นักอ่านคอแข็งเท่านั้นที่ยอมควักกระเป๋าสตางค์ค่ะ

ค่ำนี้ เลี้ยงอาหารมื้อใหญ่ อาหารปักษ์ใต้รสเลิศ และเริ่ดหรูด้วยแกงแพะ ที่มาตอนใกล้ๆ อิ่มแล้วล่ะ แถมด้วยมินิคอนเสิร์ตจาก พี่จ๊อบ บรรจบ เร็กเก้ไทยผู้โด่งดังจากภาพยนตร์เรื่องพลอย ในฐานะเพลงประกอบ

28 กค. 2550
เช้าในต่อมา เป็นงาน สัมมนานักเขียนสี่ภูมิภาค โดย สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

เช้าวันนี้ ไม่รู้ว่าเมื่อคืน กวีนักเขียนใต้ทั้งหลาย “ดึกไปหน่อย” หรืออย่างไร เพราะเช้ามา ดูหายๆ ไปบ้าง โดยเฉพาะสายกลุ่มนาคร และกลุ่มคลื่นวรรณกรรม ที่เมื่อวานมาตั้งโต๊ะขายหนังสือด้วย รมณา โรชา บอกไว้แล้วว่า จะไปทำค่ายเยาวชน ส่วน กานติ ณ ศรัทธา ไม่ทราบว่าไปด้วยกันหรือเปล่า แถมด้วย วิสุทธิ์ ขาวเนียม ก็ไปกับเขาด้วย (มั้ง) ส่วนพี่จำลอง ทราบว่าภรรยาเข้าโรงพยาบาล (ตั้งแต่วันวาน) ขออวยพรให้หายเจ็บหายป่วยโดยเร็วด้วยค่ะ

ฝ่ายสมาคมนักเขียนมากันครบ นำโดย ชมัยภร แสงกระจ่าง เจน สงสมพันธุ์ ขจรฤทธิ์ รักษา ดล ปิ่นเฉลียว พิเชฐ แสงทอง โสภา ไชยวรรณ และ พินิจ นิลรัตน์

เปิดรายการด้วยปาฐกถานำเรื่อง “พลังอำนาจและสิ่งสร้างวรรณกรรมสู่ทศวรรษหน้า”โดย สถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติ อาจารย์สถาพร เชื่อมั่นในพลังแห่งอัตวิสัยของนักเขียน ว่าจะสร้างสรรค์งานสิ่งที่แตกต่างจากงานกระแสหลักทางสังคมได้

จากนั้น รศ. สรณัฐ (อิราวดี) ไตลังคะ (อาจารย์จะเปลี่ยนชื่อให้หนูงงทำไมคะเนี่ย) บรรยายเรื่อง “ปัญหาวรรณกรรมท้องถิ่นถึงวรรณกรรมโลก” อาจารย์เน้นข้อมูลในเชิงลึก นักเขียนควรมีข้อมูล ต้องทำงานหนักในเชิงข้อมูล ทำงานวิจัย (หมายถึงการหาข้อมูลอย่างละเอียด) และต้องเก่งในการนำข้อมูลมาเล่าเรื่อง

ชมัยภร แสงกระจ่าง บรรยายเรื่อง ปัญหากวีร่วมสมัย / โพสต์โมเดิร์น เน้นที่การร่ายเรียงความต่างและโดดเด่นของกวีแต่ละสมัย

จากนั้นเป็นเสวนากลุ่มย่อย ภาคใต้น่าแปลกนะคะ ที่เขาจัดไว้แค่ 3 กลุ่ม คื่อ เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และ นวนิยาย ไม่มีสารคดีค่ะ

แอบแว้บไปดูแต่ละห้องมาด้วย ห้องนวนิยาย ชมัยภร แสงกระจ่าง นั่งคุมเสวนาเอง มีปริทรรศ หุตางกูร อุรุดา โควินท์ ขจรฤทธิ์ รักษา นก ปักษนาวิน ไพบูลย์ พันธุ์เมือง ศักดิ์ชัย ลักคนาวิเชียร ห้องเรื่องสั้นใหญ่กว่าเพื่อน นำโดย เจน สงสมพันธุ์ เวียง วชิระ ยังไปสังเกตการณ์ นักเขียนกลุ่มนครส่วนใหญ่ (มาแล้ว มาทันเวลาเข้ากลุ่ม) ชิด ชยากร รัตนชัย มานะบุตร ส่วนกลุ่มกวีนิพนธ์ มี วินัย อุกฤษณ์ พินิจ นิลรัตน์ จิระ อุ่นเรืองศรี

เมื่อกลับมาเข้ากลุ่มเพื่อสรุปผลการเสวนากลุ่มย่อย จับประเด็นใหญ่ๆ ได้ ว่า ปัญหาของงานเขียน ส่วนใหญ่นักเขียนใต้ให้ความสำคัญกับเรื่อง หนังสือขายไม่ได้ (หมดกำลังใจเขียน) จึงนำเสนอแนวคิดให้สมาคมนักเขียน ในการสร้างกลุ่มคนอ่าน แนวคิดน่าสนใจ คือเรื่อง การทำแอนโธโลจี้ต่างๆ การทำรายชื่อหนังสือควรอ่าน จากสมาคมนักเขียน ข้อเสนออีกประเด็น คือเรื่องเกี่ยวกับรางวัลซีไรต์ ที่เสนอให้เปิดให้มีการเสนอชื่อกรรมการ เพื่อความโปร่งใสของกรรมการ เรื่องซีไรต์ดูจะมีการกล่าวถึงมากพอควร

ปิดท้าย ชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ตอบทุกประเด็นข้อสงสัยค่ะ

29 กค. 2550
นักเขียนไทย พบนักเขียนมาเลเซีย

นับเป็นครั้งแรกที่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ประชุมกับ สมาคมนักเขียนมาเลเซีย

ฝ่ายไทย ก็นำโดย ชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคม และเจน สงสัมพันธ์ เลขาธิการสมาคม ฝ่ายมาเลเซีย นำโดย S M Zakir เลขาธิการสมาคมนักเขียนมาเลเซีย ผศ. ธัญญา สังขพันธานนท์ เป็นผู้ดำเนินรายการสัมมนา และมี อ. อับดุล ราซัค เป็นล่ามแปลภาษาไทย เป็นมลายู คู่กับ อาจารย์สาวอีกคน ที่แปลภาษามลายูเป็นไทย

สภาพวรรณกรรมมาเลเซีย คึกคักขึ้นมาหลังจากได้รับเอกราช และมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัย สมาคมนักเขียนมาเลเซีย ตั้งขึ้นในปี คศ . 1962 กลุ่มนักเขียนมาเลเซียในระยะแรก ใช้งานเขียนในการสร้างชาตินิยม จกานั้น เมื่อมีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย จึงเกิดนักเขียนใหม่ขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรียนด้านวรรณกรรมโดยตรง

ปัญหาของนักเขียนมาเลเซีย ก็คือ เนื่องจากในหลักสูตรการเรียนสายวิทยาศาสตร์แบะเทคโนโลยี เรียนด้วนภาษาอังกฤษ ดังนั้น การใช้ภาษามลายูจึงลดลง คนทั่วไปไม่ให้ความสำคัญกับภาษามลายู จึงนับเป็นวิกฤตทางวรรณกรรม ที่นักเขียนพยายามนำเสนอทางแก้ไข และพยายามรณรงค์การใช้ภาษามยาลู

อย่างไรก็ตาม สมาคมนักเขียน ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากพอสมควร โดยเฉพาะการจัดพิมพ์หนังสือต่างๆ ซึ่ง ราชบัณฑิตของมาเลเซียมักเป็นผู้จัดพิมพ์ รวมทั้งมหาวทิยาลัยต่างๆ ที่สำคัญ มีการจัดทำงานจำพวกแอนโธโลจีมากมาย และมีการแปลวรรณกรรมจากภาษาอื่นมาเป็นภาษามลายู ซึ่งประเด็นสำคัญในการสัมมนาครั้งนี้ก็เพื่อ ต้องการเริ่มโครงการแปลวรรณกรรมระหว่างไทยกับมาเลเซีย

การสัมมนา ได้มีการตกลงร่วมกัน 3 ประการ คือ

1. จะจัดให้มีโครงการแลกเปลี่ยนนักเขียน
2.จัดให้มีการแปลงานของสองประเทศ
3. แลกเปลี่ยนความรู้ จัดสัมมนาระหว่างประเทศ

บรรยากาศเป็นกันเองค่ะ แม้ว่าจะสื่อสารผ่านล่าม แต่ก็ไม่มีปัญหา
นับว่าเป็นอีกก้าวของความร่วมมอระหว่างประเทศ
จบการสัมมนา มีเลี้ยงส่งท้ายค่ะ เป็นอาหารอร่อยๆ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

นักเขียนเริ่มแยกย้าย กลับบ้านค่ะ สายภูเก็ตโบกไม้โบกมือลา เพราะขับรถคันเดียวมาด้วยกัน (ประหยัดทันยุคน้ำมันแพง) สายกรุงเทพฯ รอขึ้นเครื่องบินกลับ ระหว่างรอ ก็เที่ยวเมืองนครศรีธรรมราชไปก่อน

เราหนีคน มานั่งที่หาดในเพลา….ก่อนจะกลับกรุงเทพ