นิทรรศการหนังสือนานาชาติไทเป 2019 (Taipei International Book Exhibition – TiBE 2019) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ – 17 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาของวันแห่งความรักพอดี ด้วยความรักดูแห้งเหือดเหลือหลาย จึงเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า ไปงานหนังสือไทเปดีกว่า เผื่อจะมีใครให้รักบ้าง

ในปีนี้สมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยได้จัด นิทรรศการ Read Thai แสดงผลงานของนักเขียนไทย 9 คน ที่มีความโดดเด่นในแต่ละด้าน โดยคัดเลือกทั้งนักเขียนรุ่นใหม่และนักเขียนรุ่นใหญ่และนักเขียนการ์ตูนและนิทาน
มาอวดสายตานักอ่าน และยังร่วมด้วยสำนักพิมพ์ที่สนใจนำหนังสือมาเปิดตลาดไทเปอีกหลายสำนักพิมพ์

ผลงานของนักเขียนไทยที่ได้รับคัดเลือกผลงานไปจัดแสดงนำขบวนมาโดย

วีรพร นิติประภา นักเขียนซีไรต์ 2 สมัย คนล่าสุด
ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์
กิ่งฉัตร นักเขียนนวนิยายชื่อดัง
อุทิศ เหมะมูล นักเขียนซีไรต์
วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนซีไรต์
นิ้วกลม นักเขียนรุ่นใหม่
ปราบต์ นักเขียนรุ่นใหม่
ทรงศีล นักเขียนนวนิยายภาพ
ชีวัน วิสาสะ นักเขียนนิทาน

ส่วนภาพรวมของงานหนังสือไทเปปีนี้มีสำนักพิมพ์จาก 52 ประเทศ รวม 735 แห่ง นำหนังสือมาร่วมจัดแสดง สำหรับเยอรมนีซึ่งเป็นแขกเกียรติยศ (Guest Of
Honor)

เนื่องจากคุณแม่ – ชมัยภร แสงกระจ่าง ได้รับคัดเลือกผลงานจัดแสดงในงานนี้ด้วย บรรณาธิการคมบาง – กว่าชื่น ในฐานะ “คุณลูก” ก็เลยถือโอกาสไปเที่ยวไทเป เพื่อเที่ยวงานหนังสือไทเปสักครั้ง ไหนๆ เพื่อนก็ไปกันหลายคน

และในปีนี้สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยได้เชิญคุณวีรพร นิติประภา ไปร่วมเสวนาบนเวทีกลาง ประเด็นสำคัญอยู่ที่การนำเสนอเรื่องพุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ด้วยเป็นนวนิยายที่กล่าวถึง“ลูกจีน” ในแผ่นดินไทย และมีเนื้อเรื่องที่เกี่ยวพันกับเจียงไคเชค และไต้หวัน

ดังนั้นงานนี้นอกจากจะมี “คุณแม่” ของกว่าชื่นแล้ว ก็ยังมี “ขุ่นแม่” ของของกว่าชื่นด้วยเพราะนับถือพี่แหม่ม-วีรพร ให้เป็น “ขุ่นแม่” ทางตัวอักษร นับแต่ได้อ่านไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตครั้งแรก แล้วร้องไห้เป็นเผาเต่าทุกสองหน้ากระดาษ และเช่นกันพุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ก็ให้ผลเช่นเดิม

สำหรับคุณแม่ชมัยภร ทีแรกก็ว่าจะมากันขำๆ อยากมาแนะนำตัวและแนะนำสำนักพิมพ์คมบางเพราะมีวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง คุณปู่แว่นตาโต เคยแปลเป็นภาษาจีน โดยทางกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพการแปลงานนี้ก็เลยถือโอกาสนำหนังสือคุณปู่แว่นตาโตฉบับภาษาจีนมานำเสนอแก่นักอ่านไต้หวันอีกรอบ แต่ไปๆ มาๆ ทางทีมผู้จัดงาน โดยน้องนก สิริธาดา คงภา ได้ทาบทามว่าจะเชิญคุณแม่ชมัยภรขึ้นเวทีร่วมกับขุ่นแม่วีรพรด้วย ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งจะทำให้สนุกขึ้นไปอีก เพราะคุณแม่ชมัยภรในอีกบทบาทนั้นเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรม และที่สำคัญเป็นกรรมการเมื่อครั้งไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ได้รางวัลซีไรต์ด้วยสิ (โดยที่คุณแม่เองก็ไม่ได้รู้ว่าคุณลูกนี่เพ้อคลั่งแทบบ้ากับเล่มนี้)

บรรยากาศงานหนังสือไทเปยิ่งใหญ่ตระการตา งานแสดงทั้งหมดกินอาณาบริเวณทั้งหมด 3 โซน แต่โซนนิทรรศการของเราอยู่ฝั่งด้านหน้าตึกไทเป 101 (สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 101)
งานหนังสือที่นี่มิได้เข้างานฟรีเหมือนประเทศไทย แต่ซื้อบัตรเช้าชมงานประมาณ 150 บาท ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ความสนใจของผู้คนลดน้อยลงมีกลุ่มทั้งคนทั่วไปและนักเรียนเข้าชมงานหนาแน่น หนังสือน่าสนใจมากมาย น่าสนใจเป็นพิเศษคือการออกแบบปกต่างๆ ของแต่ละประเทศที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์มากๆ ส่วนกิจกรรมบนเวทีนั้นมีผู้เข้าฟังตลอด

จริงๆ แล้ว ก่อนขึ้นเวทีเสวนาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เมื่อคืนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ประสานงานโดยคุณเบียร์ ได้จัดเสวนาเล็กๆ ขึ้นที่ร้านหนังสือ Brilliant Time Bookstore ในหัวข้อเดียว พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ โดยคุณแม่ชมัยภร ขึ้นเวทีร่วมกับขุ่นแม่วีรพร ร่วมด้วยน้องเบียร์ และน้องนินักแปลที่ทำหน้าที่ล่ามบนเวที (รายละเอียดจะรายงานไว้อีกบทความ ที่ต้องแยกเพราะมีรายละเอียดน่ารักๆ มากมายเกี่ยวกับร้านหนังสือร้านนี้) ในการเสวนาบนเวทีวันที่ 15 จึงมีนักอ่านตามมาจากร้านหนังสือหลายคนมาก เป็นบรรยากาศที่น่ารักมากและแสดงให้เห็นความจริงจังในการอ่านของนักอ่านไต้หวัน

การเสวนาบนเวทีกลางของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ
ดำเนินการโดย Thailand Rights Center by PUBAT ในหัวข้อ Read Thai: รู้จักไทยผ่านวรรณกรรม ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ กับ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ของ วีรพร นิติประภา ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นั้น เริ่มจากการปูพื้นรายละเอียดต่างๆ ของหนังสือและการเริ่มต้นการทำงานเขียนของขุ่นแม่วีรพร (ซึ่งเริ่มหลังจากลูกโตแล้ว) จากนั้นคุณแม่ชมัยภรได้ชี้ให้เห็นถึงความโดดเด่นในงานเขียนเรื่องไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตที่มีกลวิธีการเขียน แบบการเล่าเรื่องซ้อนเรื่องซ้อนเรื่องและมีสำนวนภาษาที่เป็นของตัวเองอย่างโดดเด่นซึ่งเป็นเล่มที่มียอดพิมพ์ถึงแปดแสนเล่มแล้ว นับว่าสูงมากเป็นประวัติการณ์วงการหนังสือของไทย

ส่วนพุทธศักราชอัสดงฯ นั้นเป็นนิยายเชิงประวัติศาสตร์ที่มีความน่าสนใจมากมีความเชื่อมโยงระหว่าง ไทย ไต้หวัน และจีน ซึ่งขุ่นแม่วีรพร ได้อธิบายความเชื่อมโยงต่างๆ เรื่องเล่าหลายเรื่องซ้อนกันในช่วงหลังสงครามโลกของครอบครัวจีนที่อพยพมาอยู่ที่เมืองไทย เรื่องของความพลัดถิ่นโยกย้าย การพลัดพราก ที่มีความเกี่ยวข้องกันยาวนานทางประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์และมองว่าหากงานเขียนไทยได้แปลเป็นภาษาจีนจะทำให้เปิดโลกเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น

งานเสวนาครั้งนี้มีนักอ่านชาวไต้หวันมานั่งรอที่เวทีกลางก่อนเวลา

คนที่นี่มีวัฒนธรรมการอ่านที่ค่อนข้างเปิด แม้จะอ่านภาษาไทยไม่ได้ ไม่เคยรู้จักนักเขียนมาก่อนแต่ทุกคนก็ตั้งใจมาฟังกันจริงๆ

หลังจบการเสวนาทั้งคุณแม่ชมัยภรและขุ่นแม่วีรพร ได้รับความสนใจจากนักอ่านไต้หวันพอสมควร โดยเฉพาะที่บูธสมาคมผู้จัดพิมพ์นักอ่านไต้หวันแวะเวียนมาชมทั้งยังมีสำนักพิมพ์ที่สนใจเรื่องการซื้อลิขสิทธิ์ติดตามมาศึกษารายละเอียดอีกด้วย ส่วนผลการเจรจาด้านลิขสิทธิ์จะเป็นอย่างไร คงต้องเป็นทางสมาคมผู้จัดพิมพ์รายงาน