วัดกลางเมืองอย่างวัดปทุมวนาราม น่าไปมากในวันที่กรุงเทพโล่งขนาดนี้

วัดปทุมวนารามปทุมวนาราม ราชวรวิหาร เป็นวัดที่ประดับตกแต่งลวดลายดอกบัวนาๆพันธุ์มากที่สุดในประเทศไทย…..

ฉันได้ไปถวายสังฆทาน และทำบุญ
จากนั้นเดินเที่ยวในวัด

เณรมาเปิดอุโบสถให้เข้าชมพอดี เลยได้เยี่ยมเยียนอุโบสถ ในบุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานของ พระใส พระพุทธปฏิมาประธานในพระอุโบสถ และมีภาพเขียนสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นเรื่องราวของวิถีชีวิตชาวบ้าน

จากนั้นจึงเดินไปดูในวิหาร เป็นที่ประดษฐาน พระเสริม และภายในพระวิหาร ที่เสามีภาพเขียนรูปพุทธบริษัท 4 เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

ภาพชุดนี้ถ่ายเองค่า
ส่วนประวัติวัด นำมาจากเว็บไซต์ http://203.155.220.217/pathumwan/wellpathum/watpathum.htm

ซุ้มประตูอุโบสถ

พระใส พระพุทธปฏิมาประธานในพระอุโบสถ และภายในอุโบสถ

ภาพเขียนสมัยรัชกาลที่ 4 ในอุโบสถ

เพดานลายบัวปิดทองล่องชาด บนเพดานของพระอุโบสถ

ภาพวาดวิถีชีวิตชาวบ้าน

ลวดลายในวิหาร ลายก้านแย่งประดับเสาพระวิหาร

พระเสริม ภายในพระวิหาร

ในวิหาร

ด้านนอก เณรทำความสะอาดรับปีใหม่

http://13.229.56.161/gallery/pam030109tem17.jpg

ประวัติวัดปทุมวนาราม
จากเว็บไซต์

http://203.155.220.217/pathumwan/wellpathum/watpathum.htm

ในสมัยราชการที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริถึงบริเวณนาหลวงแห่งหนึ่งซึ่งอยู่บริเวณริมคลองบางกระปิ ในพื้นที่ทุ่งพญาไท ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำมีน้ำขังตลอดเวลาและมีบัวขึ้นอยู่ทั่วไป บริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่ของชาวล้านช้างที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งแต่สมัยกบฏเจ้าอนุวงศ์ จึงมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารทำนาประกอบอาชีพกันมา มีพระราชประสงค์จะทำที่แห่งนี้ให้เป็นรมณียสถานนอกพระนคร สร้างสระบัวอันงดงามเพื่อเป็นที่เสด็จประภาสสำราญพระราชหฤทัยในยามว่างจากพระราชกิจ ในทำนองเดียวกับที่พระอินทร์ทรงสร้างสระโบกขรณีไว้ในทิศต่างๆ รอบเมืองไตรตรึงส์ทิศละ 2 สระ

ดังประกฎคำพรรณนาในหนังสือไตรภูมิโลกวินิจฉัยกถาว่า

“ในสระนั้นประดับดาษด้วยปัจพิธปทุมชาติสีขาว สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีหงสบาท บ้างตูม บ้างบาน กลีบนั้นหอมหวานเฟื่องฟุ้งบำรุงบำเรอจิตแห่งเทวบุตรแลเทวธิดาให้พิศวาสพิศวง ดอกปทุมชาติบางหมู่นั้นก็มีกลีบแลเกสรอันร่วงลง เจริญขึ้นเป็นฝักอ่อน ฝักแก่ฝักเพสลาด ผลบัวนั้นเอมโอชประหลาดอร่อยรส ทั้งรากแลเหง้าบัวนั้นก็ปรากฏเป็นทิพรสอร่อยยิ่ง ที่จะชมก็งามๆ ทุกสิ่ง พิศไหนงามนั้น ที่จะสูบก็หอมล้ำกระแจะจันทร์ หอมชื่นน่ารัก ที่จะเก็บเอามาบริโภคเป็นภักษาก็อร่อยเลิศ เหตุฉะนี้สระนั้น จึงเป็นที่ชื่นชมยินดีแห่งหมู่อมรเทพทั้งหลายทุกๆ ถ้วนหน้า นิกรเทพทั้งหลายย่อมชักชวนกันมาเล่นหัวร่อระรื่นชื่นบานเป็นผาสุก ภาพสำราญพระทัยในนันทาโบกขรณีนั้น เป็นนิจนิรันดร์บ่มิได้รู้ขาด”

เหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริครั้งนั้น ปรากฏในพระราชพงศาวดารความว่า เมื่อปี พ.ศ. 2396 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยาบรมมหาพิชัยญาติ หรือที่เรียกกันเป็นลำลองสำเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยเป็นแม่กอง ให้พระยาสามภพพ่าย (หนู) เป็นนายงาน ตกลงจ้างจีนขุดลอกสระกว้าง 2 สระ สระทางด้านเหนือเรียกว่า สระใน ทางด้านใต้เรียกว่า สระนอก ติดต่อถึงกัน ปลูกบัวพันธุ์ต่างๆ ไว้ในสระทั้งบัวสาย บัวผัน บัวเผื่อน บัวหลวง แล้วทำเป็นเกาะน้อย เกาะใหญ่ลดเลี้ยวกันไป บนเกาะปลูกพืชผักพรรณและไม้ดอก หากที่หลวงไม่พอให้ซื้อที่ราษฎรเพิ่มเติมต่อไปอีก ทางฝั่งเหนือของสระในกำหนดเป็นเขตหวงห้ามส่วนพระองค์ชักกำแพงล้อมลอบ ข้างในปลูกโรงเรือนขึ้นเป็นพระที่นั่งสำหรับประทับแรม 1 องค์ พลับพลาสำหรับเสด็จออกโรงละคร เรือนฝ่ายในเป็นที่ประทับแรมของเจ้าจอม โรงครัวข้างในและโรงครัวเลี้ยงขุนนางข้างหน้า ส่วนสระนอกอนุญาตให้เป็นที่เล่นเรือของข้าราชการและราษฎรทั่วไป รมณียสถานแห่งนี้พระราชทานนามว่า ปทุมวัน คำนี้แปลว่า ป่าบัวหลวง แต่เนื่องจากขุดไว้เป็นสระอย่างงดงามจึงเรียกกันอย่างลำลองว่า สระปทุม ส่วนบริเวณที่ประทับพระราชทานนามว่า วังสระปทุม

ครั้งสร้างวัดและสร้างสระปทุมเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2400 ตรงกับแรม 4 ค่ำ เดือน 7 พระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคมาประทับแรมที่วังสระปทุมเป็นครั้งแรก ถึงแก่ต้องมีหมายกำหนดการเสด็จประภาสหัวเมือง

ปทุมวนาราม : วัดสระปทุม
เมื่อสร้างสระบัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นที่ทิศตะวันตกของสระนอก เพื่อพระราชทานพระราชกุศลแก่สมเด็จพระเทพศิริทราบรมราชินี พระราชทานนามว่า วัดปทุมวนาราม แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า วัดสระปทุม หรือวัดสระ เมื่อสร้างหมู่กุฏิเสร็จไปบ้าง ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ อาราธนาพระครูชื่อกล่ำ ซึ่งเคยเป็นพระฐานานุกรมเมื่อครั้งที่ทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารมาเป็นเจ้าอาวาส พระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่ พระครูปทุมธรรมธาดา แล้วนิมนต์พระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกายมาประจำพรรษาด้วย และได้พระราชทานข้าพระจำนวนหนึ่งสำหรับปฏิบัติอุปัฏฐากพระภิกษุอีกด้วย

ครั้งถึงเดือน 12 น้ำมาก สระบัวบริเวณดังกล่าวจึงมีสภาพงดงามน่าเพลิดเพลินใจ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับอยู่ 2 ราตรีบ้าง 3 ราตรีบ้าง ให้เจ้าจอมข้างในลงเรือพายเก็บดอกบัวและพรรณไม้พรรณผัก ชิงกันขึ้นเรือสำปั้นน้อย นอกจากนั้นยังทรงพระราชสัทธาจะให้พระสงฆ์ในอารามต่างๆ เข้าไปบิณฑบาตโดยเรือสำปั้นทุกๆ เวรที่เสด็จประภาสและประทับแรมโดยเฉพาะ

ถ้าเป็นฤดูน้ำในสระปทุมนั้น ก็เหมือนสระสวรรค์อันชะลอมาตั้งอยู่ในเมืองมนุษย์ ผู้ใดได้พบเห็นก็นับเป็นบุญตาและบุญตัว น้ำในสระจะเอ่ออาบเสมอขอบฝั่ง และแลไปเบื้องหน้าเกาะต่างๆ ที่โปรดให้สมเด็จพระยาองค์น้อยกับพระยาสามภพพ่ายประดิษฐ์ขึ้นนั้นแลสลับสล้าง ลางเกาะหมู่เข้ามาปกคลุมครึ้มเหมือนกับธรรมชาติ มาช่วยส่งเสริมให้งดงามยิ่งขึ้น เวลาค่ำให้มีผ้าป่า และละครข้างใน (หมายถึงละครใน) ที่พระราชวังนั้นบ้าง ก็ยามนั้นแล บรรดาเจ้าจอมหม่อมห้ามต่างลงเรือแต่ละลำ แต่งกายโอ่อ่าหอมฟุ้งไปด้วยเครื่องร่ำ กำยาน สุคันธรส และโดยเฉพาะขณะใดที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรือข้าทูลละอองธุลีพระบาทนำวงสักวาดอกสร้อยเข้าลอยลำขับร้องโอดพัน มีโทนทับกรับฉิ่งตีเป็นจังหวะด้วยแล้วยามนั้นก็สุดจะเปรียบสระปทุมกับสิ่งใดๆ ในเมืองมนุษย์ได้ เสียงขับกล่อมโอดโอยโหยหวนเสียงโทนทับท้าทายเร่งจังหวะเสียงร้องดอกสร้อยแก้กัน และยามค่ำเรือทุกลำต่างจุดประทีปสว่างไสวพร่างพรายสะท้อนแสงลงในสระเป็นประกายงดงามยิ่งนัก อุปมาเหมือนชะลอสระอโนดาษแห่งสวรรค์ชั้นวิมานแมนลงมาตั้งอยู่ ณ ที่นั้น เป็นดังนี้ทุกๆ ปี

ครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือในความสนุกสนานกันมากทั้งเจ้าจอมหม่อมห้าม และบรรดาข้าราชการ อำมาตย์ ราชเสวก เมื่อเอ่ยถึงสระปทุมแล้วหมายถึงเรื่องรื่นรมย์เป็นอย่างยิ่งสำหรับสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสำราญพระราชหฤทัยด้วยดุจกัน

ครั้นการก่อสร้างวัดเสร็จลงเป็นส่วนใหญ่ ณ เดือนอ้าย ขึ้น 15 ค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ 1 ธันวาคม 2501 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคไปเชิญพระใส และพระแสนมาจากวัดเขมาภิรตาราม นนทบุรี แล้วแห่แหนมาประดิษฐานในพระอุโบสถ วัดปทุมวนาราม

พระใส หรือ พระสายน์นี้ได้มาจากเมืองเวียงจันทร์ เมื่อ พ.ศ. 2400 ในรัชการที่ 4 ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์ ตำนานพระสายน์วัดสระปทุม เป็นภาษาบาลีแล้วแปลเป็นภาษาไทย ดังจะได้อัญเชิญบางตอมมาเป็นธรรมทานแก่ผู้ใฝ่รู้ดังนี้

สายนาติ วุตฺตฺนามา ได้มีชื่อกล่าวแล้วว่า “สายน” ดังนี้…
พระปฏิมาแห่งองค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคพระพุทธเจ้านี้ อันประดิษฐานอยู่แล้วในที่นี้ ได้สร้างไว้นานแล้วด้วยวัฏฏโลหอันเจือกัน อย่างดีแท้มีน้ำหนักมากเปนแท่งสนิทแท้ เกลี้ยงเกลาดีเหลืองามคล้ายกับสีทอง ก็แต่ว่าจะทำอย่างไรได้เราทั้งหลายไม่ทรายชัดว่า ได้สร้างขึ้นด้วยเหตุไร ได้สร้างในที่ไหน ได้สร้างขึ้นเมื่อไร รู้แต่ว่า เปนหัตถกรรมของช่างลาวแท้ ได้ประดิษฐานอยู่แล้วในลาวราษฐ…

นอกจากเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามแล้ว ยังมีคุณวิเศษในด้านยังความชุ่มชื้นให้แผ่นดิน ดังความในพระราชนิพนธ์ดังนี้

พระปฏิมาเจ้านี้ มีมหิทธิเปนอันงดงามฉันใด กิติศัพท์ทั้งหลายอันชนประจำเมืองทั้งหลายแม้มาก ในเมืองมหาชยปุรเปนต้นทั้งหลายได้กล่าวแล้วฉันนั้นว่า ฝนแล้งจะพึงมีในกาลใด ถ้าหากว่าพระปฏิมาเจ้านี้ ได้บูชาแล้วในสถานอันสะอาดในที่แจ้ง ครั้นเมื่อการขอเพิ่มให้ฝนตกได้ทำแล้ว ฝนก็ย่อมตกโดยชอบ ยังธัญญทั้งหลายมีเข้ากล้าเปนต้นให้ถึงพร้อมได้ ย่อมนำเมทนีให้สำเร็จโดยอานุภาพแห่งพระปฏิมาเจ้านั้น ในกาลนั้นแท้

ในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดให้ราชเสวกซึ่งเป็นเจ้าลาวโสณณังกุร (หน่อคำ) ไปเชิญมาไว้ในพระนคร ด้วยแต่เดิมอยู่ในถ้ำไม่มีคนดูแลรักษา ดังความในพระราชนิพนธ์ดังนี้

เจ้าลาวโสณณังกุรนั้นได้ไปถึงลาวราษฐในกาลนั้น ได้ฟังกิตติศัพท์แห่งพระสายนปฏิมาเจ้าอันแผ่ไปเป็นอันงาม ครั้นไปถึงเมืองมหาชยปุรแล้ว ได้เห็นพระพุทธรูปชื่อสายน ในที่นั้นด้วยตนเอง อันประดิษฐานอยู่เปนอันดีในคูหา มิได้มีอารักขา มีประชุมเปนอันมาก หากบูชาแล้วโดยกาลานุกาล จึงกล่าวอ้างพระราชนามเชิญเอาพระปฏิมาเจ้านั้น โดยราชานุภาพของพระเจ้ากรุงสยาม ครั้นถึงพระนครนี้แล้ว กราบทูลปวัติทั้งปวงแล้ว ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระราชาเจ้า

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ประดิษฐานไว้เป็นพระพุทธปฏิมาประธาน ณ วัดปทุมวนาราม ดังนี้
ในกาลนั้นฝ่ายว่าสมเด็จพระปรเมนมหามกุฏมหาราชเจ้า ผู้ทรงพระมหาอุสาหะผู้ทรงเลื่อมใสแล้วในพระพุทธสาสนา จึงทรงสร้างพระวิหารนี้ขึ้นในที่ลุ่ม, อันเปนรมณียสถาน ขนานชื่อว่า วัดปทุมวันนี้ ได้ยังวัตถุทั้งหลายทั้งปวงให้ประดิษฐานอยู่

ครั้งเมื่อปฏิฆรอันองค์พระได้สร้างแล้วในขัณฑสีมานี้ สมเด็จพระเจ้าชนาธิปราชได้เชิญพระพุทธรูปชื่อ สายน อันงามนี้ ที่พระองค์ได้แล้วโดยอนุภาพอย่างนี้ให้เปนประธานเจดีย์ ประดิษฐานไว้ ได้ทรงทำการบูชาพระปฏิมาเจ้านั้นประกอบในกาลอันเนืองนิตย์

ขอเทพดาเจ้าทั้งหลายก็ดี มนุษย์ทั้งหลายก็ดี หรือ คฤหัสถ์แลบรรพชิตทั้งหลายแม้ทั้งปวง ผู้ที่นับถือซึ่งวัตถุมีพุทธาทิรัตนเปนต้น ได้มาแล้วมาแล้วในที่นี้จงพากันนมัสการโดยชอบเถิด จงพากันบูชาซึ่งพระปฏิมาเจ้ามีสมญาว่า สายน นี้เปนพุทโธทสิกเจดีย์ตามควรแก่กำลังเถิด จงอนุโมทนาซึ่งพระราชบุญทั้งหลายที่พระองค์ได้ทรงกระทำแล้วโดยอเนกปการ ด้วยประการนั้น ของพระราชาเจ้า ผู้ใคร่ต่อประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกทั้งหลายทั้งปวงเกิด

ส่วนพระแสนนั้นก็เป็นพระพุทธรูปเก่าที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก จนเป็นที่เลื่องลือเช่นเดียวกัน แต่เดิมอยู่ในถ้ำแขวงเมืองมหาชัย ประเทศลาว ไม่มีผู้เฝ้ารักษาได้อัญเชิญมาฝั่งไทยในคราวเดียวกับพระใส เมื่อแรกที่อัญเชิญยังวัดปทุมวนารามนั้นประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถก่อน ต่อมา พ.ศ. 2408 จึงได้โปรดเกล้าให้ย้ายไปยังวิหาร ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระเสริม

พระเสริม เป็นพระพุทธปฏิมาประธานในพระวิหารเป็นพระพุทธรูปที่นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่ง มีพุทธศิลป์ที่งดงาม ตามประวัติว่าเป็นฝีมือช่างศรีสัตนาคนหุต(ลาว) ในรัชการที่ 3 เมื่อมีกบฏในเมืองเวียงจันทร์(กบฏเจ้าอนุวงศ์) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์ยกทัพขึ้นไปปราบ โปรดให้อัญเชิญพระเสริมเข้ามาที่วัดโพธิชัย แขวงเมืองหนองคาย และเชิญเข้ามาในพระนครในรัชการที่ 4 ครั้นเมื่อสร้างวัดปทุมวนารารมแล้ว จึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานขอยู่ในพระวิหาร

นอกจากพระพุทธรูปที่สำคัญ 3 องค์แล้ว ยังมีปูชนียวัตถุอีกอย่างหนึ่งที่ได้มาตรั้งสมัยรัชการที่ 4 นั่นคือพระศรีมหาโพธิ์ ใน พ.ศ. 2407 สมเด็จพระราชินีนารถวิคตอเรียแห่งราชอานาจักรอังกฤษ โปรดให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประเทศอินเดีย เชิญหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา ซึ่งเป็นดินแดนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แทนที่จะเป็นหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากลังกาดังเช่นในกาลอดีต

อนึ่ง การที่ได้โปรดให้นิมนต์พระราชาคณะมารับบิณฑบาทในเวลาที่เสด็จประทับแรมนั้น ได้โปรดให้ยกเลิกไปเมื่อพุทธศักราช 2509 แต่ฤดูหน้าน้ำเดือน 11 สิ้นฤดูพรรษายังเสด็จทอดพระกฐินพระราชทานและยังมีการร้องรับขับคลอสักวา และดอกสร้อยอยู่อีกตลอดรัชสมัย

แม้ว่าการสร้างวัดปทุมวนารามจะเสร็จสิ้นลง และทรงพระราชดำริจะให้จัดงานสมโภชในปี พ.ศ. 2504 แต่บังเอิญสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีสวรรคตเสียก่อน ประจอบกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการบ้านการเมืองหลายด้าน งานฉลองสมโภชจึงงดไปแล้วไปจัดสมโภชกันใน พ.ศ. 2510 ณ วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2510 ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 1 ปีเถาะ

วัดปทุมวนารามนอกจากจะมีความสำคัญมาก ดังจะเห็นได้จากประวัติแรกสร้างแล้ว ในกาลต่อมายังมีความสำคัญในส่วนอื่นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ พระราชสรีรางคารและพระอัฐิของพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์หลายพระองค์มี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชินี เป็นอาทิ แต่เนื่องจากการขยายตัวของบ้านเมือง และการปรับปรุงพื้นที่เป็นลำดับมา ทำให้สภาพของวัดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอันมาก ปัจจุบันจึงมีเพียงสระบัวกับเขามอเล็กๆ และอ่างบัวให้เห็นเป็นที่ระลึกถึงความงดงามของปทุมวนา หรือสวนบัวในอดีตให้คนรุ่นหลังให้เห็นบ้าง