คำอธิบาย
การสอบความของสุนัขตนหนึ่ง เป็นรวมงานเขียนที่ตีพิมพ์หลังช่วงชีวิตของฟรันซ์ คาฟคา งานเขียนเหล่านี้นอกจากคงเสน่ห์แห่งการงานคาฟคาแล้วยังมีเสน่ห์ของความขาดหาย เช่นเรื่องที่เขียนไม่จบ หรือเรื่องที่มีตอนจบหลายแบบ และที่น่าสนใจที่สุดก็คือ นี่เป็นงานเขียนที่ได้รับการกล่าวถึงน้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับเรื่องดังในกระแสการอ่าน แต่เป็นงานที่น่าสนใจและน่าศึกษา บางเรื่องเหมือนเป็นจุดเริ่มของงานเขียนชิ้นดังๆ และทุกเรื่องยังคงมิติของการต้องตีความอย่างน่าสนุก คงการเสียดสีแบบคาฟคาไว้อย่างเป็นเอกลักษณ์
…………………………..
จากผู้แปล
งานเขียนของฟรันซ์ คาฟคา มีผู้แปลเป็นภาษาไทย ทั้งจากต้นฉบับภาษาเยอรมันโดยตรงและจากฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษอีกชั้นหนึ่ง รวมทั้งตัวผู้แปลเองด้วยแล้ว อย่างน้อย 7 คน ทำให้งานของเขาพอเป็นที่รู้จักอยู่บ้างในแวดวงนักอ่านวรรณกรรมในประเทศของเรา แต่ก็ยังอยู่ในวงผู้สนใจงานวรรณกรรมในระดับเข้มข้นเท่านั้น
งานเขียนของคาฟคาในช่วงชีวิตของเขาเองก็เป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านในวงจำกัดมาก ทั้งตัวเขาเองจะส่งต้นฉบับเพื่อการตีพิมพ์ส่วนใหญ่แล้วก็ต่อเมื่อได้รับเชิญจากนิตยสารหรือสำนักพิมพ์เท่านั้น งานเขียนของฟรันซ์ คาฟคา เป็นที่รู้จักในภาษาอื่นเริ่มโดย Willa และ Edwin Muir สองภริยาสามีชาวอังกฤษ ซึ่งไปมีชีวิตอยู่ในกรุง Prague ช่วงปลายชีวิตของ ฟรันซ์ คาฟคา แล้วได้รู้จักและชื่นชอบงานเขียนของเขา และจึงแปลขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ แล้ว เมื่อกลับไป London ได้ดำเนินให้มีการตีพิมพ์ The Castle ขึ้นในปี 1930 The Trial ในปี 1937 และ Amerika ในปี1938 และซึ่งแต่ละเล่มในช่วงนั้นมียอดจำหน่ายเพียงในหลักร้อยเท่านั้น
งานเขียนของคาฟคา มาสู่การยอมรับมากขึ้นเริ่มจากผู้เชี่ยวชาญวรรณกรรมกลุ่มเล็กๆของเยอรมัน ในช่วงทศวรรษ ๑๙๒๐ แล้วจากนั้นก็ได้รับการกล่าวขวัญอย่างเป็นผลงานที่ยังความตื่นเต้นยิ่งแก่นักอ่านนักวิจารณ์ในฝรั่งเศส จนกล่าวได้ว่าไม่มีนิตยสารหรือคอลัมน์วรรณกรรมใดไม่เอ่ยถึงงานของเขา ครั้งแรกโดย Andre Broton แล้วต่อมาโดย Albert Camus และ Jean Paul Sartre และไม่จนทศวรรษ 1950 งานเขียนของเขาจึงกลับไปสู่นักอ่านในวงที่กว้างขวางขึ้นในเยอรมัน และโดยต้องใช้เวลาถึง 40 ปีหลังความตาย งานเขียนของเขาจึงกล่าวได้ว่ามีผู้อ่านและเป็นที่กล่าวขวัญจากนักวิชาการด้านวรรณกรรมทั่วโลก รวมทั้งมีการนำไปสร้างเป็นละคอนและภาพยนตร์มากมาย ซึ่งที่รู้จักกันดีที่สุดในรูปของภาพยนตร์คือ The Trial โดย Orson Welle
ในประเทศไทยงานเขียนของคาฟคาถูกทำให้เป็นที่รู้จักเป็นครั้งแรกขึ้นโดยการแปลของบัณฑิต เอ็งนิลรัตน์ เมื่อประมาณ 40 ปีก่อนหน้านี้ และในเวลาประมาณเดียวกัน ในรูปของงานตัดความบางส่วนแปลจากบางเรื่อง ใน อ่านวรรณคดีเยอรมัน จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เคล็ดไทย แล้วต่อมาโดยการแปลผลงานและเขียนเรื่องราวชีวิตและผลงานของเขา โดย ถนอมนวล โอเจริญ และโดยนักแปลอื่นๆที่ตามมาหลังจากนั้น รวมทั้งหลังสุดในปีที่เพิ่งผ่านมานี้ มูลนิธิเด็ก ได้จัดพิมพ์ Introducing Kafka แนะนำชีวิตและผลงานของฟรันซ์ คาฟคา ในฐานะนักเขียนสำคัญของโลกในรูปของวรรณกรรมภาพ ซึ่งมีส่วนทำให้ชื่อของฟรันซ์ คาฟคา เป็นที่รู้จักในวงที่กว้างขึ้นในหมู่นักอ่านชาวไทย
ผู้แปลเองได้แปลรวมงานเขียนขนาดสั้นที่ตีพิมพ์ในช่วงชีวิตของคาฟคาไว้ในชื่อเล่มภาษาไทยว่า ในความนิ่งนึก ตีพิมพ์ ในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งแม้ถึงจะมีการกล่าวถึงที่เป็นเชิงบวกอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วนักอ่านทั่วไปจะมีความเห็นว่าเป็นสำนวนแปลที่อ่านยาก ไม่เหมือนสำนวนแปลอื่นๆ ในคราวแปลครั้งนี้ผู้แปลยังรักษาแนวคิดในการแปลเดียวกันกับที่เคยทำไว้ก่อนหน้า ด้วยเจตนาให้นักอ่านได้รับรสวรรณกรรมที่ใกล้เคียงกับสำนวนของผู้เขียนให้มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ โดยไม่ทำให้อ่านได้ง่ายเช่นนักแปลท่านอื่นๆ
ในความเห็นที่มีต่อแบบฉบับการเขียนของคาฟคา กล่าวกันในแวดวงวรรณกรรมนั้น เขามีสำนวนภาษา โครงสร้างประโยค และวิธีในการให้ภาพในงานเขียนของเขา อย่างเป็นเอกลักษณ์ แบบฉบับการเขียนของเขามีความพิถีพิถันอย่างที่เรียกว่าพยายามทำให้บริสุทธิ์ที่สุด มีโครงสร้างประโยคในแบบที่สีสติรู้ทุกความหมายของทุกคำที่เขียนออกไป แม้ทั้งเมื่อแรกอ่านจะรู้สึกว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น มีการใช้คำที่เรียบง่ายน้อยคำซึ่งร้อยเรียงเป็นประโยคที่ ทั้งหมดแล้ว ให้ความหมายที่เลยไกลออกไปกว่าและลึกลงไปกว่าที่จะทำกันโดยนักเขียนทั่วไป รวมทั้งมีการใช้ความเปรียบที่ลึกชัดเกินการคาดคิดของนักอ่าน บางครั้งต้องอ่านทวนจึงเข้าใจความหมายตามที่ผู้เขียนหมายถึง และบางครั้งผู้อ่านอาจนึกอยากอ่านโดยเปล่งเสียงออกมา สิ่งนี้ในการเรียนภาษาเยอรมันในบางประเทศจึงนิยมให้ผู้เรียนท่องประโยคงานเขียนของเขาเช่นบทอาขยาน
ด้วยเหตุนี้จึงมีนักแปลท่านหนึ่งกล่าวไว้ในคำนำในงานที่ท่านเลือกมาแปลว่าภาษาไทยมีข้อจำกัดในการจะถ่ายทอดงานเขียนของคาฟคา ทั้งชิ้นงานส่วนใหญ่ก็มีช่องว่างในการจะเข้าใจได้สำหรับนักอ่านชาวไทย จนแทบจะเรียกว่า (ในการตีความเอาเองของผู้แปล) ไม่สามารถแปลออกมาได้ จึงได้เลือกแปลแต่งานที่พอจะแปลออกมาได้เท่านั้น
หากแต่ในความเห็นของผู้แปล แบบฉบับสำนวนของคาฟคาเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นรสวรรณกรรมของผู้เขียนจะสูญเสียไปจนไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นงานของเขา หรือจะเรียกว่าเป็นก็เป็นเพียงในรูปของการทำให้ง่ายสำหรับนักอ่านที่วุฒิภาวะในการอ่านไม่เพียงพอ และด้วยความเห็นนี้ ผู้แปลจึงพยายามอย่างมากที่จะเก็บความหมายให้มากที่สุดในทุกถ้อยคำ รวมทั้งใช้โครงสร้างประโยคตามต้นฉบับที่แปล และเห็นว่าหากภาษาไทยมีระเบียบทางภาษาที่จำกัดจนไม่อาจแปลได้ก็จำเป็นที่จะต้องพังระเบียบที่เป็นกรอบนั้นออกไป เพื่อให้สามารถรองรับงานเขียนที่เป็นเอกลักษณ์นี้ได้
ในการพยายามนี้ผู้แปลแน่ใจว่ายังมีข้อบกพร่องและข้อผิดพลาดอยู่มาก เริ่มตั้งแต่การไม่ได้แปลออกมาจากภาษาเยอรมันโดยตรง ซึ่งเป็นข้อจำกัดเรื่องความรู้ทางภาษาของผู้แปล และรวมทั้งความเข้าใจที่อาจไม่ลึกซึ้งพอในบริบทของตัวชิ้นงานเอง เหล่านี้ คำนำของนักแปลท่านที่ได้เอ่ยไว้ข้างต้นน่าจะพอเป็นคำแก้ตัวให้กับผู้แปลได้ และการได้ลงมือพยายามนี้ก็ทำให้ผู้แปลมีความพอใจกับตัวเองในข้อที่ว่าน่าจะเป็นผลดีต่อนักอ่าน รวมทั้งในการบอกกล่าวไว้นี้ก็น่าที่จะได้รับการเข้าใจที่ดีขึ้นจากนักอ่านในกลุ่มที่เห็นว่าสำนวนแปลของผู้แปลอ่านยาก ด้วยการที่เขาจะให้ความสนใจมากขึ้นในการทำความเข้าใจ
ในคราวแปลครั้งนี้ ซึ่งใช้ชื่อเล่มตามชื่องานขนาดสั้นเรื่องหนึ่งในเล่มว่า การสอบความของสุนัขตนหนึ่ง เป็นการรวมงานเขียนขนาดสั้นทั้งหมดที่ตีพิมพ์ขึ้นช่วงหลังการตายของผู้เขียน ส่วนใหญ่เป็นผลงานที่ผู้เขียนได้บอกกล่าวกับ Max Brod เพื่อนสนิทยาวนานและบรรณาธิการส่วนตัวของเขา ให้ทำลายเสีย หากแต่บรรณาธิการผู้นี้ ด้วยเห็นคุณค่าของงาน ได้รวบรวมนำมาจัดพิมพ์ขึ้นหลังจากผู้เขียนได้วายชนม์ไปแล้ว และในอีกด้านหนึ่งก็เพื่อสนองความต้องการของนักอ่านที่มีความกระหายจะได้อ่านงานในแบบฉบับนี้ให้ทั้งหมดที่มีอยู่
เช่นกันกับใน ในความนิ่งนึก การเรียงลำดับเรื่องในเล่มนี้เป็นไปตามลำดับก่อนหลังของการเขียนขึ้น โดยประมาณตามที่มีข้อมูลบ่งบอก ซึ่งหมายความว่าเรื่องแรกในเล่มนี้อาจเป็นงานเขียนชิ้นแรกของผู้เขียน และเรื่องสุดท้ายก็อาจเป็นงานชิ้นสุดท้ายของเขาที่เขียนขึ้นก่อนเสียชีวิต
ผู้แปลหวังว่า การสอบความของสุนัขตนหนึ่ง เล่มนี้จะช่วยสนองความกระหายนักอ่านในกลุ่มที่ต้องการรู้จักงานของคาฟคาให้ลึก กว้าง และทั่วถ้วนขึ้นกว่าที่เคยได้อ่านมา และช่วยให้นักอ่านหน้าใหม่ที่เพิ่งอ่านงานของคาฟคาเล่มนี้เป็นครั้งแรก สนใจติดตามอ่านงานชิ้นอื่นๆของเขาต่อไป ในฐานะผลงานของนักเขียนสำคัญยิ่งยวดคนหนึ่งของโลก รวมทั้งหวังให้เป็นแรงบันดาลใจที่ดีแก่นักเขียนชาวไทยที่จะสร้างงานเขียนของเขาด้วยมาตรฐานในระดับสูงเช่นนี้ หรือต่อยอดความคิดของเขาให้สร้างสรรค์งานด้วยคุณภาพที่ดียิ่งๆขึ้นไปกว่าที่เคยได้ทำมา
–
ดลสิทธิ์ บางคมบาง
3 กรกฎาคม 2557