ลดราคา!

จุดยืนของมนุษยศาสตร์

Original price was: 490 ฿.Current price is: 417 ฿.

ผู้แต่ง เจตนา นาควัชระ
ISBN 978616778720
จำนวน 488 หน้า
สำนักพิมพ์ ชมนาด
ปีที่พิมพ์ 2558

สินค้าหมดแล้ว

คำอธิบาย

ประโยชน์ของมนุษยศาสตร์ในบางครั้งเป็นประโยชน์ทางใจ มนุษยศาสตร์ต้องแสดงความกล้าเชิงจริยธรรมในการที่จะต่อสู้กับวิกฤติของสังคม บางครั้งถึงกับทำหน้าที่เป็นผู้ก่อกวนทางปัญญา ตั้งคำถามต่อแนวคิดหรือแนวปฏิบัติบางอย่างในสังคมที่เห็นได้ว่าจะนำไปสู่ความเสื่อมหรือความหายนะ มนุษยศาสตร์ที่กอปรด้วยวุฒิภาวะเป็นเรื่องของการสั่งสมประสบการณ์ สั่งสมองค์ความรู้ สั่งสมความจัดเจนในการแสดงออก กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นการสั่งสมบารมี เพื่อที่มนุษยศาสตร์จะได้ทำหน้าที่เป็นเสียงแห่งมโนธรรมให้แก่สังคมได้
จากบทความ  “ความอยู่รอดของมนุษยศาสตร์ไทย” 45-46

แต่ถ้าเราหลับตาแล้วมองไม่เห็นตัวบุคคลที่ทำบุญคุณให้แก่เรา แล้วเราจะตอบแทนบุญคุณใคร ณ จุดนี้การรู้จักคิดเป็นนามธรรมอาจจะให้คำตอบได้ นั่นคือการกลับไปหามโนทัศน์ที่ว่าด้วยรัฐ ซึ่งเป็นสถาบันหรือองค์กรนิรนาม เป็นองค์กรกลางที่บริหารบ้านเมืองแทนประชาชน ผู้บรรยายเองในฐานะที่เป็นนักเรียนทุนของรัฐ พยายามที่จะท่องคาถาที่ใช้กำกับตัวเองมาตลอดเวลากึ่งศตวรรษว่า “ทุนนั้นใช้หมด แต่บุญคุณใช้ไม่หมด”
จากบทความ “รูปธรรม-นามธรรม-ความสำนึก : บทวิพากษ์สำหรับนักเรียนทุนของรัฐ” 189-190

ผู้เขียนอดประทับใจไม่ได้กับความต่อเนื่องของสัญญะนี้ ศรัทธาของมิตรที่ไม่มีวันเสื่อมคลายไม่ว่าการเมืองจะขึ้นหรือลงอย่างไร ไม่ว่าแรงกดดันจากทรราชจะมาถึงเธอในรูปใด ไม่ว่านโยบายของผู้มีอำนาจจะเปลี่ยนแปลงไปในทางใด และใครเล่าที่จะไม่ทึ่งกับความแข็งแกร่งทางใจของเธอ เธอไม่ท้อแท้ สิ้นหวัง ดอกไม้โรยได้ในโลกแห่งความจริง แต่ดอกไม้ที่เราเห็นบนเรือนผมของอองซานซูจีดูประหนึ่งจะไม่รู้โรย ผู้เขียนถึงพร้อมที่จะฝืนสภาพความเป็นจริงและเรียกดอกไม้พันธุ์นี้ว่า “บานไม่รู้โรย”
จากบทความ  “เพราะรักจึงสมัครเข้ามาร่วม : อาเซียนฉบับสามัญชน” 234-235

ฉะนั้นเรื่องทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องที่ยืนยันเรื่องข้อจำกัดของกฎหมาย ข้อจำกัดของนิติศาสตร์ ข้อจำกัดของการพิพากษาคดี พลังแห่งความยุติธรรมนั้นอยู่เกินกรอบของกฎหมาย อยู่นอกศาล อยู่ในใจมนุษย์ อยู่ในสังคมที่เชื่อมั่นในศีลธรรม เชื่อมั่นในคุณธรรม อยู่ในสังคมที่มีกลไกในสังคมอื่นๆ ที่สามารถจะจัดการกันเองได้โดยไม่ให้คนต้องไปศาล
จากบทความ “นิติศาสตร์จากจุดยืนของนักอักษรศาสตร์” 313