วธ.ประกาศยกย่อง “ว.วชิรเมธี-อภิสิทธิ์” ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นปี 53 ด้าน “แอ๊ด-ปาน” ซิวรางวัลเพชรในเพลง ประเภทขับร้องดีเด่น เตรียมเข้ารับรางวัลวันที่ 29 ก.ค.นี้ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย…
21 ก.ค. 2553 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พร้อมด้วยนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดวธ. แถลงข่าววันภาษาไทยประจำปี 2553 ว่า วธ.ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทย ด้วยการส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง จึงได้ดำเนินการสรรหาและคัดเลือกผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นเพื่อเป็นแบบอย่างแก่เยาวชนและสังคม โดยมีผู้ที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติและมอบรางวัลเป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น พ.ศ.2553 จำนวน 41 คน ดังนี้
1. ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ได้แก่ พระปุญญวํโส (พร ภิรมย์), รศ.ดวงมน จิตร์จำนงค์, ศ.เกียรติคุณนพ.ประสพ รัตนากร, ศ.กิตติคุณ ปราณี กุลละวณิชย์, ศ.กิตติคุณ ปรีชา ช้างขวัญยืน, นายวศิน อินทสระ, ศ.เกียรติคุณ แสง จันทร์งาม, ศ.กิตติคุณ สุจริต เพียรชอบ และศ.อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์
2.ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น (ชาวไทย) ได้แก่ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายคำนูณ สิทธิสมาน, นางจารุลินทร์ มุสิกะพงษ์, นางชมัยภร แสงกระจ่าง, นายเติมศักดิ์ จารุปราณ, นางเทวี บุญจับ, ผศ.ธัญญา สังขพันธานนท์, รศ.นภาลัย สุวรรณธาดา, นางนันทวัน สุวรรณปิยะศิริ, นายบุญเตือน ศรีวรพจน์, รองศาสตราจารย์วันเนาว์ ยูเด็น, นายวิเชียร นีลิกานนท์, นายเศรษฐา ศิระฉายา, นางสุพัชรินทร์ ชาญช่างเหล็ก, ม.ร.ว.อรฉัตร ซองทอง, นายอำนาจ สอนอิ่มสาตร์ และผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น (ชาวต่างประเทศ) ได้แก่ พระชยสาโรภิกขุ พระมิตซูโอะ คเวสโก, น.ส.คริสตี้ กิ๊บสัน, นายฉิน อี้เซ็น และศ.สตีเฟน บี ยัง
3. ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ได้แก่ นายวิรัตน์ ทิพย์วารี, นายนุ่ม เย็นใจ, พ.อ.บัณฑิต นันทเสนา, นายบุญเอิบ วรรณคง, นายไพฑูรย์ ดอกบัวแก้ว, นายวิชาญ ช่วยชูใจ, นายวิลักษณ์ ศรีป่าซาง, นายสนั่น ธรรมธิ, นายสลา คุณวุฒิ และนางอุไร ฉิมหลวง
รมว.วัฒนธรรม กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการเพชรในเพลง สำหรับนักร้อง เพลงไทยสากล ลูกทุ่ง ที่ออกเสียงได้ถูกต้องตามอักขระภาษาไทย ซึ่งได้จัดประกวดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 7 โดยมีผู้ได้รับการประกาศยกย่องและมอบรางวัลพระคเณศ จำนวน 28 คน ได้แก่
รางวัลเชิดชูเกียรติผู้ประพันธ์เพลงดีเด่นในอดีต อาทิ เพลง ลุ่มเจ้าพระยา ประพันธ์โดย นายแก้ว อัจฉริยะกุล เพลงใครหนอ ประพันธ์โดย นายสุรพล โทณะวณิก
รางวัลประเภทการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย อาทิ เพลงใจนำทาง ประพันธ์โดย นายสุทธิพงษ์ สมบัติจินดา เพลงวันว่างที่ตั้งใจ ประพันธ์โดย นายสลา คุณวุฒิ และเพลงฉลาดทันคน ประพันธ์โดย นางช่อผกา คงแจ่ม
รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ได้แก่ เพลงควายไทย ขับร้องโดย นายยืนยง โอภากุล เพลงใจนำทาง ขับร้องโดย น.ส.ธนพร แวกประยูร (ปาน ธนพร) เพลงปลาดาวเงาจันทร์ ผู้ขับร้อง นายสร่างศัลย์ เรืองศรี (หนู มิเตอร์ อาร์สยาม) เพลงจันทร์ ขับร้องโดย นางสาวฐิตาภา ใต้ไธสง (หญิง ฐิติกานต์ อาร์สยาม) เป็นต้น
นอกจากนี้ ในปีนี้ยังมีรางวัลพิเศษพระเณศทอง ของกรมศิลปากรอีก 1 รางวัล โดยมอบให้แก่ น.ส.ธนพร แวกประยูร (ปาน ธนพร) เนื่องจากได้รับรางวัลชนะเลิศต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 4 ทั้งนี้ ผู้ได้รับรางวัลทั้งหมดจะเข้ารับรางวัลจากพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ในวันที่ 29 ก.ค.นี้ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
นายนิพิฏฐ์ กล่าวด้วยว่า วธ.ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการวันภาษาไทย การฉายวีดิทัศน์และนิทรรศการผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติบุคคลด้านภาษาไทย การแสดงผลงานของศิลปินผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศการประพันธ์คำร้องและการขับ ร้องเพลง (รางวัลเพชรในเพลง) การแสดงของคณะนักร้องเยาวชนประสานเสียง นิทรรศการและกิจกรรมคลินิกหมอภาษา และการแสดงพื้นบ้านของเยาวชนที่ใช้ภาษาไทยถิ่น เป็นต้น ที่สำคัญยังได้จัดพิมพ์หนังสือที่ทำขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับเผยแพร่ในงานวันภาษาไทยได้แก่ หนังสือ ตำนานอักษรไทย ของญอร์ช เซย์เดย์ และ หนังสือโคลงเรื่องพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเคยพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2457 และในเล่มได้อัญเชิญพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พิมพ์ในหนังสือวงวรรณคดี เมื่อเดือนสิงหาคมพ.ศ. 2490 ซึ่งนับเป็นพระราชนิพนธ์ที่ทรงคุณค่าหาอ่านได้ยากยิ่ง 2 เรื่อง มารวมพิมพ์ไว้ด้วยกัน