อ่านหนังสือคือความรื่นรมย์
อรพินท์ คำสอน
ช่วงบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน 2555 มีการ เสวนา อ่านหนังสือคือความรื่นรมย์ ณ สนามหญ้า หน้าศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Friends of the library ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 9 มิถุนายนนี้ การเสวนาในครั้งนี้นับเป็นการแสดงทัศนะเกี่ยวกับการอ่านจากมุมมองของผู้ที่เป็นทั้งนักอ่านและนักเขียน คือ คุณชมัยภร แสงกระจ่าง (อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย) และคุณเจน สงสมพันธุ์ (นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย) ดำเนินรายการโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ (ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร) การเสวนาในครั้งนี้มีมุมมองที่น่าสนใจดังนี้
คุณชมัยภร แสงกระจ่างเห็นว่าการอ่านคือความรื่นรมย์ เพราะขณะอ่านหนังสือ ผู้อ่านได้สร้างโลกของตนเฉพาะขึ้นมาจากจินตนาการและตีความตัวอักษรที่ได้อ่านตามแต่ประสบการณ์เฉพาะตน ซึ่งภาพในจินตนาการของผู้อ่านแต่ละคนขณะที่อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน อาจจะได้ภาพที่หลากหลายต่างกันก็เป็นได้ แต่ถ้าผู้เขียนเป็นผู้ที่มีความสามารถก็จะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพที่ใกล้เคียงกับภาพที่ตนต้องการเสนอให้ได้มากที่สุด ดังนั้น การอ่านคือความรื่นรมย์ในโลกเงียบๆ ของตน
แต่คุณเจน สมสงพันธุ์ มีความเห็นต่างออกไปว่า ขณะอ่านหนังสือไม่จำเป็นต้องอ่านเงียบๆ ก็ได้ เพราะว่าหนังสือแต่ละเล่มก็มีเสียงของตัวเองด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือสำหรับเด็กเล็กๆ ขณะที่ยังอ่านหนังสือไม่ออกหรือเริ่มอ่านได้บ้าง ก็อาศัยการฟังพ่อแม่หรือครูอ่านให้ฟัง ซึ่งเสียงที่ได้ยินเหล่านั้นก็ยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำและประทับในความรู้สึก แม้ว่าเด็กเหล่านั้นจะเติบโตขึ้นแล้วก็ตาม และความรื่นรมย์ยังเกิดจากเนื้อหาที่กระทบใจและสามารถตีความได้ด้วยประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน นอกจากนี้ คุณเจนยังเล่าประสบการณ์ในวัยเด็กที่เติบโตขึ้นมาในสมัยที่ยังมีการอ่านอาขยาน เพลงกล่อมเด็ก ลิเก ละครวิทยุ เพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง และเครื่องเล่นแผ่นเสียง ก็นับเป็นการอ่านหนังสือผ่านการฟังเสียง ซึ่งนับว่าเป็นความรื่นรมย์อย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ความรื่นรมย์ในชีวิตจึงเกิดได้ทั้งมิติของการอ่าน และการฟัง (การอ่านออกเสียง) ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า ในสมัยก่อนคนนิยมอ่านหนังสือ ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยังมีการศึกษาน้อยอยู่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ ถามว่าเนื้อหาที่ทำให้เกิดความรื่นรมย์เป็นเนื้อหาแบบใด และจำกัดที่รูปแบบหรือเนื้อหาบางอย่างหรือไม่ คุณชมัยภรตอบว่าไม่มีการจำกัดเนื้อหา และความรื่นรมย์นั้นไม่ได้หมายความว่าทำให้ผู้อ่านหัวเราะขณะที่อ่านเท่านั้น แต่ความรื่นรมย์ในที่นี้คือ เรื่องที่อ่านนั้นไปสนองจิตใจของผู้อ่าน ทำให้จิตใจฟูเต็มด้วยความรู้สึกบางอย่างที่ได้จากหนังสือเล่มนั้น ซึ่งความอิ่มเอมที่ได้รับจากการอ่านนี้นับเป็นความรื่นรมย์ แต่หนังสือในโลกไม่ได้เป็นหนังสือที่รื่นรมย์ทุกเล่ม และความรื่นรมย์ที่ได้รับจากการอ่านก็มีหลายระดับหลากหลายแตกต่างกันไป จึงจำเป็นต้องพิจารณาว่าหนังสือแต่ละเล่มก่อให้เกิดความรื่นรมย์เพราะเหตุใด
คุณเจนเห็นด้วยกับคุณชมัยภรที่ว่า หนังสือที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความรื่นรมย์ทุกเล่ม แต่ผู้อ่านจะรู้สึกรื่นรมย์ได้ก็เพราะเนื้อหาในหนังสือ หรือว่าหนังสือเล่มนั้นเปล่งเสียงด้วยภาษาที่สวยงาม ซึ่งก็นำไปสู่ความรื่นรมย์ได้ นอกจากนี้ยังเห็นว่างานวิชาการบางครั้งก็นำไปสู่ความรื่นรมย์ได้ หากเนื้อหาในหนังสือเล่มนั้นๆ สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของผู้อ่าน หรือเนื้อหาช่วยให้ผู้อ่านแสวงหาคำตอบหรือเฉลยปัญหาบางอย่างได้
อาจารย์สุวรรณาอยากทราบว่าขณะที่นักเขียนเขียนงานของตนมีความรื่นรมย์หรือไม่ และหนังสือประเภทใดที่เขียนได้อย่างรื่นรมย์ คุณชมัยภรตอบว่าโดยส่วนตัวจะเขียนในสิ่งที่อยากเขียน จึงทำให้เกิดความสุขและความรื่นรมย์ในการเขียน หากงานชิ้นใดเขียนแล้วเกิดความทุกข์ก็เท่ากับว่างานเขียนชิ้นนั้นเกิดปัญหาบางอย่างขึ้นแล้ว ก็ต้องแสวงหาทางแก้ เพื่อให้กลับมาเขียนหนังสือด้วยความรื่นรมย์ต่อไปให้ได้ ในขณะที่อ่านงานเขียนของนักเขียนคนอื่นก็จะได้เห็นกระบวนการเขียนของนักเขียนคนนั้นๆ ด้วย เช่น ขณะอ่านเรื่อง พี่กับน้อง ของ หยูหัว นักเขียนชาวจีน แม้ว่าเรื่องราวบางตอนจะนำเสนอภาพที่น่าเกลียดไม่ชวนอ่าน แต่เมื่ออ่านจบก็พบว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักเขียนจึงต้องสะท้อนภาพที่น่าเกลียดเล่านั้นออกมา จึงถือว่าเป็นโชคดีในขณะที่อ่าน เพราะเกิดความรื่นรมย์ทั้งในฐานของนักเขียนและในฐานะของนักอ่าน ในฐานะของนักเขียน คุณเจนเห็นว่าก่อนที่จะเริ่มเขียนนักเขียนต้องสนุกที่จะเขียนก่อน และสิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือ ความสนุกของเรา คนอื่นเขาจะสนุกด้วยหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ต้องหาคิดวิธีว่าจะเขียนอย่างไรให้สนุกด้วย
อาจารย์สุวรรณาตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดบางคนจึงอ่านหนังสือเรื่องเดิมซ้ำบ่อยๆ คุณเจนเห็นว่าคนจะประทับใจหนังสือในแต่ละช่วงเวลา จึงอาจกล่าวได้ว่าความรื่นรมย์มีช่วงเวลา โดยส่วนตัวหนังสืออ่านซ้ำคือ 100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ และขณะที่อ่านแต่ละครั้งก็จะพบประเด็นบางอย่างที่ต่างกันไป หรือว่าบางครั้งก็ต้องการอ่านเพื่อค้นหาอะไรบางอย่างจากในหนังสือ เช่น ครั้งหนึ่งอ่านเพื่อค้นหาว่า มาร์เกซ เขียนถึง เช กูวารา นักปฏิวัติในโบวิเลียน ไว้อย่างไร หรือบางครั้งก็กลับไปอ่านเรื่องสั้นเก่าๆ
คุณชมัยภรเห็นว่าหนังสือที่คนมักจะอ่านซ้ำส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือที่อ่านแล้วมีความสุขขณะที่อ่าน โดยเฉพาะหนังสือที่อ่านในวัยเด็ก โดยส่วนตัวหนังสือที่มักจะอ่านซ้ำ เช่น เรื่องสั้นเรื่อง แก้วตา ของแม่อนงค์ เพราะเป็นเรื่องแรกที่อ่านแล้วแม่เลี้ยงเป็นคนดี จึงประทับใจ หรือเรื่อง ความสุขของชีวิต ถึงแม้จะเป็นเรื่องเศร้า แต่ก็ไม่เหี้ยม หรือ นันทวัน นิยายรักของดอกไม้สด และเรื่อง คนปลูกป่า ของ ฌ็อง ฌิโอโน ด้วยเหตุนี้ อาจารย์สุวรรณาจึงเห็นว่าผู้อ่านสามารถสร้างความเป็นอมตะให้กับหนังสือบางเล่มสำหรับตนเองได้
อาจารย์สุวรรณาถามคำถามสุดท้ายสำหรับการเสวนาวันนี้ว่าทั้งสองท่านมีความเห็นอย่างไรกับคำพูดที่ว่า ทุกวันนี้เด็กไม่อ่านหนังสือ นั่นเป็นเพราะว่าเขาไม่เห็นความรื่นรมย์ในการอ่านใช่หรือไม่ และหนังสือกระดาษจะหายไปจากโลกนี้จริงหรือ อาจารย์ชมัยภรเห็นว่าการที่เด็กไม่อ่านหนังสือส่วนหนึ่งเป็นความผิดของผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่ไม่ได้สร้างสิ่งแวดล้อมในการอ่านให้กับเด็ก และยังเห็นว่าการที่เด็กอ่านหนังสือไม่ว่าจะเริ่มอ่านจากหนังสือการ์ตูนหรือหนังสืออะไร ก็ดีทั้งนั้น เพราะเชื่อว่าเมื่อเด็กเริ่มจากการอ่านการ์ตูน ต่อไปเขาจะขยับไปอ่านหนังสือเล่ม รวมถึงหนังสือ e- book ดีๆ ได้เอง แต่ขณะนี้คงต้องคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้หนังสือคุณภาพมีทั้งในรูปร้อยแก้ว การ์ตูน และ e-book เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเลือกอ่านได้ตามวาระและความพอใจของแต่ละคน
คุณเจนตอบคำถามในเรื่อง e-book ว่า e-book นับเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ในขณะนี้เรายังไม่รู้ว่าความลงตัวของ e-book อยู่ที่ใด และคงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งที่จะบอกได้ว่า e-book มาจะมาแทนหนังสือเล่มได้จริงหรือ โดยส่วนตัวเห็นว่า e-book จะมาแทนหนังสือเล่มได้ถ้ามีความคงทนในระดับหนึ่ง แพร่กระจายไปได้มาก และราคาถูก ทั้งนี้เห็นว่าสิ่งที่สังคมไทยขาดจริงๆ ในขณะนี้คือ ขาดต้นธารการเล่าเรื่องที่ดี จึงควรมีการพัฒนาวิธีการเล่าเรื่องที่ดีและให้สวยงามก่อน เพราะหากการเล่าเรื่องไม่ดีแล้ว หนังสือจะแพร่หลายได้อย่างไร