รายการ หลบมุมอ่าน : นงลักษณ์ เหล่าวอ บัตเลอร์ ดำเนินรายการ
– ตอนที่เขียนศรีบูรพา เพราะว่าท่านเป็นนักเขียน และเราก็เป็นนักเขียน เรามีความรู้สึกว่า
ยังไงเราก็ต้องเขียนประวัติท่าน
แล้วก็เรื่องข้อมูลเกี่ยวกับงานเขียนเราก็อ่านหนังสือของท่านมาตลอด
มันก็ไม่ได้ทันคิดในเรื่องที่ว่าบั้นปลายชีวิตท่านเป็นแบบนี้ แต่ว่าเราสะเทือนใจ
เพราะตอนที่เขียนศรีบูรพา คุณชนิด
สายประดิษฐ์ ท่านยังมีชีวิตอยู่ และท่านก็เป็นผู้ให้สัมภาษณ์
ถึงฉากสุดท้ายของชีวิตของศรีบูรพา เราสะเทือนใจมาก เพราะว่าเรียนถามท่านว่า
ท่านได้นั่งอยู่เคียงข้างศรีบูรพาในขณะที่ศรีบูรพากำลังจะจากไปใช่ไหม คุณชนิด
ตอบว่า ไม่ใช่ ดิฉันนอนป่วยอยู่อีกห้องหนึ่ง ซึ่งประโยคนี้มันสะเทือนใจมากๆ ว่า
ด้วยความที่เราเป็นนักเขียน เราจะชอบจินตนาการ ว่า ภรรยาคงจะกุมมือจนวินาทีสุดท้าย
ซึ่งมันคนละเรื่องเลย ความเป็นจริงมันโหดร้ายกว่านั้น
คือท่านนอนป่วยอยู่คนละห้องเลย และประวัติของท่านเวลาที่เขียนแล้วจินตนาการมากๆ ตามแบบนักเขียน คุณชนิด
สายประดิษฐ์ ท่านก็กรุณาแก้ให้ ท่านคงไม่อยากให้เราเห็นว่า ศรีบูรพาเป็นเทวดา อะไรทำนองนั้น
ท่านก็บอกว่า ไม่เอาๆ แบบนี้ศรีบูรพาไม่เป็นหรอก คือเราโกรธแทน เราใส่อารมณ์
ฟูมฟายเล็กน้อย ว่าศรีบูรพาน้อยใจประเทศไทย คุณชนิดท่านบอกว่า ไม่ๆ ศรีบูรพาไม่เคยน้อยใจประเทศไทย
เราก็มานั่งคิดว่า จริงนะ บางที่ผู้ที่อยู่ใกล้เขาจะเข้าใจ
แต่เราเป็นผู้หญิงที่เขียนประวัติผู้ชายเราก็ไปใส่อารมณ์แบบผู้หญิง
ซึ่งท่านก็แก้ตรงนี้ให้
พอมาเขียนประวัติของท่านปรีดี
ใน สันติ ปรีดี โชคดีมากที่ลูกทั้ง 3
คนของท่านยังอยู่ยังสามารถให้ข้อมูลได้ครบถ้วน
โดยเฉพาะ อาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ ท่านจะบอกรายละเอียดเยอะ
เราก็ประมวลประวัติของท่านปรีดีมาแล้วก็ค่อยๆ เขียน ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์เอง
ท่านก็เขียนประวัติของท่านไว้โดยละเอียดลออมากแบบเห็นเป็นภาพเลย
ทำให้ทำงานง่ายขึ้น ยากที่สุดก็คือตอนที่ท่านอยู่เมืองนอกเพราะเราไม่เคยได้ไปกราบท่าน
ก่อนหน้านั้นก็ยังไม่ได้รู้จักท่านอย่างเต็มร้อย
เพราะว่าเราอยู่ในสังคมที่ข้อมูลถูกปิดไปครึ่งหนึ่งตลอด และข้อมูลเบี้ยวๆตลอด เพราะฉะนั้นการมาเขียนประวัติของศรีบูรพา
และท่านปรีดี 2 เล่มแรก เท่ากับเราต้องไปเปิดข้อมูล
เราก็ค่อยๆตระหนกตกตื่นไปเรื่อยๆ ว่า ข้อมูลมันเป็นแบบนี้นะ แล้วก็ค่อยๆเขียน
เพราะฉะนั้นช่วงที่อยู่ต่างประเทศก็ต้องไปหาข้อมูลต่างๆ และเป็นลักษณะเดียวกันเลย
ช่วงของศรีบูรพาหาจากคุณชนิด แต่ไม่บอก ช่วงของท่านปรีดีหาข้อมูลต่างประเทศยาก
แม้ว่าอาจารย์ดุษฎีจะบอกแต่ข้อมูลมันไม่มีปรากฏ พอมาถึงเล่มที่ 3 ของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากร ท่านก็เขียนของท่านไว้ในตอนแรกๆเหมือนกัน
เราก็เพียงแต่เอาทั้งหลายทั้งปวงมาเชื่อมแล้วก็ใช้เทคนิคการเขียนนวนิยายทำให้สอดคล้องเป็นเรื่องเดียวกัน
แต่พอถึงช่วงต่างประเทศ พอท่านเส้นโลหิตในสมองแตก เขียนยากมาก เริ่มงง
เราจะอธิบายยังไง เราจะบรรยายยังไง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าท่านคิดท่านรู้สึกอย่างไร
เราต้องทำให้ดีที่สุด
เท่าที่เราคิดว่าคนที่เส้นโลหิตในสมองแตกแล้วท่านยังดูมีความสุขกับชีวิตที่เป็นอยู่ในขณะนั้นได้ควรจะเป็นอย่างไร
แต่เรียกว่าทั้งสามเล่มนี้เสียน้ำตามาก คือเขียนไปร้องไห้ไป
ตอนที่เขียนของศรีบูรพาเรารู้อยู่แล้วว่าท่านเสียชีวิตที่เมืองจีนและรายละเอียดก็พอสมควรก็สะเทือนใจเพราะว่าได้ยินคุณชนิดพูดเรื่องฉากสุดท้าย
พอมาถึงท่านปรีดี สะเทือนใจ ตื่นใจ ตกใจ มีหลายข้อมูลมาก
เพราะข้อมูลของท่านปรีดีจะเป็นข้อมูลที่ปิดที่สุดในความรู้สึก
เมื่อเขียนของท่านปรีดีครบสมบูรณ์ได้ในตอนจบ ก็พบว่าท่านมีคนที่อยากให้ข้อมูลความยิ่งใหญ่ของท่านเยอะมาก
เราก็สามารถเขียนไปได้ พอมาถึงของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากร
ช่วงท้ายของท่านเป็นช่วงที่ไม่มีใครเปิดข้อมูล พอเราไปหาข้อมูล กลายเป็นว่าเราต้องไปหารายบุคคล
หรือไปหาตามเว็ปไซต์ คนที่สนิทก็ไม่รู้อยู่ตรงไหน
ส่วนลูกก็ทราบว่าท่านก็ไม่อยากให้ใครมาเขียนเรื่องย่อคุณพ่อมากนัก
เราก็ต้องระมัดระวัง แต่เนื่องจาก อาจารย์ป๋วยเกี่ยวข้องกับข้อมูลที่เราใกล้ชิดก็คือข้อมูล
6 ตุลา เป็นข้อมูลที่เราได้ยินด้วยหูของเราเอง
ในบ้านในเมืองของเราเองใกล้ที่สุด มันสะเทือนใจมาก
ยิ่งถึงตอนสุดท้ายที่ท่านกลับมาเมืองไทยแล้วท่านจะกลับไปเมืองนอก มันใกล้ตัวมาก
มันสะเทือนใจจนเรารู้สึกว่าเราทนแทบไม่ได้ บางเวลาก็ร้องไห้แล้วทุบโต๊ะไปด้วย มีความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆว่า
ทำไมมันต้องเป็นแบบนี้
รู้สึกจริงๆว่าทำไมประวัติของอาจารย์เป็นแบบนี้
คนที่ทำอะไรให้แผ่นดินบ้านเราทำไมเป็นแบบนี้หมดเลย มันเหมือนกับ 3 ครั้ง ที่ซ้อนกันเข้ามา
ใช้วิธีการเขียนอย่างไรให้คนอ่านเข้าถึงได้ง่าย
–
ทั้ง 3 ท่าน จริงๆ แล้วมีประวัติตามที่ต่างๆ
หนังสือที่ท่านเขียนก็มีตามที่ต่างๆ แต่ว่าสำหรับเยาวชนจะหาอ่านได้ยาก
หรืออ่านแล้วจะไม่สามารถปะติดปะต่อได้
การที่ใช้วิธีของนวนิยายเข้ามาสร้างให้เห็นเป็นภาพชีวิตของทั้ง 3 ท่าน มันทำให้เรื่องหรือข้อมูลที่มันแหว่งๆ มันมาต่อกันหมด
เมื่อมันมาต่อกันหมด คนอ่านจะอ่านรวดเดียวจะเข้าใจภาพรวม
จุดประสงค์ไม่ใช่คนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วเขารักหรือตามงานอยู่แล้ว
แต่สำหรับเด็กและเยาวชนที่ไม่รู้จักทั้ง 3 ท่านเลย คนรุ่นหลังไม่รู้จัก เวลาพูดถึงทั้ง 3 คน
จะพันกันหมดบางที่เอามารวมกันเฉยเลย ก็อยากให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก
ได้อ่านและได้เข้าใจ ได้เห็นภาพรวมและไม่ไปพูดผิดๆ อีก
ทำไมถึงเขียนถึงบุคคลทั้ง 3 ท่านนี้
– เป็นคนที่ถ้าอยากทำแล้วจะทำ เป็นคนที่ไม่ค่อยได้ฟังว่าคนอื่นจะมีปฏิกิริยาอย่างไร
ตอนที่เลือกเขียนศรีบูรพา ทางเลือกมันน้อยมากเพราะไม่มีคนเขียน
และเป็นกรรมการจัดงาน 100 ปี ศรีบูรพา ด้วย
เลยตัดสินใจเหลือเวลาอีกประมาณ 3 เดือนก็เขียนเลย
พอลงมือเขียนแล้วก็เกิดความฮึกเหิมว่าเราเขียนสารนิยายได้
เราสามารถเอาประวัติชีวิตคนมาเรียบเรียงในแบบนวนิยายได้ เมื่อเราทำศรีบูรพาได้แล้ว
พอมาถึงท่านปรีดีก็คิดว่า
เรายังทำให้ศรีบูรพาได้เลยแล้วทำไมเราจะทำให้ท่านปรีดีไม่ได้ เราก็คิดว่าเราทำได้
ไม่ได้สนใจว่าจะถูกใครว่าอย่างไร ตอนที่ลงในนิตยสารขวัญเรือน ก็ทราบมาจากคนอื่นๆ หลังจากที่ลงจบแล้วว่า
ชมัยภรได้ข้อมูลผิดอะไรทำนองนี้ เราก็ฟังแล้วก็ยิ้มๆ แล้วบอกว่า
เขาเองก็คงได้ข้อมูลผิดเหมือนกัน
ทั้ง 3 คนนี้เป็นสุดๆ ของชีวิตแล้ว มีความรู้สึกว่าเราขอบคุณตัวเองที่เราทำงานชิ้นนี้ได้
สามารถหาข้อมูลพอสมควร มันอาจจะมีอะไรที่ไม่สมบูรณ์ก็เป็นเรื่องปกติ
แต่ก็ถือว่าการนำประวัติของแต่ละท่านมาเรียงตั้งแต่ต้นจนปลายสามารถทำให้เห็นเป็นภาพได้
ในส่วนของกวีนิพนธ์
อาจารย์ชมัยภรเห็นว่ามีความสำคัญมากน้อยแค่ไหนถ้าเทียบกับนวนิยายที่อ่านง่ายกว่า
– กวีนิพนธ์เป็นเรื่องของคำ
เรื่องของเสียง เป็นเรื่องของภาพ ถ้าคนอ่านเห็น คำ ภาพ
เสียงชัดเจนเข้าถึงอารมณ์ของบทกวีนั้นได้มันจะทะลุเลยกว่านวนิยาย
เนื่องจากมันเป็นงานประเภทที่ใช้คำน้อย มีความหมายลึกที่สุด กว้างที่สุด
ถ้าคนที่อ่านเอาไปตีความ เขาจะตีความได้หลากหลายได้แตกต่างมาก โดยที่ยังคงอยู่บนฐานเดิม
เพราะฉะนั้นความสามารถในการตีความมันขึ้นอยู่กับตัวผู้อ่านแต่ละคน
เมื่อตัวผู้อ่านและตัวกวีทั้งสองฝ่ายต่างมีประสบการณ์
แล้วพอประสบการณ์มันมาทาบทับกันแล้วมันเกิดการตีความออกไปมันจะมีความลึกมาก กวีนิพนธ์จึงเป็นงานที่สร้างยาก อ่านยาก แต่ถ้าเข้าถึงแล้วจะทะลุไกล
ลึกซึ้ง สามารถยกระดับจิตวิญญาณได้ ไม่ต้องถึงกับปีนบันไดอ่าน
แต่ใช้การอ่านมาก เพราะการอ่านมากเราจะเห็นคำมาก
พอเราเห็นคำมากเราจะไม่เห็นคำเป็นคำๆ เดียว ไม่ใช่ว่าเห็นคำนี้แล้วความหมายเดียว
เราจะเห็นคำนี้แล้วมีความหมายลึก ความหมายแตกต่าง เมื่อคำที่มีความหมายแตกต่างมาอยู่ด้วยกัน
เวลาเราอ่านมันก็จะได้ความหมายใหม่ขึ้นมา คำชุดใหม่ กลุ่มความรู้สึกใหม่ ยิ่งเล่น
ยิ่งอ่าน ยิ่งสนุก กวีนิพนธ์จะมีความงามตรงนี้
พอยิ่งสนุกก็อาจจะหลบเร้นเข้าไปอยู่ในโลกของตัวเอง
เป็นโลกเฉพาะที่เข้าถึงแล้วจะเข้าได้อย่างลึกซึ้ง เข้าถึงแล้วจะเข้าได้ถึงจิตวิญาณ
เป็นพี่น้องกับการนั่งสมาธิได้เลย
เนื่องจากกวีนิพนธ์เป็นงานมรดกด้วย
หมายถึงว่าเป็นงานที่มันเกิดขึ้นของเราเอง เป็นลักษณะทางวัฒนธรรมของเราเองโดยเฉพาะ
เรายิ่งทำความเข้าใจเรายิ่งเห็นรากของวัฒนธรรมที่มันซ้อนอยู่ในภาษา ในคำแต่ละคำตามยุคตามสมัยด้วย
ยิ่งเราอ่านวรรณคดี เราก็จะเจอคำ แล้วคำเหล่านั้นมันพัฒนามาจนปัจจุบันมัน เป็นอะไร
และคำแค่นี้มันจะมีความหมายไปขนาดไหน ต้องอ่านเยอะๆ อ่านออกเสียง
หรืออ่านวรรณคดีเก่าๆ ด้วย
เพราะวรรณคดีจะให้คำและให้เราได้รู้รากฐานของวัฒนธรรมด้วย
เล่าถึงการอบรมการเขียนในที่ต่างๆ ที่ได้อบรมมาว่าในการอบรมแต่ละครั้งแต่ละที่ได้เห็นพัฒนาการของผู้เข้าอบรมอย่างไร
–
ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดที่ไปอบรมแต่ละที่คือ ไม่เคยบอกเลยว่าเมื่อคุณเขียนแล้วคุณจะรวย
เมื่อคุณเขียนแล้วคุณจะมีอาชีพจากการเขียน ไม่เคยบอกเลย เราจะบอกตลอดเวลาว่าคุณมาเรียนเพื่อที่คุณจะรู้จักตัวเอง
การเขียนคือการเรียนรู้จักตัวเอง คุณจะได้รู้ว่าคุณคิดอะไร
อารมณ์ความรู้สึกคุณเป็นอย่างไร ถ้าคุณรู้จักตัวเองชัดเจนว่าคุณคิดอะไร
อารมณ์ความรู้สึกชัดเจนแล้วถ่ายทอดออกมา เช่น กำลังอึดอัด กำลังทุกข์
ถ้ามันถูกถ่ายทอดออกมา มันก็จะเป็นการเยียวยา เหมือนกันหมดไม่ใช่แค่อบรมเยาวชน
หรือผู้ใหญ่ แม้แต่นักโทษก็พูดแบบเดียวกัน นักโทษที่อยู่ในคุกเขาไม่ได้คิดหรอกว่าเราไปอบรมแล้วพ้นโทษมาเขาจะมีอาชีพเป็นนักเขียน
แต่เราเข้าไปเพื่อจะบอกเขาว่าข้างในคุณมีก้อนอะไรอยู่ มันดันอยู่ใช่ไหม เอาออก กระจายออก
แผ่ออก มองเข้าไปให้ทะลุ เมื่อเราเข้าใจตัวเองชัดเจนขึ้น คุณจะเข้าใจคนอื่น
เพราะฉะนั้นเวลาไปพูดจะทำความเข้าใจเลยว่าคุณเขียนไปเพื่ออะไร
เขียนเพื่อดูแลตัวเอง อบรมเพื่อรักษาตัวเอง รักษาใจตัวเอง
ให้อยู่ในสถานะโกรธก็ให้รู้ว่าโกรธ เกลียดก็ให้รู้ว่าเกลียด
เกลียดอย่างไรอธิบายได้ แล้วมันจะหาย ถ้ามันยังอยู่ข้างในแล้วไม่เคยเอาออก
มันก็จะไประรานผู้อื่น แต่ถ้ามันระบายออกไปแล้ว
และถ้าเรายิ่งเอาฝีมือทางวรรณศิลป์เข้าไปจับ แล้วเราอธิบายมันได้
มันก็กลายเป็นสุนทรียะ บางทีเราเกลียดตัวเอง แต่ถ้าเราสามารถอธิบายมันออกมาแล้วมันมีความงามของมันออกมาด้วย
เราก็จะรู้สึกว่าเราก็ทำอะไรดีๆ ได้ การเขียนจึงเป็นการเยียวยาตัวเอง
การอ่านก็เป็นการหาข้อมูลเพื่อเยียวยาตัวเอง แต่เวลาไปอบรมบางกลุ่มหรือหลายๆ คนก็จะคาดหวังจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ก็จะบอกเขาว่า
เอาไปใช้ประโยชน์ได้เฉพาะเรื่องการเยียวยาแต่ไม่สามารถเอาไปใช้เป็นอาชีพได้
ไม่สามารถเอาไปทำเป็นเงินได้
เวลาที่เขียนงานตัวเองเขียนเพื่ออะไร
คิดว่าเป็นการเยียวยาด้วยหรือเปล่า
– มันก็น่าจะเป็นการเยียวยาโดยอัตโนมัติ
เราไม่ได้พูดไปโดยที่เราไม่ได้ทำด้วยตัวเอง
เราทำด้วยตัวเองเราเลยรู้ว่าทำไมเราจึงมีชีวิตแบบนี้มาได้
ที่สรุปเป็นแบบนี้เพราะว่า สังเกตจากงานตัวเอง สมัยก่อนเวลาที่เรามีความทุกข์
มีเรื่อง มีคดีความ พอเราลงมือเขียนเราสังเกตเรื่องที่เราเขียน
อย่างคำทักของคนที่เป็นนักอ่านก็มีความหมายกับเรา เช่น ทักว่า ทำไมเรื่องมีแต่พระ
ทำไมตัวละครต้องฝัน เราก็คิดว่า เราฝันนี่เราคงกดดันอะไรสักอย่าง
เรามีพระเราคงต้องการหาทางออกให้ชีวิต
มันเห็น แต่ละเรื่องก็ค่อยๆ เขียนไป ค่อยๆ เรียนรู้ไป
หรือบางเรื่องที่เราเขียน เราคิดว่าเราสอนตัวละคร ปรากฏว่ามีนักอ่านบอกว่า
อ่านแล้วรู้สึกว่าคนเขียนกำลังสอนตัวเอง เราก็มาดูว่าที่เราวางไว้ทั้งหมดมันคือความทุกข์ของเราเอง
แต่เราเอามาใส่ตัวละคร แล้วเราก็สอนตัวละครแต่ในขณะเดียวกันเราบอกตัวเราเอง
มันก็คือกระบวนการเยียวยาตัวเองโดยที่เราไม่รู้ตัว ทำมาเรื่อยๆ เราเป็นคนทำงานเยอะ
ต้องขอบคุณนิตยสารเพราะเขาทวงต้นฉบับไม่เลิก เมื่อเขาทวงไม่เลิก เราก็ต้องทำงานไม่เลิก
เราก็มีโอกาสได้เยียวยาตัวเองไปเรื่อยๆ เมื่อเยียวยาตัวเองไปมันก็มีผิดมีถูก มีดี
มีไม่ดี ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา
แต่ว่ามันเท่ากับเราได้ปฏิบัติด้วยตัวเราเองว่าเราเขียนแบบนี้แล้วมันช่วยตัวเราได้
นวนิยายเล่มล่าสุด สายาห์สาละวน
มีแรงบันดาลใจอย่างไร
– เรื่องสายาห์สาละวน เกิดจากความรู้สึกว่าสังคมไทยมีแต่คนแก่
และเราเองก็แก่ลงไปทุกวัน คนแก่จะเชื่อมกับคนที่เป็นวัยหนุ่มสาวได้อย่างไร
เชื่อมได้ด้วยอะไร หรือว่าต่างคนต่างจะทำความเข้าใจกันได้อย่างไร
อะไรเป็นตัวประสาน ก็เลยคิดขึ้นมา แต่ตอนที่คิดเรื่องสายาห์สาละวนคิดอยู่ด้วยว่าเราควรจะเขียนเรื่องสนุกๆ
บ้าง ให้คนแก่สนุก แต่ด้วยนิสัยไม่ใช่คนแบบนั้น เวลาเขียนไปแล้วก็อดไม่ได้ที่จะลงสาระของชีวิตจริงๆ
คือคนแก่ก็สนุกแต่ไม่ใช่สนุกจนไม่เข้าใจว่าบั้นปลายชีวิตคืออะไร
วรรณกรรมในอาเซียนมีพัฒนาการเป็นอย่างไรบ้าง
– ถ้าเป็นอาเซียนด้วยกัน
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยทำโครงวรรณกรรมสัมพันธ์เป็นโครงการร่วมกันว่าเราจะเอางานของประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนเลือกเรื่องมาแปลไปเป็นภาษาของอีกฝ่ายหนึ่ง
แล้วก็เอาไปอ่าน ให้อีกฝ่ายหนึ่งได้เรียนรู้ว่าประเทศไทยเขียนเรื่องเป็นอย่างไร และเราก็ได้รู้ว่าเขาเขียนเรื่องเป็นอย่างไร
โครงการนี้เริ่มต้นสมัยคุณประภัสสร เสวีกุล เป็นนายกสมาคมนักเขียนฯ
ท่านก็เริ่มจากกัมพูชา แปล ไทย-กัมพูชา
และก็มีแปลภาษาอังกฤษด้วยในเล่มเดียวกันเพื่อให้คนที่ไม่รู้ทั้งสองภาษาได้รู้ด้วยว่าชาตินี้เขียนเป็นเรื่องสั้นอ่านว่าอะไร
เป็นอย่างไร พอมาถึงสมัยเราก็จะทำมาเลเซียกับจีน พอสมัยคุณเจน (สงสัมพันธ์)
ก็มาต่อที่ลาวซึ่งทำมาอยู่แล้วสมัยคุณประภัสสร แล้วก็ต่อเนื่องมา
สิ่งที่มองเห็นหลังจากที่ทำวรรณกรรมสัมพันคือเรื่องที่แต่ละชาติคัดออกมาก็จะเป็นเรื่องที่แสดงวัฒนธรรมตัวเอง
แล้วก็จะมีลักษณะร่วม แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือปัญหาเรื่องการแปล
เพราะเราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า เขาแปลออกมามันได้สะท้อนต้นฉบับจริงๆ หรือเปล่า
เช่น ของกัมพูชา เราอ่านแล้วเราจะรู้สึกว่าเรื่องอ่อน
ของลาวเราก็รู้สึกว่าเรื่องอ่อน ก็ไม่รู้ว่าเกิดจากภาษาหรือเกิดจากตัวเรื่องแท้ๆ
เพราะสองชาตินี้เราต้องยอมรับว่าเขาผ่านสงคราม
ลักษณะช่วงหนึ่งเหมือนเขาไม่ได้พัฒนา คำว่าอ่อนหมายถึงว่าเรื่องมันชั้นเดียว
มันไม่ลึกมาก แต่มันสะท้อนความเป็นจริง ในขณะเดียวกัน ที่ทำของจีนสิ่งที่เห็นคือ
ไทยอ่อน จีนเรื่องซับซ้อนมากทั้งๆ ในเรื่องแบบเดียวกัน คือสังคมของเขามันซับซ้อน
คนเลยมีความคิดซับซ้อนด้วย ปัญหามันก็คือภาษาเรื่องการแปล
แปลมันอาจจะทำให้ความซับซ้อน ความเข้าใจบางอย่างมันหายไปก็ได้
เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพัฒนากันต่อ เวียดนามบทกวีดีมาก ลึกมาก สิ่งที่น่าสนใจคือ
เขาผ่านสงครามแต่เขาผ่านแบบเจ็บปวด เรื่องของเวียดนามจะมีลักษณะคล้ายจีน
มีความซับซ้อน อ่านแล้วรู้เลยว่าเขาหลายชั้น และเวียดนามจะไปไกล ในขณะที่ลาว
กัมพูชายังชั้นเดียว เหมือนวัฒนธรรมถูกทำลาย
แต่ของเวียดนามไม่ถูกแล้วเขาไปต่อได้เลยด้วยความเจ็บปวด ด้วยความรู้สึกเลย
ฝากถึงการอ่าน
– เรื่องของการอ่านก็อยากให้ทุกคนได้รับรู้ว่า
ในชีวิตเราการอ่านมันคือการนำเข้าที่สำคัญ
เราไม่ได้อ่านแต่หนังสืออย่างเดียว เราอ่านชีวิตรอบๆ ตัวเราไปพร้อมกันด้วย
ถ้าเราไม่อ่านเลย เราไม่นำเข้าอะไรเลยในชีวิต ชีวิตเรามันจะงอกเงยตรงไหน
มันจะต่อเติมไปได้อย่างไร มันจะเอาอะไรไปสังเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต
ในขณะเดียวกัน การเขียนก็เป็นการถ่ายทอด
เพราะฉะนั้นสองกระบวนการนี้มันเป็นพี่น้องกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ถ้าเราทิ้งอันใดอันหนึ่ง คำว่าเขียนในทีนี้ไม่ได้หมายถึงเขียนเป็นอาชีพ
มันอาจจะเป็นการเขียนบันทึก บันทึกมันมีความหมายมาก อย่างน้อยที่สุดมันจะทำให้ใจของคุณที่มันกำลังเป็นก้อนไม่รู้ว่าเรื่องอะไร
มันคลี่คลายออกไปได้ แล้วมันก็จะดีขึ้น เพราะฉะนั้นอ่านเขียน วนเวียนอยู่ในชีวิตคุณเสมอ