ชมัยภร แสงกระจ่าง กับ Troika Author
นิธิ นิธิวีรกุล รายงาน
อาจจะเคยคุ้นกันมานานแล้วกับนิยามคำว่าผู้ชายสีฟ้า,
ผู้หญิงสีชมพู เช่นนั้นเมื่อนิยายเล่มหนึ่งปรากฏชื่อว่า ผู้หญิงสีฟ้า
ความสนใจจึงพึงมีด้วยเหตุผลสองประการ 1)
เพื่อค้นหาความหมายในความเป็นผู้หญิงสีฟ้า และ 2)
ในวันและวัยที่ผ่านพ้นมาจนถึงการได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติของชมัยภร แสงกระจ่าง
ผู้หญิงในมุมของชมัยภรมีเฉดสีแบบไหน
ยิ่งเมื่อบวกรวมกับนิยามความเป็นนักเขียนหญิงของคนสองรุ่น
คือ รุ่นของชมัยภรและอีกรุ่นคือ Troika Author หรือ สาม
นักเขียนสาวรุ่นหลาน
นักเขียนทั้งสองจะมีมุมและการมองอย่างไรเพื่อสะท้อนให้เห็นสีที่เป็นตัวของตัวเองภายในงานเปิดตัวหนังสือผู้หญิงสีฟ้ากับนวนิยายสองรุ่น
ร่วมเสวนาให้เข้มข้นยิ่งขึ้นโดย คิม จูฮยอน ซีอีโอของบริษัท everyones film (หรือชื่อเกาหลี ว่า โมดูฟิล์ม) ผู้สร้างซีรี่ส์ Web Drama ของเกาหลี
เริ่มแรกกับประเด็นที่มาของชื่อนิยาย
ชมัยภรให้คำตอบไว้ว่า
ผู้หญิงสีฟ้ามันเกิดความรู้สึกมาจากที่ผู้หญิงต้องใช้สีชมพู
แล้วผู้ชายก็ต้องใช้สีฟ้า แต่ถ้าทันทีที่ผู้หญิงไม่ใช่สีชมพู อย่างที่เมื่อกี้คุยกับคุณจรัญ
หอมเทียนทอง (อดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ) เขาบอกว่า อย่างนี้นางเอกก็เป็นทอมน่ะสิ
ซึ่งไม่ใช่ เพียงแค่นางเอกไม่ได้เป็นผู้หญิงสีชมพูเท่านั้นเอง นางเอกจะลำบากหน่อย
ต้องต่อสู้ชีวิต ไม่ได้มีชีวิตเป็นผู้หญิงสีชมพู จึงเป็นที่มาของเรื่องนี้
โดยเรื่องนี้เขียนลงในนิตยสารขวัญเรือน แรกทีเดียว
เราจะเขียนเรื่องราวแนวชีวิต ไม่ใช่แนวเจ้าชายเจ้าหญิงหรือพระเอกนางเอก
ทีนี้ก็เกิดความรู้สึกว่า เราควรจะเขียนเรื่องที่มันโรแมนติกบ้าง วันหนึ่ง อาจารย์จเลิศ
เจษฎาวัลย์ (คณบดีคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง) ก็มาเล่าเรื่องให้ฟัง
เนื่องจากลูกศิษย์เขาเจอผู้หญิงคนหนึ่งยืนคอยใครก็ไม่รู้หน้าศูนย์การค้า ตั้งแต่บ่ายจนถึงค่ำโดยไม่ไปไหน ลูกศิษย์ก็ยืนเฝ้าอยู่อย่างนั้น ปรากฏว่าเธอกลับบ้านไม่ถูก เขาก็เลยไปส่งบ้าน
ก็เลยชอบพอกัน แต่ก็ถูกกีดขวางโดยผู้ปกครองของผู้หญิง
เป็นหน้าที่ของดิฉันที่ต้องเขียน ว่าต้องเขียนอย่างไรให้มันโรแมนติก
ซึ่งดิฉันก็แก่แล้ว เขียนอย่างไรก็ไม่โรแมนติก มันก็เลยกลายเป็นเรื่องที่จริงจังขึ้นทุกที
ผู้หญิงที่เราวางพล็อตไว้ก็แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ แกร่งขึ้นเรื่อยๆ
ก็กลายมาเป็นผู้หญิงสีฟ้า ซึ่งที่มันเป็นแบบนั้นเพราะว่าเรา
เพราะเราก็ต้องผ่านอะไรแบบนี้มา เราก็เลยต้องสร้างอะไรแบบนี้ขึ้นมา
เพราะฉะนั้นผู้หญิงสีฟ้าก็เลยกลายเป็นผู้หญิงแกร่ง
ส่วนผลงานของ Troika Author หรือ สาม เติบโตมาจากโลกออนไลน์
สามบอกเล่าถึงนิยายของตัวเองในชื่อ เกมส์รักพลิกอนาคต
เอาไว้ว่า ด้วยความที่ตัวสามอยู่เกาหลี ในเรื่องพื้นที่ก็อยู่ในเกาหลีเลย
ที่มาก็คือเมื่อมาคิดถึงเรื่องอนาคตแล้ว ก็คิดไปถึงการไปดูดวง
ทำให้เชื่อว่าสิ่งที่หมอดูพูดมันเป็นเรื่องจริง
แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นแค่ความเป็นไปได้
ก็เลยเขียนเรื่องนี้มาเพื่อให้คนรู้ว่าในอนาคตไม่ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้
นวนิยายเล่มนี้จะถูกนำไปสร้างเป็นซีรี่ส์เกาหลีในชื่อ Mark Point โดยสามบอกว่า
ทางเรากับทางบริษัทได้คุยกันแล้วเรารู้สึกว่าเราอยากเป็นนักเขียนคนไทยคนหนึ่งที่มีผลงานออกไปถึงเกาหลีบ้าง
เราก็เลยลองเขียนพล็อตแล้วเสนอไป
คิม จูฮยอน ซีอีโอของบริษัทชื่อ everyones film หรือชื่อเกาหลี (อ่านว่า) โมดูฟิล์ม ได้กล่าวสอดรับไว้ว่า
ในพล็อตนิยายไทยก็จะมีความแตกต่างจากพล็อตของเกาหลี
มีส่วนที่คล้ายคลึงกันแล้วก็มีส่วนที่แตกต่างกันด้วย
ซึ่งพอมันลงตัวมันก็เป็นทั้งความแตกต่างและความคล้ายคลึงกัน
ก่อนเป็นนักเขียนของสองรุ่นที่แตกต่าง
รุ่นใหม่จากออนไลน์
เส้นทางก่อนมาเป็นนักเขียนของสามเริ่มต้นจากการที่เป็นคนชอบอ่านหนังสืออย่างหัวขโมยแห่งบารามอส
งานของแนวแจ่มใสของ May 112 ก่อนจะเริ่มเขียนบทคัดย่อในชั้นเรียนจนมาถึงเริ่มเผยแพร่ในเว็บไซต์
Dek D จนเริ่มมีฐานแฟนคลับจึงนำไปลง E-book
โดยสามยังบอกเล่าต่ออีกว่าแฟนคลับในโลกนักอ่านออนไลน์เกิดขึ้นจากการเขียนนิยาย
อัพเดตไปเรื่อยๆ
ในวันแรกมีแฟนคลับสิบคนคือดีใจมาก หลังๆ ก็ไม่ท้อ
พอเริ่มทำไปเรื่อยๆ มาดูอีกทีหนึ่งก็สองพันคนแล้ว
ส่วนชมัยภรบอกเล่าว่าการเริ่มเขียนหนังสือในแบบยุคของตนนั้นแทบเป็นคนละโลกนะ แต่มันเป็นโลกที่ต้องม้วนไปหากัน
ดิฉันเกิดจากหนังสือ
คืออ่านหนังสือของคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ในบ้านทุกเล่ม แม่อ่านนวนิยาย พ่ออ่านสารคดี
เพราะฉะนั้นความรู้สึกอยากอ่านมันจะมีตลอดเวลา
มีช่วงหนึ่งอ่านหนังสือจนกระทั่งวันสอบ อ่านนิยายจนสัปหงก
พออ่านเยอะแล้วเราจะรู้สึกเขียน แล้วเราจะอ่านเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
เรียนหนังสือมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเรียนอักษรศาสตร์มันก็คือหนังสือทั้งนั้น
เราก็เลยโตมากับหนังสือ ซึ่งเราก็ต้องเลือกว่าเราจะเขียนแบบไหน
ซึ่งช่วงที่หนังสือมีอิทธิพลกับเรามากที่สุดก็คือช่วง 12-13 งานของคุณศุภร
บุนนาค ภาษาเขางามมาก เราก็เรียนอักษรศาสตร์ตามหนังสือของคุณศุภรนั่นแหละ
เส้นทางมันเหมือนมาด้วยหนังสือ
แต่เราข้ามขั้นนิดหนึ่งตรงที่เราเป็นนักวิจารย์ก่อนจะมาเป็นนักเขียน มาลงสกุลไทย
มาลงขวัญเรือน อย่างเรื่องผู้หญิงสีฟ้าก็ลงขวัญเรือน
พอได้ยินสามพูดเรื่องออนไลน์ มีคนอ่านสิบคนก็ดีใจมาก
ดิฉันเขียน fictionlog มีคนอ่าน 15 คน ซึ่งตื่นเต้นมาก
เพราะไม่ใช่คนเก่าๆ เพราะกลุ่มนั้นเขาเข้าไม่ได้ เข้าไม่เป็น เป็นคนใหม่ มันเป็นโลกที่ในที่สุดเราก็ต้องเรียนรู้
และเราก็ต้องไม่สนใจว่าจะมีคนอ่านกี่คน เราสนใจแค่ว่าเราจะทำงาน เพราะฉะนั้นโลกนี้มันให้โอกาสเราปรับตัว
ซึ่งจุดประสงค์ของมันคือเรายังทำงานได้หรือไม่ได้
ส่วนคิมจูฮยอน เล่าถึงตนเอง ในนฐานะคนทำซีรี่ส์ว่า
ในเบื้องต้นตัวเองก็ชอบอ่านนิยายรัก
ก่อนจะโตขึ้นจึงได้เริ่มอ่านหนังสือที่มันซับซ้อนหรือระทึกขึ้น
และมันก็ส่งผลต่อการทำซีรี่ส์ด้วย เพราะว่าคนเกาหลีชอบอ่านหนังสือทั้งผ่านหนังสือและอ่านแอพเช่นกัน
จากนิยายสู่ละครซีรี่ส์
ผู้สร้างเลือกเรื่อง
ในฐานะที่เคยมีผลงานถูกนำไปสร้างเป็นละคร ชมัยภรบอกเล่าถึงผลงานของตนในอดีตที่ยังมีการติดต่อนำไปสร้างเป็นละคร
ขณะที่ไม่มีนิยายไปทำละคร
อย่าง รังนกบนปลายไม้ เพราะซื้อดักกัน
เป็นเทคนิคดักกันไปดักกันมาไม่ต้องทำ จริงๆ ผู้หญิงสีฟ้า ตอนลงแรกๆ เขาจองนะคะ
สมัยก่อนพอลงกันได้สักสี่ห้าตอนเขาก็จะมาจอง แต่เขารู้ฤทธิ์เดชชมัยภรดี
เพราะพอเขียนไปเรื่อยๆ มันจะไม่มันเหมือนเรื่องของสาม เพราะชมัยภรไม่พลิก ฉะนั้นพอเขาติดใจเรื่อง
ติดใจตัวละคร เขาจะจองไว้ แล้วพอเขาไปทำละคร
เขาอาจจะบอกเราหรือไม่บอกเราก็ได้ในการเลือกตัวละคร ซึ่งดิฉันก็ไม่ก้าวก่าย
เวลาคนทำละคร เขาเลือกเรื่องให้ไปตรงกับดารา
บางทีดาราคนนี้ดังก็จะหาเรื่องไปป้อนให้เขา บางเรื่องก็ไม่ได้คิดว่าจะไปทำเลย
อย่างเรื่องหน้าต่างสีชมพู ประตูสีฟ้า มันเป็นเรื่องเด็กมาก
แต่ปรากฏว่าตอนนั้นน้องพลับดัง
ทางช่องก็เลยไปขอซื้อเพราะจะทำให้น้องพลับเป็นตัวละคร
เพราะฉะนั้นมันไม่มีเงื่อนไขอะไรชัดเจน แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นโครงสร้างของเรื่อง
ถ้าดิฉันสามารถเขียนเรื่องราวที่มันพลิกผันมากๆ อย่างที่น้องสามเขียน
ทางช่องก็อาจจะชอบ
ทุกวันนี้เราก็จะเห็นละครในลักษณะนี้
แต่ลักษณะละครที่เราเบื่อ มันซ้ำไปซ้ำมา มันอยู่ที่เทคนิคการสร้าง
มันก็สามารถพลิกมุมให้คนเห็นว่าน่าสนใจได้
ผู้สร้างและนักเขียนทำงานร่วมกัน
ในส่วนของสาม
ขั้นตอนการนำนิยายไปสร้างเป็นละครเริ่มต้นตั้งแต่ในขั้นคอนเซ็ปต์กับสนพ.ซึ่งจะวางแผนไว้แต่แรกแล้วว่าจะต้องเป็นซีรี่ส์
มีโปรดิวเซอร์คอยคุม (คล้าย บก.) และCo-writer ที่คอยปรับภาษาและขยายเนื้อหา
คือเขาจะใช้ไอเดียจากต่างประเทศว่าเราไม่สามารถใช้คนๆ
เดียวในการเขียนงานได้เวลาที่จะทำซีรี่ส์ จะต้องใช้ประมาณสามคน คนแรกเขียน
คนที่สองปรับ แล้วคนที่สามก็จะปรับอีกที
ซึ่งการจะนำไปสู่ละครซีรี่ส์แบบที่คนไทยคุ้นกันนั้น
สามบอกว่าต้องอาศัยความกล้าในการพาตัวเองเข้าไปนำเสนอ
มีโอกาสได้เจอเราก็เลยเสนอตัวเพราะเราก็ต้องมีความกล้านิดนึง
เราก็เสนอว่าเราอยากทำซีรี่ส์จังเลยค่ะ ถ้าเกิดเรามีโอกาสเราจะทำยังไงได้บ้าง
เขาก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นก็เลยส่งพล็อตมาแล้วกันว่ามันโอเคหรือเปล่า
ทางเขาเห็นว่ามันน่าสนใจก็เลยดีลกัน รวมทั้งการประสานกันในแง่ของการตลาด
ด้านคิมจูฮยอน ฝั่งเกาหลีบอกว่า พิจารณาจากพล็อตและตอบคำถามไว้ว่าทำไมถึงชอบในเรื่องนี้
คิมกล่าวว่า
ปกติแล้วทางเว็บดราม่าที่มีละครลักษณะเดียวกันเยอะ
พออ่านพล็อตของคุณสามแล้วพบว่ามันมีความแตกต่าง ก็เลยคิดว่าเป็นสินค้าใหม่ที่น่าสนใจ
เพราะมันจะพลิกค่อนข้างเยอะ เกี่ยวข้องกับโชคชะตา การมองเห็นอนาคต
มีความสืบสวนสอบสวนอยู่ในตัว รวมทั้งดราม่าครอบครัว มีความรัก มันจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ
เส้นทางที่เปลี่ยนไปของนักเขียน
เมื่อแพลตฟอร์มการอ่านแปรเปลี่ยนจากกระดาษมาสู่หน้าจอสมาร์ทโฟน
การสร้างงานเขียนแทบไม่ต้องผ่านนิตยสารอีกแล้ว นักเขียนรุ่นเก่าอย่างชมัยภรมองอย่างไร?
มันก็เป็นปัญหาที่เรากำลังพิจารณากันอยู่ ศิลปินแห่งชาติให้คำตอบ
สมาคมนักเขียนเองก็กำลังหาทางอยู่เหมือนกัน
บางทีทางสมาคมอาจจะต้องทำเพจของตัวเองแล้วให้นักเขียนทั้งหลายเข้ามาใช้พื้นที่ได้
แล้วมีหน่วยงานราชการสนับสนุนเพื่อให้ค่าเรื่องนักเขียนให้เขาอยู่ได้บ้าง
ทำอย่างไรเขาเปิดพื้นที่เหล่านี้ขึ้นมาได้ มันจำเป็นที่จะต้องมีในส่วนของสมาคมนักเขียนด้วย
นักเขียนรุ่นเก่าๆ ก็สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ของคุณรุ่นใหม่เพื่อเข้าถึงนักอ่านได้
ถ้าเราสามารถสร้างพื้นที่ของเราขึ้นมาได้ แต่เราก็ต้องคิดถึงวิธีในการอ่าน
การเสพของคนที่เขาไม่สามารถที่จะใช้โทรศัพท์มือถืออ่านได้ เขาก็ต้องอ่านหนังสือเล่ม
ดิฉันคิดว่านิตยสารบางเล่มก็ยังควรจะอยู่
ฉะนั้นหนทางของสื่อสิ่งพิมพ์ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องช่วยกันคิด
มันอยู่ในระยะปรับตัว สื่อเองก็ต้องปรับตัว
ทำอย่างไรให้เขาสามารถทำละครให้มีความหลากหลายให้ได้
สำหรับที่สามมองว่า หนังสือกระดาษในความคิดตนคือคนจะซื้อมาเพื่อเป็นของสะสม
เป็นของที่ซื้อแล้วอ่านซ้ำได้ เอาไว้เก็บเอาไว้โชว์
แล้วเอื้อต่อสายตาของคนเรามากกว่า
เช่นเดียวกับคิมจูฮยอน
ซึ่งมองว่าการทำเว็บดราม่าก็จะมีกลุ่มตลาดที่ต่างกันกับเสน่ห์ของหนังสือ ซึ่งไม่ได้แปลว่าการเสพเว็บดราม่าจะไปบดบังเสน่ห์ของหนังสือให้หายไป
เนื่องจากทั้งสองสื่อจะให้ภาพที่แตกต่างกัน
เพราะการดูหนังมันคือการดูจินตนาการของผู้กำกับ
แต่ถ้าเราอ่านหนังสือคือเราจะสามารถได้ดูจินตนาการของตัวเองด้วย.