วาระฉลองครบ 40 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
โครงการการประชุมวิชาการวรรณคดีศึกษาระดับชาติครั้งที่ 1
“8 ทศวรรษวรรณกรรมวิจารณ์ไทย”
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

หลักการและเหตุผล

ในวงจรของการเขียนและการอ่านนั้น การวิจารณ์วรรณกรรมเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในฐานะเครื่องมือสร้างวิจารณญาณให้ผู้อ่าน และสร้างพัฒนาการให้ผู้เขียน สิ่งนี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งมีการวิจารณ์วรรณกรรมเฉพาะเล่มอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประวัติศาสตร์การวิจารณ์วรรณกรรมไทยเมื่อต้นทศวรรษ 2470 ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลังการตอบโต้กันระหว่างหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ในฐานะนักเขียน กับพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ในฐานะนักวิจารณ์แล้ว การวิจารณ์ ไม่เพียงแต่ให้บทเรียนแก่หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงปรับปรุงงานเขียนเล่มต่อไปของท่านเท่านั้น แต่ยังทำให้พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ปรับท่าทีในการวิจารณ์วรรณกรรมในงานเขียนชิ้นต่อมาอีกด้วย

หลังจากการวิจารณ์วรรณกรรมในลักษณะอัตตวิจารณ์ (เช่น กรณีของพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์) ในยุคเริ่มแรกแล้ว การวิจารณ์วรรณกรรมไทยก็มีความเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ จนภายหลังจากการวิจารณ์ได้รับการบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย การวิจารณ์ในเชิงทฤษฎีที่ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศจึงได้รับความสนใจและก่อให้เกิดอาชีพนักวิจารณ์ขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 2510 กระทั่งทุกวันนี้ การวิจารณ์วรรณกรรมกลายเป็นส่วนหนึ่งที่จะขาดเสียไม่ได้สำหรับนิตยสารและหนังสือพิมพ์ เพราะนอกจากจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการ “กรอง” หนังสือที่ผลิตออกมามากมายในแต่ละวันแล้ว ยังเป็นการหยิบยื่น “เครื่องมือในการอ่าน” หรือ “วิธีการอ่านที่หลากหลาย” ให้แก่สังคมด้วย

ดังกล่าวแล้วว่าในการวิจารณ์ยุคแรก ๆ นักวิจารณ์ยังคงใช้หลักอัตตวิจารณ์เป็นหลัก กระทั่งเมื่อการเรียนการสอนวรรณกรรมหยั่งรากฝังลึกมากขึ้น แนวคิดเชิงทฤษฎีก็เข้ามามีบทบาท โดยเฉพาะช่วงทศวรรษ 2510 ถึงต้นทศวรรษ 2520 นั้น การวิจารณ์ในเชิงการเมืองและสังคมได้รับความนิยมอย่างสูง ส่งผลให้เกิดงานวิชาการวรรณกรรมแนวนี้ขึ้นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายทศวรรษ แนวคิดนี้เริ่มเสื่อมลง พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของการวิจารณ์แนวใหม่ (New criticism) ที่ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ตัวบทอย่างเข้มข้น แนวคิดนี้มุ่งศึกษาความเข้มข้นเชิงความคิดและปัญญาที่วรรณกรรมสะท้อนออกมา อันอาจส่งผลย้อนกลับไปสู่ผู้อ่าน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการสร้างความสมจริง ผ่านการวางองค์ประกอบในวรรณกรรม

การวิจารณ์แนวใหม่ก่อให้เกิดผลงานวิชาการ วิทยานิพนธ์ ตลอดจนงานวิจารณ์ที่สำคัญหลายต่อหลายเรื่อง เพราะเป็นแนวการวิจารณ์ที่สำคัญและได้รับการส่งเสริมในมหาวิทยาลัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ในบรรยากาศเช่นนี้ แนวคิดการวิจารณ์แนวโครงสร้าง หลังโครงสร้าง และแนวรื้อสร้าง ซึ่งสองแนวหลังอาจเรียกได้ว่าเป็น แนวหลังสมัยใหม่ (Post modern) ก็เผยแพร่เข้ามาและสร้างความแปลกใหม่ให้แก่การอ่านวรรณกรรมในช่วงต้นทศวรรษ 2530 จนก่อตัวขึ้นเป็นกระแสความสนใจของนักอ่าน นักเขียน อาจารย์ ตลอดจนนักศึกษาทีละน้อย และกลายมาเป็นแนวคิดที่สำคัญในการศึกษาวรรณกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยในทุกวันนี้

ในกระแสของประวัติศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้น จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการระดมความคิดเพื่อศึกษาพัฒนาการ และบทบาทของแนวคิดทฤษฎีการวิจารณ์ ที่ส่งผลอย่างยิ่งต่อวงการวรรณกรรมของไทย ในโอกาสครบรอบ 80 ปีจึงสมควรจัดกิจกรรมทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สนใจได้มีโอกาสค้นคว้าและทำความเข้าใจในงานวิจารณ์วรรณกรรมของไทยต่อไป

วัตถุประสงค์

1. เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดทฤษฎีวรรณกรรมวิจารณ์ไทย
2. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และผลงานของนักวิจารณ์วรรณกรรมไทยแก่ผู้สนใจ
3. เพื่อส่งเสริมให้สังคมรู้จักวรรณกรรมวิจารณ์ไทยมากขึ้น

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1. ได้ผลงานวิชาการของนักวิชาการ/นักวิจารณ์ที่สนใจศึกษางานวรรณกรรมวิจารณ์ไทย
2. ได้เห็นพัฒนาการของงานวิจารณ์วรรณกรรมไทยตั้งแต่ยุคบุกเบิกถึงปัจจุบัน
3. เป็นแนวทางในการศึกษาวรรณกรรมวิจารณ์ไทยต่อไป
4. เป็นการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยสงขลา -นครินทร์ ครบรอบ 40 ปี และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งมีความเข้มแข็งทางวิชาการด้านภาษาไทย โดยเฉพาะวรรณกรรมวิจารณ์

กำหนดจัดงาน             

1-2 สิงหาคม พ.ศ. 2551

สถานที่จัดงาน            

ณ ห้องประชุม โรงแรมธรรมรินทร์ธนา จังหวัดตรัง

ค่าลงทะเบียน

อาจารย์ นักวิชาการ และบุคคลทั่วไป
คนละ       1,000 บาท
นิสิตนักศึกษา คนละ             500 บาท
(ค่าใช้จ่ายเบิกได้ตามระเบียบราชการ)

ผู้สนใจส่งใบสมัครพร้อมค่าลงทะเบียน ไปยัง
คุณนงเยาว์ สุจริต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี 94000

ภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2551
หรือโทร/โทรสาร       073-338064
หรือ 086-3186147 (อ.ดร.วิมลมาศ ปฤชากุล)
      081-6902026 (อ.เชิดชัย อุดมพันธ์)

กำหนดการประชุม

8 ทศวรรษวรรณกรรมวิจารณ์ไทย
โครงการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

1 สิงหาคม พ.ศ. 2551

08.00-08.30 น      ลงทะเบียน
08.30-08.45 น.
พิธีเปิดการประชุม โดย อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
08.45-09.40 น.
ปาฐกถาเปิดงาน
โดย รศ.ดร.ดวงมน จิตร์จำนงค์ เมธีวิจัยอาวุโส
09.40- 09.50 น. พักรับประทานอาหารว่าง
09.50 – 12.30 น.

การอภิปรายเรื่อง “พัฒนาการของวรรณกรรมวิจารณ์ไทย: จากวรรณกรรมวิจารณ์แนวใหม่ (New Criticism) สู่แนวหลังสมัยใหม่ (Post modernism)”
วิทยากร      ศ.ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธุ์
รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
ดร. สุรเดช โชติอุดมพันธ์
ผู้ดำเนินรายการ      ดร. วีระวัฒน์ อินทรพร

12.30 – 13.15 น พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.15 -15.00 น.            

การอภิปรายเรื่อง “พัฒนาการของวรรณกรรมวิจารณ์ไทย: จากวรรณกรรมวิจารณ์แนวใหม่ (New Criticism) สู่แนวหลังสมัยใหม่ (Post modernism)” (ต่อ)
วิทยากร      อาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง
ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา
รศ.ดร.สรณัฐ ไตลังคะ
ผู้ดำเนินรายการ      อาจารย์เชิดชัย อุดมพันธ์
15.00-15.15 น.       พักรับประทานอาหารว่าง
15.00-15.15 น.      ประชุมกลุ่มย่อย : ระดมความคิด/แลกเปลี่ยนทรรศนะ

กลุ่มที่ 1 รศ.ดร.ดวงมน จิตร์จำนงค์, ผศ.ธัญญา สังขพันธานนท์
นำแลกเปลี่ยน

กลุ่มที่ 2 รศ.ดร.สรณัฐ ไตลังคะ, ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา
       นำแลกเปลี่ยน

กลุ่มที่ 3 รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์      
นำแลกเปลี่ยน

กลุ่มที่ 4 ศ.ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธุ์, อ.ชมัยภร แสงกระจ่าง
นำแลกเปลี่ยน
19.00-21.00 น.            สนทนาใน “สภากาแฟ” กับ นักเขียนและนักวิจารณ์

2 สิงหาคม พ.ศ.2551
08.30-12.00 น.      

เสวนาเรื่อง “วรรณกรรมวิจารณ์กับพัฒนาการของงานเขียน ?”
วิทยากร คุณชาติ กอบจิตติ
      คุณไพฑูรย์ ธัญญา
คุณมนตรี ศรียงค์
คุณจรูญ หยูทอง
12.00-13.00 น.       พักรับประทานอาหารกลางวัน

13.00-14.00 น.       ปาฐกถาปิดการประชุม โดย ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ

*****************

* กำหนดการและวิทยากร อาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม *