HOSO Chiang Mai Arts Festival
โครงการศิลปวัฒนธรรมในความร่วมมือเพื่อเมืองเชียงใหม่
5-7 มิถุนายน 2552
ณ หอศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สร้างสรรค์ สร้างสุขและสืบสานพลังคุณค่าที่ดีงามของประชาสังคมด้วยศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ รวบรวมความหลากหลายของกลุ่มคนรากหญ้าที่เชื่อมั่นศรัทธามีชีวิตทั้งชีวิตอยู่กับศิลปะที่จำเป็นต้องสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมที่ต้องสืบสานและสร้างสุขให้กับคนเชียงใหม่และผู้มาเยือน

กิจกรรมภายใต้ HOSO Chiang Mai Arts Festival 2009

กิจกรรมสาธิต กิจกรรมเรียนรู้ และการจำหน่ายศิลปะพื้นเมือง ประยุกต์ และร่วมสมัย โดยแบ่งเป็นโซน

• โซนศิลปะพื้นบ้าน ประกอบด้วย การสาธิตภูมิปัญญาล้านนาของพ่อครูแม่ครู/หลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับเด็กและเยาวชนสืบสานล้านนา/การแสดงของกลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา/กาดหมั้ว-สาธิต/และจำหน่ายอาหารท้องถิ่นพื้นเมืองเชียงใหม่ ฯลฯ

• โซนวรรณกรรม ประกอบด้วย การสาธิตและนำเสนอตัวอย่างทำหนังสือทำมือ/แข่งขันทำหนังสือทำมือตลอดงาน/การจัดมุมพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนผ่านกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเขียนเพื่อชีวิต/แผงจำหน่ายหนังสือวรรณกรรม/พบปะพูดคุยกับนักเขียน ฯลฯ

• โซนตลาดศิลปะ ประกอบด้วย การสาธิตและนำเสนอเทคนิค การจำหน่ายงานศิลปะทุกประเภท เช่น งานวาด งานปั้น งานแกะสลัก งานจักสาน/งานศิลปะที่ทำด้วยมือและวัสดุอุปกรณ์เหลือใช้ใกล้ตัว/ รวมทั้งจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยผสมผสาน ฯลฯ

• โซนตลาดแบ่งปัน ประกอบด้วย การนำผลงานศิลปะ ของสะสม ของเก่าหาดูยาก ของที่ไม่ได้ใช้แล้วของแต่ละคนมาแลกเปลี่ยนกันหรือจำหน่ายในราคามิตรภาพ เพื่อรณรงค์ลดการบริโภคสินค้าใหม่ และรู้จักใช้ผลิตภัณฑ์อย่างรู้คุณค่า ฯลฯ

• โซนละครหุ่นมือ-หุ่นเงา-ละคร และหนังกลางแปลง ประกอบด้วย การสาธิตและการสอนการร่วมผลิตหุ่นมือ-หุ่นเงา-เล่นละครสำหรับครอบครัว และสำหรับเด็กและเยาวชน/การแสดงละครหุ่นมือ-หุ่นเงา/การฉายหนังจอเล็ก หนังสั้น-หนังสร้างสรรค์/การฉายหนังกลางแปลง พากย์เสียงภาคสดย้อนยุค ฯลฯ

• โซนดนตรีและเวทีการแสดง ประกอบด้วย การสาธิตและการสอนแต่งเพลง การทำต้นผลงานเพลง/ชมการแสดงดนตรีของกลุ่มศิลปะพื้นเมือง-ประยุกต์ และสื่อท้องถิ่นร่วมสมัย ผสมผสานหลากหลาย อาทิ การซอพื้นเมืองปะทะแร็ป-สะป๊ะกลอง-โฮะโซะดนตรี-การอ่านบทกวีประกอบดนตรี-การแสดงของกลุ่ม อินดี้ ฯลฯ

• โซนเสวนา “โฮะโซะ” ศิลปะเพื่อเมืองเชียงใหม่ ประกอบด้วย วิทยากรรับเชิญมาร่วมพูดคุยกันในประเด็น “ศิลปะสื่อสร้างสรรค์-สร้างสุข เพื่อเมืองเชียงใหม่” และกิจกรรมทัวร์ต้นไม้ใหญ่ ในเขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่ เพื่อสร้างผลงานศิลปะภาพเขียนและผลงานเขียน สำหรับกลุ่มโรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่

• โซนข่วงคนมีศิลป์ “ปล่อยผีคนมีศิลป์” ประกอบด้วย พื้นที่เปิดสำหรับเด็กและเยาวชน บุคคลทั่วไปที่มีผลงานศิลปะหรือการแสดงออกอย่างมีศิลปะ โดยไม่จำกัดอายุ-ประเภทและผลงานได้เข้ามาร่วมแสดงออกสื่อสารต่อสังคมอย่างสร้างสรรค์-สร้างสุข ได้อย่างเต็มที่

สอบถามรายละเอียดได้ที่ http://hoso2009.hi5.com

HOSO Chiang Mai Arts Festival
โครงการศิลปวัฒนธรรมในความร่วมมือเพื่อเมืองเชียงใหม่
ทำไมจึงต้อง “โฮะโซะ” กันด้วย

เมื่อถามถึงเมืองเอกอุด้านวัฒนธรรมทุกคนจะนึกถึงเชียงใหม่ เมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีภูมินิเวศเป็นดอยสูงอันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธาร มีกลุ่มชนอันหลากหลายตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน จึงมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่สืบสานกันมาหลายรุ่นคน

แม้ในปัจจุบันเมืองเชียงใหม่ยังคงมีกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางด้านวัฒนธรรมหลากหลายมากมายทั้งกลุ่มวัฒนธรรมพื้นบ้าน กลุ่มวัฒนธรรมร่วมสมัย กลุ่มวัฒนธรรมสมัยใหม่ แต่กลุ่มทางด้านวัฒนธรรมแต่ละกลุ่มต่างจัดกิจกรรมของใครของมัน ต่างกรรมต่างวาระ กระจัดกระจายจนไม่มีพลังสะท้อนความเข้มแข็งทางด้านวัฒนธรรมอย่างชัดเจน

จนเมื่อปี 2551 กลุ่มวัฒนธรรมหลากหลายกลุ่มได้พบปะพูดคุยกัน มีความเห็นร่วมกันว่าในกระแสยุคโลกาภิวัตน์ส่งผลให้เมืองเชียงใหม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ความรู้สมัยใหม่ เทคโนโลยีและการสื่อสาร จนทำให้ศิลปวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ขาดการมีส่วนร่วมจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ และขาดการสนับสนุนส่งเสริมให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน ความภาคภูมิใจในคุณค่าศิลปวัฒนธรรมที่เคยมีมาเริ่มลดน้อยถอยลง
จึงน่าจะได้มารวมตัวกันทำงานทางด้านวัฒนธรรม

แนวคิดในการรวมกันครั้งนี้ เป็นการเชิญชวนกลุ่มวัฒนธรรมทุกกลุ่มเข้ามาทำงานร่วมกันโดยที่แต่ละกลุ่มยังคงเอกลักษณ์ของกลุ่มตน การรวมกันของกลุ่มที่หลากหลายตรงกับคำล้านนาว่า “โฮะ” ขณะเดียวกันควรสร้างบรรยากาศการแลกเปลี่ยนถกเถียงกันอย่างเต็มที่ด้วยบรรยากาศแห่งเพื่อนมิตร ซึ่งมีความหมายตรงกับคาล้านนาว่า “โซะ” จึงเป็นที่มาของการก่อเกิดครั้งนี้ว่า “โฮะโซะ”

5-7 มิถุนายน 2552 ณ หอศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สอบถามรายละเอียดได้ที่ http://hoso2009.hi5.com