MRS. DALLOWAY : Virginia Woolf
read by O
“The leaden circles dissolved in the air. Such fools we are,…”
หอนาฬิกาบิ๊กเบนตีบอกเวลา เสียงกังวานค่อยๆ เลือนหายไปในอากาศ ในยามนี้เมื่อทุกสิ่งนิ่งสนิท รู้สึกวังเวงและชวนใจหายนัก ประโยคข้างต้นปรากฏอยู่บ่อยครั้งในหนังสือมิสซิสดัลโลเวย์ของเวอร์จิเนีย วูลฟ์ หนังสือที่ตรึงใจคนอ่านเสมอไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด
ภาพของความเป็นความตายคอยย้ำเตือนเราอยู่เสมอว่าชีวิตในบางครั้งนั้น…ห่างกันแค่มือเอื้อมหรือเพียงก้าวเท้าเดิน ทั้งในโลกแห่งความเป็นจริงและโลกประดิษฐ์จากในหนังสือ ด้วยเค้าโครงเรื่องเพียงแค่ว่ามิสซิสดัลโลเวย์ในวัยห้าสิบสองปี เตรียมจะจัดงานปาร์ตี้ในค่ำคืนหนึ่งที่บ้านของเธอ แม้เรื่องราวทั้งหมดจะเกิดขึ้นภายในวันเดียว แต่ความแตกต่างที่แยกเวอร์จิเนีย วูลฟ์ให้โดดเด่นออกมาคือความสามารถในการใช้ภาษา และรูปแบบการเขียนที่ส่งผลให้หนังสือเล่มนี้มีชีวิตชีวาเต็มเปี่ยม วูลฟ์เขียนบันทึกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ปี 1922 ว่า The Hours (ชื่อดั้งเดิมของมิสซิสดัลโลเวย์) เป็นการศึกษาถึงชีวิตและความตาย ความปกติและความบ้า เธอต้องการจะวิเคราะห์ระบบสังคม แสดงให้เห็นว่าในยามความรู้สึกของมนุษย์แรงกล้า ภาพสังคมนั้นมีความซับซ้อนอย่างไร
การเดินเท้าภายในวันเดียวของมิสซิสดัลโลเวย์เริ่มต้นในยามเช้าที่อากาศสดชื่นแจ่มใส เธอเดินออกจากบ้านบนถนนวิคตอเรียแถวเวสต์มินสเตอร์ โดยตั้งใจจะไปซื้อดอกไม้ โลกที่ผ่านสายตาของผู้หญิงคนนี้กำลังแสดงให้เรารู้ว่าเธอรักเมืองแห่งนี้อย่างไร มีความร่าเริงสดใสของกรุงลอนดอนที่ผู้คนต่างเดินผ่านไปมาบนท้องถนน เธอเดินเข้าสวนเซนต์เจมส์ปาร์ก ที่นี้ช่างเงียบเหลือเกิน ยินแต่เสียงธรรมชาติและเห็นต้นไม้เขียวขจีท่ามกลางหมอกหนา เธอเจอฮิวจ์เพื่อนเก่า ฮิวจ์กำลังจะไปไหน เธอทักทายและลัดเลาะเดินต่อไปยังพิคคาดิลลี่จนถึงบอนด์ สตรีท ที่นั่นร้านรวงต่างๆ กำลังเปิดดำเนินการ มีคนอีกมากมายที่รู้จักมักคุ้น หลายคนคิดอะไรอยู่ และภายใต้สีหน้าที่ยิ้มแย้มของคลาริสซ่า ดัลโลเวย์ หัวใจเธอเล่าผ่านอะไรมาบ้างในชีวิต
ภาพภายนอกที่เราเห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่สัมผัสได้ในใจเสมอ เป็นความหมายแฝงที่คนอ่านคิดว่าวูลฟ์พยายามจะสื่อออกมา ขอหยิบยกคำของอี เอ็ม ฟอสเตอร์ นักเขียนชื่อดังในยุคเดียวกันมาอ้าง เพราะฟอสเตอร์อธิบายได้ดีมาก เขาวิจารณ์ถึงวิธีการเขียนของวูลฟ์ว่าเป็นการเขียนที่ชำแหละจิตใจในลักษณะที่ “further into the soul.” (ลึกเข้าไปในจิตวิญญาณ) ก่อนที่วูลฟ์จะเขียนหนังสือเล่มนี้เสร็จ เธอใช้เวลากับการอ่านและทดลองการเขียนอยู่สามปี หนังสือของเธอก่อนหน้านั้นอย่าง The Voyage Out (1915) และ Night and Day (1919) ยังใช้วิธีเขียนตามขนบแบบนวนิยายสมัยเก่า ที่มีแก่นสารและโครงเรื่องเป็นหลักในการเขียน แต่ในปี 1922 วูลฟ์เริ่มค้นพบวิธีของตัวเอง ใน Jacob’s Room ที่รูปแบบการเขียนเต็มไปด้วยกระแสสำนึกของตัวละคร วูลฟ์ใส่ใจกับการบรรยายภายในก้นบึ้งจิตใจของมนุษย์มาก เพราะเธอบอกว่าสิ่งนี้ต่างหากที่แสดงความเป็นมนุษย์ และไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะตัวเธอเองก็ลึกซึ้งและซับซ้อนนัก
ภาษาที่วูลฟ์ใช้ดงามมาก สิ่งนี้เป็นอีกจุดมุ่งหมายหนึ่งที่เธอเขียนไว้ในบันทึกว่าเธอต้องการถ้อยคำที่สวยงาม ภาษาของเธอไพเราะ มีจังหวะ สง่างามดังบทกวี วิธีการใช้เครื่องหมายมาคั่นแทนที่จะจบประโยค ทำให้ความคิดของตัวละครลื่นไหลต่อเนื่อง จนบางครั้งล้นทะลักออกมาในลักษณะ(ชวนนักอ่าน)สำลัก ถ้าไม่คุ้นเคยกับการอ่านเช่นนี้หลายคนอาจจะกุมขมับ เช่น The Waves (1931) หนังสือเล่มหลังของเธอที่ตัวละครหกคนผลัดกันแสดงความนึกคิดสืบต่อกันอย่างไม่เรียงลำดับ จะเปลี่ยนแก่นสารของเรื่องด้วยท่อนประโยคที่เกี่ยวกับคลื่นมาคั่น หลังจากนั้นก็ดำเนินเรื่องด้วยวิธีเดิม เป็นเรื่องที่ไม่มีพล็อตเช่นเดียวกับหนังสือเล่มนี้ เพียงแต่ Mrs.Dalloway อ่านง่ายกว่านั้นมาก มีความสมบูรณ์งดงามอยู่ในรูปแบบและเนื้อหาอย่างพอดิบพอดี
วูลฟ์ทดลองเขียนเรื่องสั้นแปดเรื่องก่อนที่จะมาเป็นมิสซิส ดัลโลเวย์ โดยเรื่องสั้นชุดนี้ได้นำมาตีพิมพ์ภายหลังในชื่อ Mrs. Dalloway’s Party เรื่องแรก Mrs. Dalloway in Bond Street (1923) เธอส่งให้ที เอส อีเลียต กวีที่เป็นเพื่อนสนิทอ่านและตีพิมพ์ใน The Dial ที่นิวยอร์กในเวลาต่อมา อยากให้ลองศึกษาการเขียนจากข้อความข้างล่างจะได้ทราบว่าเธอเริ่มงานเขียนอย่างไร
Big Ben was striking as she stepped out into the street. It was eleven o’clock and the unused hour was fresh as if issued to children on the beach. But there was something solemn in the deliberate swing of the repeated strokes; something stirring in the murmur of wheels and shuffle of footsteps. No doubted they were not all bound on errands of happiness…Big Ben struck the tenth; struck the eleventh stroke. The leaden circles dissolved in the air. Pride held her erect, inheriting, handing on, acquainted with discipline and with suffering.
ส่วนบทบรรยายด้านล่างเป็นข้อความที่ปรากฏในหนังสือ ซึ่งสร้างอารมณ์ที่แตกต่าง เปลี่ยนจากบทข้างบนที่ไร้สีสัน เป็นบทรำพึงความรู้สึกนึกคิดที่หลั่งไหลมาจากหัวใจมิสซิสดัลโลเวย์
And then thought Clarissa Dalloway, what a morning – fresh as if issued to children on the beach…For having lived in Westminster – how many years now? over twenty,-one feels the midst of the traffic, or waking at night, Clarissa was positive, a particular hush, or solemnity; an indescribable pause; a suspense before Big Ben strikes. There! Out it boomed. First a warning, musical; then the hour, irrevocable. The leaden circles dissolved in the air. Such fools we are, she thought, crossing Victoria Street. For Heaven only knows why one loves it so, how one sees it so, making it up, building it round one, tumbling it, creating it every moment afresh;… and the strange high singing of some aeroplane overhead was what she loved; life; London; this moment of June.
นอกจากนั้น วูลฟ์ยังเปลี่ยนสัญลักษณ์อีกหลายอย่างในเนื้อความเดียวกันนี้ ในเรื่องสั้นมิสซิสดัลโลเวย์ออกไปซื้อถุงมือ แต่ในหนังสือมิสซิสดัลโลเวย์ตั้งใจจะไปซื้อดอกไม้ การเปลี่ยนสัญลักษณ์จากถุงมือเป็นดอกไม้ การใช้ imagery มากมายในหนังสือ ก็เป็นท่วงทำนองที่สร้างความรู้สึกในการอ่านที่ต่างกัน เราจะเห็นได้ว่าถ้อยคำของมิสซิสดัลโลเวย์เป็นการบรรยายจากจิตสำนึกข้างใน มิใช่บทสนทนาโดยตรงแบบนวนิยายเล่มอื่นในยุคสมัยนั้น วูลฟ์เปลี่ยนจังหวะของการพรรณนาไปในอีกระดับหนึ่ง โดยสวมวิญญาณของตัวละครที่ในจิตใจมีทั้งสุขทั้งทุกข์ เรียกว่ามีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ เรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่งคือ The Prime Minister ที่กล่าวถึงเซปติมัส วอร์เรน สมิธ ตัวละครสำคัญอีกตัวหนึ่งในมิสซิสดัลโลเวย์ที่เป็นบ้าเพราะอาการหลอนจากการผ่านประสบการณ์ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ใครที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่อง The Hours ฉบับที่เมอรีล สตรีฟแสดง น่าจะจำเซปติมัส วอร์เรน สมิธได้ เขาน่าจะเป็นตัวละครที่เป็นโรคเอดส์ในเรื่องและกระโดดหน้าต่างตายในภายหลัง แต่คนอ่านจำชื่อตัวแสดงในเรื่องไม่ได้เองว่าเขามีชื่อว่าอะไร
วอร์เรน สมิธใน The Prime Minister มีความพยายามจะลอบสังหารนายกรัฐมนตรี ความบ้าของเขาเกิดจากความเครียดที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน ในหนังสือมิสซิสดัลโลเวย์ เซปติมัสกำลังยืนอยู่บนถนน ส่วนมิสซิสดัลโลเวย์กำลังเลือกดอกไม้อยู่ในร้าน เกิดเสียงกัมปนาทขึ้นกลางถนน ผู้คนต่างจ้องมองไปที่จุดเดียวกัน มีรถของผู้เป็นใหญ่เป็นโตกำลังบีบแตรเสียงดังสนั่น ความนึกคิดของตัวละครหลายตัวโผล่เข้ามาในห้วงเวลาเดียวกัน ต่างคนต่างคิดจนเป็นที่สังเกตได้ว่าตัวละครในหนังสือเล่มนี้มักจะเห็นเหตุการณ์เดียวกันเสมอ ภาพตัดมาอีกที เป็นเซปติมัสที่ยืนขวางทาง เขาเพิ่งนึกขึ้นได้ว่าเขาต่างหากที่ยืนขวางบนท้องถนนจนเกิดเหตุการณ์เยี่ยงนี้ เหมือนนักวิ่งผลัดที่แตะมือพลิ้วส่งต่อห้วงทางวรรณกรรม การโยกย้ายความรู้สึกของตัวละครจึงถ่ายทอดในนิยายของเวอร์จิเนีย วูลฟ์ทั้งเล่ม เซปติมัสเล่าเรื่องของเขาต่อจากมิสซิสดัลโลเวย์ คนที่เมื่อเช้าหลุดบ่นมาช่วงหนึ่งว่า “I want to kill myself.”
และในประโยคเดียวกันนี้ เซปติมัสก็ได้รำพึงในเวลาต่อมา รีเซียภรรยาของเขาต้องทนทุกข์ขนาดไหน ฉันทนไม่ได้ เป็นคำที่ริเซียเอ่ยบ่อยครั้ง นั้นอาจจะเพราะเธอไม่อยากเห็นคนที่เธอรักทุกข์ทรมานมาก เธอพาเซปติมัสเดินต่อไปบนรีเจนท์ สตรีท เธอพาเขาไปนั่งในสวนรีเจนท์ ปาร์ค คร่ำครวญถึงชีวิตที่ผ่านมา เธอจะทำอย่างไรให้คนที่เธอรักมีชีวิตต่อไป หมอบอกว่าเขาต้องไปอยู่ในสถานบำบัด ถัดมาที่ม้านั่งกลางสวน เป็นที่นั่งของเด็กชายคนหนึ่งที่อยู่กับพี่เลี้ยง ปีเตอร์ วอชเดินผ่านมา ปีเตอร์เป็นคนรักเก่าของคลาริสซ่า เขาเดินผ่านมา เห็นชายหญิงคู่หนึ่งนั่งหน้าหมอง (วอร์เรน สมิธกับริเซีย) และเด็กน้อยกำลังยิ้มสดใสให้พระอาทิตย์ ปีเตอร์ผู้พ่ายแพ้ต่อความรักเสมอ คิดถึงอะไร เขาจำเป็นต้องไปงานเลี้ยงคืนนี้หรือ แล้วคนกลุ่มนี้ล่ะ คลาริสซ่า เดลซี่ ซัลลี่หรือริชาร์ด สามีของคลาริสซ่า คนที่แย่งความรักไปจากเขา มีอะไรอยู่ในใจที่ซ่อนเร้นคนเหล่านั้น
หนังสือเล่มนี้มีชีวิตอยู่ในนั้น มีความขมขื่น ความหยิ่งยะโส การดูถูกชนชั้นและความรักที่บริสุทธิ์ มีความเป็นความตาย รวมถึงปัจจุบันและอนาคต ที่สำคัญคือมีอดีตที่ไม่ทำให้ลืมรากเหง้า มีความทรงจำที่หล่อหลอมผู้คนขึ้นมา รวมถึงความโหดร้าย และความเป็นเพื่อนในโลกใบนี้ ฉากที่สมิธโดดหน้าต่างตาย และมีเสียงของหมอร้องออกมาว่า คนขี้ขลาด! เป็นฉากที่ทำให้วูลฟ์โดนวิพากษ์มาก แต่เธอก็ไม่ได้ว่าอะไร โลกเรานี้มองได้จากมุมหลายมุม ผ่านหลากสายตาหลายความคิด วูลฟ์ประสบผลตรงที่สามารถสะท้อนมุมต่างๆ เพียงเท่านั้น
ปกติวูลฟ์จะไม่เคยเขียนคำนำลงในนิยายของตัวเอง แต่สำหรับ Mrs.Dalloway ฉบับปี 1928 ของโมเดิร์น ไลบรารี่ เธอได้เขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างมิสซิสดัลโลเวย์กับวอร์เรน สมิธไว้น่าสนใจ และยังพูดถึงผลงานกับการเป็นนักเขียน ลองอ่านได้ในบทคำนำ และชวนอ่านชีวิตในอีกมุมหนึ่งจากโลกของวูลฟ์ครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน: Virginia Woolf
Mrs.Dalloway : Virginia Woolf
ISBN 0-14-062221-7 Penguin 213 pages, £6.99
It is difficult–perhaps impossible–for a writer to say anything about his own work. All he has to say has been said as fully and as well as he can in the body of the book itself. If he failed to make his meaning clear there it is scarely likely that he will succeed in some pages of preface or postscript.
Virginia Woolf . . . An Introduction to Mrs.Dalloway (1928)
Copyright © 2005 faylicity.com
http://www.faylicity.com/book/book1/dalloway.html