คำอธิบาย
รวมบทความวิชาการในโครงการการวิจัยการวิจารณ์ในฐานะปรากฏการณ์ของสังคมร่วมสมัย (ทุนสกว.) บทความเน้นเรื่องประวัติการบริโภคศิลปะแขนงต่างๆ ทั้ง วรรณศิลป์ ทัศนศิลป์ ศิลปะการละคร และสังคีตศิลป์ ผู้ประกอบด้วย เจตนา นาควัชรระ / รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ / จักรพัยธุ์ วิลานีกุล / พนิดา ฐปนางกูร /รังสิพันธุ์ แข็งขัน
เกี่ยวกับ “การรับ การเสพ การบริโภคงานศิลปะ”
ในประเทศไทย การเสพงานศิลปะเป็นกิจกรรมยามว่างที่มีกลุ่มผู้สนใจปฏิบัติอยู่เพียงจำนวนหนึ่ง กล่าวให้ชัดเจนขึ้นก็คือ ผลงานศิลปะทั้งวรรณศิลป์ ทัศนศิลป์ คีตศิลป์ และสังคีตศิลป์ เป็นที่ชื่นชมและบริโภคในกลุ่มวงการศิลปะกันเอง หรือเป็นผู้ที่ชื่นชอบศิลปะแขนงนั้นเป็นพิเศษ เว้นแต่ว่า งานศิลปะนั้นๆ จะมีลักษณะเชิงพาณิชย์ชัดเจน มีระบบการตลาดที่แข็งกว่าคุณค่าทางศิลปะ หรือมี ดารา เป็นจุดดึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชนและคนทั่วไป
“การรับ การเสพ การบริโภคงานศิลปะ” เป็นงานวิจัยของ โครงการวิจัยการวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย (ภาค 2 ) นำโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. เจตนา นาควัชระ เมธีวิจัยอาวุโส ซึ่งสนใจในปรากฏการณ์การรับ การเสพ และการบริโภคงานศิลปะของคนในสังคมไทย จึงได้ศึกษาทั้งกระบวนการของการจัดเผยแพร่งานศิลปะ เพื่อวิเคราะห์ลึกถึงรากเหง้าของที่มาแห่งวิกฤตทางศิลปะในสังคมไทย ในขณะเดียวกันก็เพื่อสามารถมองสังคมไทยอย่างเข้าใจ สามารถตั้งรับ และยกระดับศิลปะทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ผู้สร้าง และผู้รับ
ในสถานการณ์ที่สังคมไทยขาดแนวคิดในการยกระดับงานศิลปะของประเทศ “การรับ การเสพ การบริโภคงานศิลปะ” เป็นหนังสือเล่มสำคัญ ที่จะทำให้มองเห็นแนวทางที่จะยกระดับศิลปะทั้งกระบวนการ
สำนักพิมพ์ชมนาด มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ได้รับความไว้วางใจในการจัดพิมพ์ “การรับ การเสพ การบริโภคงานศิลปะ” เล่มนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าวงการวิชาการด้านศิลปะทั่วประเทศจะได้รับประโยชน์ยิ่งจากหนังสือเล่มนี้