คำอธิบาย
พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2543
ภาพประกอบโดย นุกูล วิชัยดิษฐ์ นักวาดภาพประกอบแห่งนิตยสารสกุลไทย
รางวัลดีเด่น บันเทิงคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ 2544 (งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ)
หนังสืออ่านนอกเวลา มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ
เรื่องของคุณปู่นักวิชาการกับหลานๆ วัยอนุบาล และประถม คุณปู่ผู้รักศิลปะทุกแขนงได้พยายามถ่ายทอดเรื่องราวการใช้ความคิดเกี่ยวกับศิลปะแก่หลานๆ ซึ่งจากวิธียากๆ มาสู่วิธีง่ายๆ ให้เด็กๆ เข้าใจ คุณปู่ทำไก้ประทับใจคนอ่านยิ่งนัก และได้หันกลับมามองตัวเอง ทั้งได้เห็นวิธีสร้างลูกหลานรุ่นต่อไปของเรา ให้รู้จักสัมผัสศิลปะด้วยหัวใจ
คำนำสำนักพิมพ์
เคยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์วรรณกรรมเยาวชนไทยว่ามีน้อยและไม่แปลกแตกต่างไปจากรูปแบบเดิมๆ ทำให้ไม่สามารถ “สู้” กับกระแสวรรณกรรมเยาวชนจากต่างประเทศได้ ในฐานะคนทำหนังสือ เราถามคำถามกลับว่า แล้วคนไทยสนใจงานวรรณกรรมเยาวชนไทยมากแค่ไหน การจัดพิมพ์งานวรรณกรรมวันนี้กลับกลายเป็นให้ความสำคัญกับเรื่องยอดขายมากกว่าเรื่องเนื้อหา และวรรณกรรมดีๆ สำหรับเยาวชนถูกละเลยไป เพราะทำตลาดยาก และไหนเลยจะสู้กับกระแสวรรณกรรมเยาวชนจากต่างชาติ ที่มาพร้อมกับคำว่า “ธุรกิจข้ามชาติ”
ชมัยภร แสงกระจ่าง ที่นักอ่านทั่วไปรู้จักในฐานะนักเขียนนวนิยาย หากแต่ผู้ที่ติดตามผลงานของเธอมาตลอดจะทราบดีว่าเธอมีผลงานที่เป็น “วรรณกรรมเยาวชน” มากมายหลายเรื่อง และได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ตั้งแต่เรื่อง “บ้านหนังสือในหัวใจ” (รางวัลชมเชยสารคดี สำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น ปี ๒๕๓๔) “บันทึกจากลูก(ผู้)ชาย” (รางวัลชมเชยบันเทิงคดี สำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น ปี ๒๕๓๕) “อ่านหนังสือเล่มนี้เถอะ…ที่รัก” (รางวัลชมเชยบันเทิงคดี สำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น ๒๕๔๓) และสำหรับเรื่อง “คุณปู่แว่นตาโต”นี้ ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทบันเทิงคดี สำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น ประจำปี ๒๕๔๔ โดยได้รับพระราชทานโล่จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๔
“คุณปู่แว่นตาโต”เป็นเรื่องของคุณปู่วัยเกษียณกับเด็กวัยอนุบาลและเด็กประถมน่ารักห้าคน ที่เต็มไปด้วยความช่างสงสัย มีเสน่ห์ชวนอ่าน และชวนติดใจไปกับความน่ารักของเด็กๆ ตัวคุณปู่มีแรงบันดาลใจมาจาก ศาตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ ผู้เป็นเสมือนปราชญ์แห้งวงวรรณกรรม กลวิธีการนำเสนอเรื่องนี่ก็มีความแปลกใหม่น่าสนใจ ที่ ผศ.ดร.สุววณา เกรียงไกรเพ็ชร์ อธิบายไว้ว่าเป็น “Key Novel”(ดูคำตาม ท้ายเล่ม)
“คุณปู่แว่นตาโต” เหมาะสำหรับเด็ก เพื่อเปิดโลกของการ “สัมผัสด้วยใจ” อันเปี่ยมล้นจินตนาการ ในขณะเดียวกัน “คุณปู่แว่นตาโต”ก็เหมาะสำหรับผู้ใหญ่ เพื่อกลับไปสู่การ “สัมผัสด้วยใจ”ที่ผู้ใหญ่บางคนหลงลืมไปเสียนานแล้ว โลกเล็กๆ ใน “คุณปู่แว่นตาโต”ยังเปรียบได้กับการเรียนในระบบใหม่ ที่ต้องการฝึกให้เด็กได้รู้จักสัมผัส คิด และวิจารณ์ ด้วยตนเอง นับเป็นการจำลองโลกแห่งการเรียนรู้ได้อย่างแยบยล เป็นตัวอย่างอันดียิ่งสำหรับผู้ที่ต้อง “สอน” และผู้ที่ต้อง “เรียน”