คำอธิบาย
หยาดน้ำค้างพันปี เรื่องราวที่เขียนด้วยชีวิต กลั่นจากประสบการณ์ชีวิตที่ต้องคดีเครื่องราชยาวนานกว่า 22 ปี ก่อนศาลตัดสินยกฟ้อง
“เขียนจากชีวิต เรียนรู้ทุกข์ด้วยธรรม”
ตีพิมพ์เป็นตอนในนิตยสารสกุลไทย
นวนิยายดีๆ ที่กระทบไปถึงก้นบึ้งของหัวใจ
ย้อนอดีต สู่ปัจจุบัน
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ การจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับคดีเครื่องราชฯ เป็นข่าวโด่งดังไปทั้งประเทศ ผู้ถูกจับกุมหนึ่งในนั้น เป็นคนในวงการวรรณกรรม ที่รับราชการสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี อันเป็นสำนักสำคัญในการพิจารณาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชื่อ ชมัยภร แสงกระจ่าง ในวันนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าชื่อของ ไพลิน รุ้งรัตน์ หลังการถูกจับไม่นาน ชื่อ ไพลิน รุ้งรัตน์ ปรากฏพร้อมชื่อจริง ชมัยภร แสงกระจ่าง บนปกหนังสือ ๗ วันคดีเครื่องราชฯ บันทึกถึงลูก จากห้องขังด้วยหัวใจที่เจ็บร้าว
หากกล่าวว่าการต้องคดีเครื่องราชฯ ของชมัยภร แสงกระจ่าง ทำให้ชื่อนี้ ปรากฏตัวบนโลกวรรณกรรมได้ชัดเจนขึ้น ก็เป็นเรื่องไม่ผิดนัก หลังจากต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีนั้น ชมัยภร แสงกระจ่าง ได้เริ่มเขียนหนังสืออย่างจริงจัง จนกระทั่งเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับการยอมรับทั้งจากนักอ่านและองค์กรรัฐ ได้รับรางวัลจากองค์กรรัฐและเอกชนมากมาย
แต่ระยะเวลาตลอดมา ชมัยภร แสงกระจ่าง มีชีวิตอยู่พร้อมไปกับการต่อสู้ยาวนานทางศาล โดยมีทองใบ ทองเปาด์ (ล่วงลับ) เป็นทนายความ และ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ ๒๗ มษายน ๒๕๔๘ และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ไม่มีการฎีกา นับเป็นการปิดคดียาวนาน จากการประทับฟ้องครั้งแรกปี ๒๕๓๑ จนถึงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ปี ๒๕๕๓ รวม ๒๒ ปี
หยาดน้ำค้างพันปี เป็นนวนิยายที่เขียนด้วยชีวิต และอาจกล่าวได้ว่า กินเวลาการหาข้อมูลยาวนานถึง ๒๒ ปี ช่วงเริ่มต้นเรื่องดูเหนื่อยและหนืดเหมือนกับตัวละคร นักเขียนปูพื้นภาพจิตใจของคนที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์ไว้อย่างชัดเจน จากนั้นเปิดโลกแห่งการรู้จักใจ เรียนรู้และยอมรับ ให้อยู่ในทุกข์ได้อย่างสงบ อย่างที่เรียกว่า อยู่เย็น
หยาดน้ำค้างพันปี เป็นนวนิยายอีกเรื่องที่จะทำให้คุณได้สัมผัสถึงพลังของธรรม ที่หล่อเลี้ยงจิต และ ใจ ในยามที่คุณทดท้อ และว่ายวนอยู่ในทะเลแห่งชีวิตอย่างหนักเหนื่อย