คนรู้จักคนหนึ่ง ที่ปัจจุบันเลื่อนสถานะมาเป็นเพื่อนของฉัน มีอาชีพอยู่ในองค์กรที่ดูแลจัดการผู้อพยพในประเทศไทย หลายต่อหลายครั้งที่เธอต้องเดินทางไปทำงานแถบชายแดน พูดจากับคนต่างภาษา ทั้งพม่า ม้ง มอญ จีนฮ่อ

เมื่อสักสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เธอไปลงพื้นที่แถบ อ. เชียงดาว จ. เชียงใหม่ ติดชายแดนพม่า เธอเล่าว่า ช่างเป็นดินแดนแห่งความต่างถิ่น มีแต่คนพูดภาษาอื่น บ้านเมืองแปลกตา ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว จึงไม่มีของขายนักท่องเที่ยว ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นจีนฮ่อ อาชีพออกหน้าเป็นเกษตรกรรม อาชีพลับหลังเกี่ยวพันกับยาเสพติด

เธอกับทีมงาน 3 ชีวิต ต้องนอนหนาวอยู่ที่นั่นหลายคืน เช้ามาก็เดินสำรวจประชากร สัมภาษณ์แม่ชาวม้งที่มีลูกอ่อน ให้ได้ครบตามจำนวนที่ต้องการ (เธอว่ามากถึง 40 ชุด – จะหายังไงวะ)

แม้ชาวบ้านส่วนใหญ่ จะเกี่ยวข้องกับอาชีพยาเสพติด แต่เธอว่า ชาวบ้านยังน่ากลัวน้อยกว่าทหาร เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 1 สัปดาห์ที่นั่น ทหารหนุ่ม 2-3 นาย เวียนกันมาเฝ้าตามพวกเธอทุกฝีก้าว เมื่อว่างก็บุกเข้ามาถึงที่พักเพื่อสัมภาษณ์พวกเธอซ้ำแล้วซ้ำเล่า –เป็นใคร ชื่ออะไร ทำงานให้องค์กรไหน มากี่วัน นามสกุลอะไร กลับวันไหน มาทำอะไร- จนเธอเบื่อที่จะตอบ พอลงพื้นที่ก็จะเห็นเงาของทหารตามมา แม้กระทั่งเดินเที่ยวตลาดยามเช้า ก็ยังมีทหารสะกดรอยตาม ฉันแซวเธอว่า น่าจะดีใจ ที่มีชายในเครื่องแบบมาเดินตามต้อยๆ เธอหัวเราะเสียงแปร่ง

เธอเล่าว่า อยู่ที่นั่น เหมือนอยู่ต่างถิ่น แม้จะเป็นแผ่นดินไทย แต่ไม่มีใครพูดภาษาไทย จะพูดจากันต้องผ่านล่าม (ยกเว้นทหารหนุ่ม) แต่ที่นั่นก็สุขสบายดี บ้านเมืองดูสงบเงียบ

เธอส่งรูปสวยๆ มาให้ดู รูปถ่ายฝีมือเธอ สวยงาม ฉันชอบดอกพญาเสือโคร่ง ที่เหมือนดอกซากุระ เธอบอกว่า เป็นดอกไม้ประจำชาติมอญ ชาวมอญเรียกว่า ดอกเชรี ฟังเพราะ นุ่มนวล จนอยากจะเอาไปตั้งเป็นนามปากกา

คราวหน้าถ้าเธอไปที่ไหนมาอีก คงจะมีอะไรสวยๆ มาอวดอีกแน่นอน

ปล. ฉันได้ยุให้เธอเขียนเรื่องที่เธอไปผจญมา แต่เธอไม่ว่างเสียที ฉันจึงแอบเอามาเขียนเสียเอง หวังว่าเธอจะได้อ่าน

ปล. อีกที ภาพถ่ายฝีมือของเธอ เป็นลิขสิทธิ์ของเธอ กนกพร วิวัฒนาการ นะคะ กรุณาอย่าละเมิดลิขสิทธิ์ แต่หากสนใจ ติดต่อได้ที่ [email protected] ขอบคุณค่ะ