นักวิจารณ์วรรณกรรมคนหนึ่ง กล่าวว่า โดรโฮบิชซ์ เป็นดินแดนกึ่งฝันกึ่งจริงที่ทำให้จินตนาการของ บรูโน ชูลซ์ จิตรกรและนักเขียนชาวโปแลนด์


นักวิจารณ์วรรณกรรมคนหนึ่ง กล่าวว่า โดรโฮบิชซ์ (Drohobych – ปัจจุบัน คือ ประเทศยูเครน)  เป็นดินแดนกึ่งฝันกึ่งจริงที่ทำให้จินตนาการของ  บรูโน  ชูลซ์  (Bruno  Schulz)  จิตรกรและนักเขียนชาวโปแลนด์เชื้อสายยิว  เขียนงานออกมาได้แปลก  พิลึกแต่งดงาม



ไม่เพียงแต่นักวิจารณ์วรรณกรรมในรุ่นต่อๆ มา หรือผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าความหมายอันซ่อนอยู่ในงานวรรณกรรม ผู้ใดก็ตามที่ได้อ่านผลงานวรรณกรรมสองชิ้นสำคัญของชูลซ์  รวมเรื่องสั้นชุด  Sklepy cynamonowe-The Street of Crocodiles  (ตีพิมพ์ปี  1934)  และ  Sanatorium pod klepsydra-Sanatorium  Under the  Sign  of  the Hourglass  (ตีพิมพ์ปี  1937)  งานเขียนทั้งสองเล่มเป็นกึ่งอัตชีวประวัติ  กลั่นออกมาจากจินตนาการเชิงจิตวิเคราะห์ของชูลซ์  จะพบว่างานเขียนของเขาได้กระตุ้นแก่นความคิดและความรู้สึกทั้งในเรื่องของเฟมินิสต์  ความเป็นโพสต์โมเดิร์น  ความซาดิสม์และมาโซคิสม์  สิ่งที่ถ่ายทอดไว้ในงานเขียน  มาจากประสบการณ์ของเขาเอง  วัยเด็กที่หดหู่  ครอบครัวอัตคัด  พ่ออันเป็นที่รักป่วยและเสียชีวิต  มีเพื่อนที่ซาดิสม์  นักวิจารณ์วรรณกรรมหลายคนเมื่อได้อ่านงานเขียนของชูลซ์  ต่างก็พูดว่า  “คาฟคาน้อยแห่งโปแลนด์”  งานเขียนของชูลซ์ที่มีการผสมผสานระหว่างชีวิตของเขา  เรื่องแต่ง  และปรัชญา  ทำให้จัดหมวดให้ยากว่าควรจะอยู่ในประเภทใด  ความไม่เหมือนใครทำให้งานของเขามีพันธุกรรมเฉพาะตัวและต่างจากนักเขียนคนอื่น
 



ไอแซค ชาเชวิส ซิงเกอร์ (Isaac Bashevis Singer)  เขียนเอาไว้ใน The New York Herald Tribune Book World  “ไม่ง่ายที่จัดประเภทให้กับชูลซ์  งานเขียนของเขามีทั้งความเหนือจริง  เต็มไปด้วยสัญลักษณ์  การแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึก  และความเป็นสมัยใหม่  บางครั้งเขาเขียนออกมาเหมือนคาฟคา  และบางครั้งก็เหมือนเพร้าส์  แต่ในขณะเดียวกัน  ชูลซ์กลับทำได้ดีกว่า  ลุ่มลึกกว่า  โดยที่สองนักเขียนอย่างคาฟคาและเพร้าส์ไปไม่ถึง”


การกลั่นกรองทางความคิดทั้งหมดจนถ่ายทอดออกมาในงานเขียน  เกิดจากความเป็นคนช่างสังเกตของชูลซ์  เขาเกิด  เติบโต  และใช้ชีวิตตลอดอายุขัยอยู่ในเมืองไม่เล็กไม่ใหญ่อย่างโดรโฮบิชซ์  ความไหวเคลื่อนและความนิ่งงันของสรรพสิ่งในทุกตารางเซนติเมตรของเมืองนี้เป็นวัตถุดิบชั้นเลิศ  บวกกับพรสวรรค์ชั้นยอดในการเขียน  จึงสามารถทำให้เขาเขียนงานออกมาได้จำนวนมากมาย  จนกลายมาเป็นผลงานรวมเรื่องสั้นทั้งสองเล่ม



 


ชูลซ์ เกิดเมื่อปี  1892  ในครอบครัวชาวยิว  ใช้ชีวิตตลอดอายุขัยอยู่ในเมืองโดรโฮบิชซ์  เขาเป็นคนเก็บตัว  มีเพื่อนไม่กี่คน  เวลาว่างหมดไปกับการเขียนและวาดภาพ  เขาไม่มีความปรารถนาในการออกเดินทางไปไหน  เมื่อมีเหตุต้องออกเดินทางก็จะกินเวลาเพียงแค่ไม่กี่วันเท่านั้น  เมืองโดรโฮบิชซ์จึงเป็นศูนย์กลางของโลกสำหรับเขา 
 


ก่อนจะมาเป็นนักเขียนสำคัญคนหนึ่งของศตวรรษที่  20  เขามีความสนใจงานด้านศิลปะ  สามปีก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1  เขาเข้าศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมจาก  Lviv  University  และไปฝึกทักษะด้านนี้ในระยะเวลาสั้นๆ ที่เวียนนา  มีความสนใจที่จะเขียนหนังสือเมื่อช่วงทศวรรษที่  1920  หลังสำเร็จการศึกษา  ได้ทำงานเป็นครูสอนในโรงเรียนมัธยมชายล้วนแห่งหนึ่งในบ้านเกิด  ถึงแม้ไม่ได้ชอบอาชีพที่ทำอยู่  แต่มันก็เป็นงานที่ทำให้มีรายได้ประจำ


สำหรับงานศิลปะที่เป็นพรสวรรค์และความสนใจแรกของชูลซ์นั้น  เขาฝึกทักษะและเรียนรู้ด้วยตนเอง  จนประสบความสำเร็จด้านศิลปะก่อนจะมาเป็นนักเขียน  เป็นศิลปินคนสำคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2  ภาพวาดผลงานมีรวบรวมไว้ใน  The Book of Idolatry  และภาพที่สเก็ตช์ด้วยดินสอปัจจุบันเป็นสมบัติของ  Museum of Literature  ในกรุงวอร์ซอ  การเป็นจิตรกรและผลงานของชูลซ์  เป็นที่รับรู้กันภายในครอบครัวและเพื่อนๆ  ภาพหายากที่เป็นผลงานของเขาไม่เคยหลุดรอดออกมาสู่ตลาดการประมูล  เขายังฝากฝีมือในการวาดภาพเอาไว้  ด้วยการวาดภาพประกอบให้กับนวนิยาย  Ferdydurke  ของ  Withold  Gombrowicz  และยังวาดภาพประกอบในรวมเรื่องสั้นชุด  Sanatorium  Under the  Sign  of  the Hourglass  ของตนเอง
 


ความสำคัญของงานเขียนส่งผลอย่างมากต่องานภาพเขียนทั้งหลายที่ได้เขียนไว้เมื่อยังมีชีวิตอยู่  จนกลายเป็นกรณีพิพาทระหว่างประเทศ  เมื่ออิสราเอลขนย้ายอาคารหลังหนึ่งซึ่งชูลซ์เคยเขียนภาพไว้บนผนัง ไปตั้งไว้ในพิพิธภัณฑ์สงครามในประเทศอิสราเอล  ด้านโปแลนด์ที่เมืองโดรโฮบิชซ์ เมืองบ้านเกิดของเขาที่เคยตั้งอยู่มาก่อน  ก็ประกาศอ้างความเป็นเจ้าของ  ขณะเดียวกัน  ยูเครนซึ่งเป็นประเทศที่เมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ในอาณาเขตเมื่อตั้งเป็นประเทศขึ้นมา  ก็อ้างความเป็นเจ้าของเช่นกัน  สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าโลกได้ให้ความสนใจแก่นักเขียนผู้นี้เพียงใด



ชูลซ์ เสียชีวิตเมื่อปี  1942  ระหว่างที่เดินอยู่บนถนนเพื่อกลับมายังย่านที่พักของชาวยิว  ถูกยิงเสียชีวิตโดยคาร์ล  กุนเทอร์  ทหารนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่  2 ขณะมีอายุได้  50  ปี  หลังการเสียชีวิตนักสนใจวรรณกรรมและศิลปะทั้งหลาย  ต่างหันกลับไปศึกษาผลงานเขียนและภาพวาดของเขามากยิ่งขึ้น  นอกจากผลงานรวมเรื่องสั้นทั้งสองชุด  ยังมีงานเขียนประเภทบทวิจารณ์  ซึ่งเคยได้รับการตีพิมพ์ออกมาหลายเล่ม  นอกจากนี้ยังมีเรื่องสั้นอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้นำมารวมในรวมเรื่องสั้นทั้งสองชุด  และจดหมายหลายฉบับได้รับการรวบรวมจัดพิมพ์เอาไว้ใน  Book of  Letters  เมื่อปี  1975  ส่วนผลงานเรื่องสั้นหลายเรื่องที่เขียนช่วงต้นทศวรรษ 1940 ที่เคยส่งไปตามนิตยสารต่างๆ และได้รับการตีพิมพ์ได้สูญหายไป  รวมถึงนวนิยายเรื่อง  The Messiah  ที่เขียนยังไม่จบ  ก็ยังไม่มีใครพบต้นฉบับ  เขายังช่วยคู่หมั้นแปลงานเขียนเรื่อง  The Trial  ของคาฟคาเป็นภาษาโปลิช  และเมื่อปี  1938  ชูลซ์ได้รับ Golden Laurel Award จาก Polish Academy of Literature


งานเขียนหลายชิ้นของเขาได้รับการนำไปทำในรูปแบบภาพยนตร์และละครเวที   Sanatorium  Under the  Sign  of  the Hourglass  ทำเป็นภาพยนตร์โดย Wojciech Jerzy Has ผู้กำกับชาวยิว-โปลิช  ในชื่อเรื่อง  The Hour-Glass Sanatorium  (1973)  และได้รับ Jury Prize  ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อปี 1973  ส่วน  The Street of Crocodiles  ทำออกมาทั้งในละครเวทีรูปแบบฟิสิคัล  และมีการทำเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันสต็อปโมชั่น  เมื่อปี  1986  โดย Quay Brothers 



 


สำหรับนักอ่านชาวไทย  นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้อ่านผลงานรวมเรื่องสั้นทั้งสองเล่มของชูลซ์  The Street of Crocodiles – ถนนจระเข้  (สนพ.คมบาง แปลปี พ.ศ. 2544) และ  Sanatorium  Under the  Sign  of  the Hourglass – เรือนไข้ใต้ราศีนาฬิกาทราย  (สนพ.ชมนาด ในเครือ สนพ.คมบาง แปลปี พ.ศ. 2553)  โดย  ดลสิทธิ์  บางคมบาง  นักแปล  เจ้าของรางวัลนักแปลอาวุโสดีเด่น  รางวัลสุรินทราชา  จากสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย  ประจำปี พ.ศ. 2552 – ผู้ทำให้วงการวรรณกรรมไทยได้รู้จักชื่อของนักเขียนโปแลนด์คนนี้ 
 


เรือนไข้ใต้ราศีนาฬิกาทราย  ผลงานที่ได้รับการแปลล่าสุด  มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับผลงานเล่มแรกของชูลซ์  คือถนนจระเข้  ด้วยฉากตัวละครชุดเดียวกัน  ทั้งมีเหตุการณ์ที่สัมพันธ์กัน แต่สามารถอ่านได้เข้าใจโดยไม่ต้องอ่านต่อเนื่องกัน  เรื่องราวเกี่ยวกับลูกชาย พ่อ และครอบครัว  ในเมืองเล็กๆ  ที่เต็มแน่นด้วยจินตนาการเหนือจริง  ทำให้การอ่านแต่ละครั้งจะค้นพบอะไรใหม่อยู่เสมอ
 


ผู้แปลกล่าวไว้ใน  เรือนไข้ใต้ราศีนาฬิกาทราย  ว่า  “การที่ผู้แปลหยิบเอางานของบรูโน ชูลซ์  มาแปลแม้ทั้งที่เป็นงานที่ขายยาก  ก็ด้วยความรู้สึกว่าจะเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างมาก หากนักอ่านชาวไทยของเรา  ไม่รู้จักนักเขียนผู้นี้  และที่หยิบเอามาแปลจนครบเท่าที่มีอยู่ก็เพื่อให้นักอ่านในส่วนที่ได้อ่าน ถนนจระเข้ มาแล้ว  ได้พบสิ่งที่สืบเนื่องไปจากที่เขาอ่านมา  รวมทั้งจะได้สัมผัสงานในแบบฉบับของเขาโดยทั้งหมดได้


นักอ่านชาวไทยซึ่งอาจไม่คุ้นเคยกับชื่อของบรูโน ชูลซ์  มาก่อน  หลายคนอาจมองข้าม  ถนนจระเข้  ไปด้วยไม่รู้จัก  แต่ว่าไปแล้ว  นักอ่านที่รู้จักคุ้นเคยกับชื่อของฟรันซ์ คาฟคา  บางทีก็ด้วยที่มองข้ามไป  แม้ทั้งที่เขาน่าจะเป็นกลุ่มแรกที่จะชื่นชอบงานเขียนของบรูโน ชูลซ์ เพราะดูเหมือนพอจะกล่าวได้ว่า  เขาคือนักเขียนคนที่เดินต่อไปอีกจากที่ฟรันซ์  คาฟคาได้เดินไว้  ด้วยน้ำเสียงที่แตกต่างออกไป  และด้วยทัศนะทางภาษาที่ดิ่งลึกลงกว่า


ปัญหาของนักอ่านชาวไทยที่อาจมีต่อการอ่านงานของบรูโน ชูลซ์  นั้น  นอกเหนือจากข้อเกี่ยงงอนในเรื่องโครงสร้างของภาษา  ซึ่งทำให้มีข้อติงว่าประโยคที่แปลออกมาไม่อยู่ในโครงสร้างภาษาไทยแล้ว  ความคุ้นชินกับวรรณกรรมโครงสร้างยังทำให้เขาตั้งรับไม่ทันกับการอ่านวรรณกรรมในรูปแบบอื่น  ข้อนี้  นักอ่านหลายคนที่อ่าน  คุณนายดัลโลว์เวย์  ของเวอร์จิเนีย  วูล์ฟ  ที่ผู้แปลได้แปลไว้ก็ประสบเช่นกัน
 


บางทีการอ่านโดยปล่อยใจไปตามสบาย  ไม่มีข้อยึดว่าวรรณกรรมจะต้องมีรูปแบบหรือโครงสร้างประโยคเป็นอย่างไร  และไม่จำเป็นจะต้องมีความเข้าใจในทุกถ้อยคำที่แสดงอยู่ไว้ในตัววรรณกรรม  ยอมปล่อยให้สิ่งที่ไม่เข้าใจเป็นสิ่งที่เขาจะพบได้ในวันข้างหน้าบ้าง การอ่านก็จะเป็นไปอย่างราบรื่นกว่า และที่สำคัญ  โดยมันเป็นงานในรูปแบบที่เขายังไม่คุ้นนัก การอ่านจึงน่าจะเป็นไปโดยค่อยๆ เลาะเล็มไปมากกว่าการจะอ่านอย่างอ่านเอาอ่านเอา แบบตะลุยให้จบโดยเร็ว


ผู้แปลหวังว่า  เรือนไข้ใต้ราศีนาฬิกาทราย  จะให้ประสบการณ์ในการอ่านที่ดีกับทุกคนที่ได้อ่าน  และสำหรับผู้ที่เพิ่งอ่านงานของนักเขียนผู้เป็นความภูมิใจของชาวโปแลนด์ผู้นี้เป็นครั้งแรกด้วยเล่มนี้   ผู้แปลหวังว่าเขาคงจะติดตามหา  ถนนจระเข้  มาอ่านด้วย  เพื่อประกอบเรื่องราวทั้งหมดให้มีความสมบูรณ์ขึ้น  แม้แต่ละเรื่องจะมีความสมบูรณ์ในตัวก็ตาม  และเพื่อที่เขาจะได้รับรสจากผลงานทั้งหมดที่มีเหลืออยู่  ของนักเขียนสำคัญของโลกผู้นี้


ขอจงมีความสุข  และค้นพบสิ่งที่ดีจากการอ่าน  ดลสิทธิ์  บางคมบาง  :  5  มีนาคม  2553  ซับตาเมา, หนองตาคง, โป่งน้ำร้อน, จันทบุรี 0


 


ที่มา


กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


 http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/read-write/20101012/357298/Bruno-Schulz-:-ผู้เป็นความภูมิใจของโปแลนด์.html