ประวัติ รพีพร สุวัฒน์ วรดิลก ฉบับละเอียดและสมบูรณ์

[b]ในฐานะได้รับรางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา สาขานักคิด-นักเขียน

นายสุวัฒน์ วรดิลก (นามสกุลเดิม “พรหมบุตร”) เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ที่บ้านริมคลองข้างวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนที่ ๒ ของอำมาตย์โทพระทวีปธุรประศาสน์ (วร วรดิลก) และนางจำรัส วรดิลก
เนื่องจากบิดาเป็นข้าราชการกรมการปกครอง ในวันเยาว์จึงต้องย้ายตามบิดาไปอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ทำให้ต้องย้ายโรงเรียนบ่อยๆ โดยเริ่มเรียนเตรียมปี ๑ (ปัจจุบันคือระดับอนุบาล) ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ในกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๗๒ ย้ายมาเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ที่โรงเรียนประจำจังหวัดกระบี่ ชื่อโรงเรียนอมาตยาพิทยา ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ มาเรียนต่อชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ที่โรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรัง จนกระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑
หลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เกิดกรณี “กบฏบวรเดช” ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ส่งผลให้บิดาต้องลาออกจากราชการ ซึ่งต่อมาเป็นเหตุให้ครอบครัวเปลี่ยนนามสกุลใหม่ จาก “พรหมบุตร” เป็น “วรดิลก” สุวัฒน์ วรดิลก เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓ ที่โรงเรียนมัธยมวัดโสมนัสวรวิหาร และเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔-๖ ที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ต่อมาสอบเข้าเรียนต่อระดับเตรียมปริญญาที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รุ่นที่ ๓ และเรียนต่อในระดับปริญญา ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เพื่อตามใจบิดาโดยที่ไม่ได้มีใจชอบวิชากฎหมาย แต่อยากเรียนทางอักษรศาสตร์มากกว่า จึงทำให้เรียนไม่จบ
ระหว่างเรียนกฎหมายอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้เริ่มต้นทำงานเป็นข้าราชการวิสามัญ ตำแหน่งผู้คุมตรี ที่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย ทำได้หนึ่งปีก็มาสอบได้งานเป็นเสมียนการเงิน ที่กรมบัญชีกลางทหารเรือ ทำอยู่ได้ปีเดียวก็กลับมาสอบได้เป็นเสมียนพนักงาน ของกรมราชทัณฑ์ ช่วงนี้เองได้เริ่มทำงานเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์ เอกราช ของ อิศรา อมันตกุล ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ต่อมาด้วยความปรารถนาที่จะเป็นนักอักษรศาสตร์จึงได้ลาออกจากราชการ
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ “ตราบใดสุรีย์ส่องโลก” ใช้นามปากกา ส.วรดิลก ได้ตีพิมพ์ใน ข่าวภาพ รายสัปดาห์ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ และไม่ปรากฏผลงานเขียนออกมาอีก ต่อมาเมื่อ วิตต์ สุทธเสถียร ออกหนังสือพิมพ์ ชาติไทยวันอาทิตย์ คู่กับ ชาติไทยรายวัน ใน พ.ศ. ๒๔๘๘ มีนโยบายสนับสนุนนักเขียนใหม่ สุวัฒน์ วรดิลก จึงมีโอกาสเขียนเรื่องสั้นอีกครั้ง โดยคราวนี้เขียนเรื่องสั้นชื่อ “เงามะพร้าวที่นาชะอัง” ที่ได้รับความสนใจจากนักอ่านจนทำให้สามารถเขียนเรื่องต่อมาได้อีกมาก ทั้งเรื่องรัก เช่น “ไออุ่นจากทรวงนาง” “ระอารัก” “ภูษิตเรียกเมียด้วยเสียงซอ” เรื่องวิจารณ์หรือเสียดสีสังคม เช่น “เทพเจ้า” “อีเงาะ” “ผีเข้าอีจง” เรื่องอิงพงศาวดาร เช่น “คำให้การ” “ในกระแสแห่งยุติธรรม” เรื่องกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกทางจริยธรรมและมนุษยธรรม เช่น “มวยแถม” คนข้างหลืบ” เป็นต้น
สุวัฒน์ วรดิลก เป็นนักข่าวประจำโรงพักให้หนังสือพิมพ์ เอกราช ได้ครึ่งปี อิศรา อมันตกุล เห็นว่าไม่เหมาะกับหน้าที่นี้จึงได้เปลี่ยนให้เขียนเรื่องในเล่ม เรื่องสั้นที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือ “ท่องไปในแดนรัฐประหาร” (พ.ศ. ๒๔๙๐) ซึ่งเขียนก่อนเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ ต่อมาได้รับอนุญาตให้เขียนนวนิยายประจำฉบับ เรื่องแรกคือ “สัญญารักของจอมพล” เป็นเรื่องสั้นขนาดยาว ในระยะนี้เองเกิดล้มป่วยด้วยวัณโรคที่ขั้วปอดอย่างรุนแรง เมื่อหายป่วยแล้ว หนังสือพิมพ์ เอกราชถูกสั่งปิด ชีวิตนักหนังสือพิมพ์จึงสิ้นสุดลง
ต่อมา สุวัฒน์ วรดิลก ได้ไปฝากตัวกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประชามิตร-สุภาพบุรุษ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ระดับคุณภาพมาตรฐานของยุคนั้น โดยได้ส่งเรื่องสั้นเกือบ ๑๐ เรื่องให้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ พิจารณา แต่ได้รับการตีพิมพ์เพียงเรื่องเดียว คือ “เขาและหล่อนอยู่กันคนละซีกโลก” หลังจากนั้นจึงมีผลงานได้รับการตีพิมพ์อีกเรื่องคือ “ทุ่งทานตะวัน”
ผลงานนวนิยายของ สุวัฒน์ วรดิลก เริ่มปรากฏในหน้านิตยสารภายหลังจากที่เขียนเรื่องสั้นมาได้ ๒ ปี ผลงานเรื่องแรก “เปลวสุริยา” ใน ปิยะมิตร ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง และทำให้ยอดจำหน่ายของหนังสือเล่มนี้พุ่งสูงขึ้นสู่ความนิยมสูงสุดในช่วงต้นทศวรรษ ๒๔๙๐ ผลสำเร็จจากเรื่อง “เปลวสุริยา” นี้เอง ทำให้เกิดผลงานเรื่อง “ราชินีบอด” และเรื่องอื่นๆตามมา ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ผู้เขียนเป็นนักประพันธ์รุ่งโรจน์แห่งยุค และทำให้ยึดการประพันธ์เป็นอาชีพเรื่อยมา
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ละครเวทีไทยประเภทชายจริงหญิงแท้เป็นมหรสพที่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากภาวะสงครามทำให้อุปกรณ์ในการถ่ายทำภาพยนตร์ขาดแคลน ไม่สามารถผลิตภาพยนตร์ป้อนโรงภาพยนตร์ได้ ละครเวทีจึงมีบทบาทสำคัญขึ้นแทน
สุวัฒน์ วรดิลก เริ่มเขียนบทละครเวทีเรื่องแรกจากผลงานของตนเองคือ “สัญญารักของจอมพล” ให้คณะเทพอำนวย แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากยังไม่มีความรู้เรื่องการเขียนบทละครเท่าที่ควร ต่อมาได้รู้จักกับ จุมพล ปัทมินทร์ และ น.อ. สวัสดิ์ ทิฆัมพร แห่งคณะศิวารมณ์ ได้รับการติดต่อขอซื้อ “เปลวสุริยา” เพื่อทำละคร สุวัฒน์ วรดิลก ตัดสินใจเขียนบทละครเอง โดยได้รับคำแนะนำวิธีการเขียนบทละครจาก ครูเนรมิต ทำให้ “เปลวสุริยา” เป็นบทละครเวทีที่สมบูรณ์เรื่องแรกของสุวัฒน์ วรดิลก
ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๑–๒๔๙๔ สุวัฒน์ วรดิลก มุ่งมั่นเขียนบทละครเวทีมาก จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญถึงขั้นสามารถกำหนดผู้ชมได้ล่วงหน้าว่าจะให้ชอบตอนใดบ้าง โดยกลวิธีการเขียนให้มีภาวะวิกฤต (Climax) ในทุกๆฉาก
สุวัฒน์ วรดิลก ทุ่มเทให้กับงานละครเวที เป็นผู้บุกเบิกวงการละครเวทีของไทย ทำหน้าที่เขียนบท กำกับการแสดง อำนวยการแสดง ตั้งคณะละครขึ้นเองคือ “ชุมนุมศิลปิน” และได้มีบทบาทในการต่อสู้เพื่อวงการละครมามากมาย เช่น การพยายามวางหลักการและจัดระบบแบ่งผลกำไร เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่นักแสดง
จนกระทั่งถึงปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ละครเวทีเริ่มเสื่อมความนิยมลงจนที่สุดก็ต้องลาโรงไป สุวัฒน์ วรดิลก ลองหัดเขียนบทภาพยนตร์ดูบ้าง แต่ไม่ชอบ จึงกลับมาเขียนนวนิยายอีกครั้ง
วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กวาดล้างจับกุมนักคิดนักเขียนครั้งใหญ่ สุวัฒน์ วรดิลก และ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ภรรยา ถูกจับกุมคุมขังและตั้งข้อหาร้ายแรงคือ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ระหว่างถูกขังอยู่ในคุกต่อสู้คดีในชั้นศาล สุวัฒน์ วรดิลก กลายเป็นบุคคลต้องห้ามสำหรับสังคมภายนอกนั้น ชาลี อินทรวิจิตร ตั้งคณะละครโทรทัศน์ขึ้น จึงมาชวนให้สุวัฒน์ วรดิลก เขียนบทละครโทรทัศน์ และเมื่อนำเรื่อง “God sees the eruth but waits” ของ ลีโอ ตอลสตอย มาเขียนเป็นบทละครเรื่อง “พระเจ้ารู้ทีหลัง” ก็ประสบผลสำเร็จจนทำให้ ชาลี อินทรวิจิตร ถูกหัวหน้าสถานีโทรทัศน์เรียกตัวไปสอบถาม ต่อมามีเรื่องชุด พระเจ้าออกมาอีก ๒ เรื่องคือ “พระเจ้ารู้ก่อนเสมอ” และ “พระเจ้าไม่รับรู้” ต่อมาเมื่อย้ายมาอยู่คุกสองที่ลาดยาว สุวัฒน์ วรดิลก รับจ้างเขียนบทละครวิทยุให้กับธนาคารอมมสิน เรื่องแรกคือ “ผีก็มีหัวใจ” ใช้นามปากกา ยุพดี เยาวมิตร
เมื่อ สุวัฒน์ วรดิลก ได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๕ แล้ว (เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ภรรยาได้รับการปล่อยตัวออกมาก่อนแล้ว) ได้กลับไปอุปสมบทที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ตามคำแนะนำของบิดาและผู้บังคับการตำรวจสันติบาล (พล.ต.ต. ชัช ชวางกูร) หลังจากลาสิกขาบทแล้วจึงได้กลับมาเขียนนิยายอีกครั้ง
นามปากกา รพีพร เริ่มใช้จากการเขียนนวนิยายเรื่อง “ภูติพิสวาศ” ที่ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ แสนสุขรายสัปดาห์ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ และเรื่องที่สองคือ “ลูกทาส” ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ส่งผลให้ชื่อ รพีพร โด่งดังติดตลาด สามารถกอบกู้ฐานะทางการประพันธ์ เศรษฐกิจและสังคมได้ในเวลาอันรวดเร็ว ต่อมาจึงเกิดนามปากกา ไพร วิษณุ เขียนนวนิยายชีวิตโลดโผนประเภทป่าเขาลำเนาไพร ศิวะ รณชิต เขียนนวนิยายการเมือง และ สันติ ชูธรรม ซึ่งใช้เขียนนวนิยายการเมืองเพียงเรื่องเดียวคือ พ่อข้าเพิ่งจะยิ้ม (เดิมชื่อ พ่อข้าไม่ผิด)
สุวัตน์ วรดิลก ตั้ง ชมรมนักเขียน ๕ พฤษภา ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ และได้เป็นประธานชมรม โดยมีจุดประสงค์เพื่อหาเงินช่วย เลียว ศรีเสวก เจ้าของนามปากกา อรวรรณ เพื่อนนักเขียนคนหนึ่งที่แพทย์สันนิษฐานว่าเป็นมะเร็งที่หลอดลม ถูกตัดหลอดเสียงออก ต่อมาชมรมนี้ได้พัฒนาเป็น สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔
หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ สุวัฒน์ วรดิลก หันมาสนใจงานคุณภาพที่มีเนื้อหารับผิดชอบต่อสังคมและแนวการเมือง จึงนำเรื่อง “พิราบแดง” ที่เขียนค้างเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ มาเขียนต่อจนจบ และเขียนเรื่องใหม่ในชุด “แผ่นดิน” ได้แก่ แผ่นดินเดียวกัน แผ่นดินของเขา ฝากไว้ในแผ่นดิน และเขียนนวนิยายสะท้อนสังคม เช่น นกขมิ้นบินถึงหิมาลัย คามาล พิราบเมิน เป็นต้น
เนื่องด้วยปัญหาด้านสุขภาพและความสูงวัย หลังจากที่ได้ผ่าตัดใหญ่ทำ By pass เส้นเลือดเข้าหัวใจ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ทำให้ สุวัฒน์ วรดิลก ไม่สามารถตรากตรำทำงานหนักต่อไปได้อีก นวนิยายเรื่องสุดท้ายที่เขียนจึงค้างไว้ไม่จบ คือ “ทอง-นาก” ตีพิมพ์ในนิตยสาร สกุลไทย
ผลงานการประพันธ์ของ สุวัฒน์ วรดิลก มีทั้ง เรื่องสั้น นวนิยาย บทละครโทรทัศน์ บทละครวิทยุ บทภาพยนตร์ และสารคดี ที่มากที่สุดคือนวนิยาย มี ๘๘ เรื่อง รางวัลสำคัญที่ได้รับมี รางวัลพระราชทานตุ๊กตาทองภาพยนตร์เรื่อง “ลูกทาส” ในฐานะเจ้าของบทประพันธ์ยอดเยี่ยม พ.ศ. ๒๕๐๗ รางวัลชมเชยประเภทนวนิยาย เรื่อง ขอจำจนวันตาย จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๐ รางวัลชมเชยประเภทเรื่องสั้น จากหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด เหนือจอมพลยังมีจอมคน จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๔ และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. ๒๕๓๔ จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

คำประกาศ รางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา สาขานักคิด-นักเขียน

นายสุวัฒน์ วรดิลก เป็นนักคิด นักเขียน นักการละคร และนักกิจกรรมเพื่อสังคม ที่ได้มีส่วนสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมอันทรงคุณค่าฝากไว้ในบรรณพิภพ เป็นผู้ร่วมบุกเบิกและสร้างความเจริญให้แก่วงการละครเวทีของไทย อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการก่อตั้งองค์กรขึ้นเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และช่วยเหลือเกื้อกูลบุคลากรและแวดวงวรรณกรรม
ด้วยความรักในการอ่านและการเขียน ผนวกกับความสนใจในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ พงศาวดาร สุวัฒน์ วรดิลก จึงได้สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมขึ้นในรูปแบบนวนิยายเริงรมย์และนวนิยายเริงปัญญา ซึ่งมีทั้งที่เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ นวนิยายการเมือง และนวนิยายแนวชีวิตครอบครัว เพื่อสื่อสารกับสังคมไทยในเรื่องปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม แสดงทัศนคติและอุดมคติทางการเมือง และการส่งเสริมสิทธิสตรี
และจากการเขียนนวนิยาย สุวัฒน์ วรดิลก ได้ย่างก้าวสู่การเขียนบทละครเวที นับว่าเป็นการขยายวงของงานเขียนออกไป จนในที่สุดก็เข้าไปมีส่วนร่วมในการบุกเบิก วางรากฐานให้แก่วงการละครเวทีของไทยในยุคที่เจริญขึ้นถึงขีดสุด อันเป็นประวัติศาสตร์สำคัญช่วงหนึ่งของวงการบันเทิงในช่วงเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่จะต้องจารึกไว้
สุวัฒน์ วรดิลก ยังเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการก่อตั้ง สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และกองทุนต่างๆเพื่อสนับสนุนและส่งเสริม บุคลากรในวิชาชีพการประพันธ์ให้สามารถมีเวทีและเป็นตัวแทนในการเรียกร้องสิทธิ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ ทั้งในชุมชนนักวรรณกรรมเอง และสังคมสาธารณะ ยังผลให้วงการประพันธ์มีความเข้มแข็งเป็นปึกแผ่นและมีพัฒนาการร่วมกันมากยิ่งขึ้น
ในฐานะนักคิด สุวัฒน์ วรดิลก เป็นผู้นำทางความคิดที่ได้แสดงออกอย่างจริงจังถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม ความเท่าเทียมกันของมนุษย์ การเมืองที่มีคุณธรรมและตรงไปตรงมา รวมทั้งสิทธิเสรีภาพของสตรีในสังคม
ในฐานะนักเขียน ผลงานวรรณกรรมของ สุวัฒน์ วรดิลก ทั้งในนามจริงและในนามปากกาต่างๆ อาทิ รพีพร ศิวะ รณชิต สันติ ชูธรรม และ ไพร พิษณุ ซึ่งมีมากมายนั้น เป็นทั้งสื่อแห่งความบันเทิงที่ช่วยสร้างความบันเทิงให้แก่สังคมโดยไม่นำลงสู่ความเสื่อม เป็นทั้งสื่อแห่งอุดมคติและสติปัญญาที่ช่วยสืบสาน ส่งเสริม และสร้างสรรค์ ทั้งสังคมวงกว่างและสังคมวรรณกรรมไปพร้อมกัน
ในฐานะนักกิจกรรมเพื่อสังคม องค์กรต่างๆที่ สุวัฒน์ วรดิลกได้มีส่วนในการก่อตั้งขึ้นทั้งหลาย ได้กลายเป็นองค์กรสำคัญในการพิทักษ์รักษาสิทธิ ความถูกต้องเป็นธรรม เป็นองค์กรที่มีส่วนร่วมสร้างรากฐานและความก้าวหน้าของวิชาชีพการประพันธ์ ตลอดจนมีส่วนในการช่วยเหลือเกื้อกูลพี่น้องผองเพื่อนร่วมวิชาชีพได้ไม่น้อย
ด้วยบทบาททางสังคมและผลงานที่มีคุณค่าความหมายอันเป็นที่ปรากฏในวงวรรณกรรม ที่เป็นได้ทั้งบันทึกทางสังคมและเป็นทั้งผลงานนฤมิตกรรมของนายสุวัฒน์ วรดิลก ซึ่งคิดและเขียนด้วยเจตนารมณ์ อุดมคติ และสำนึกทางสังคม ด้วยการอุทิศตน เพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมและสันติสุข อันสอดคล้องกับอุดมคติและแนวทางดำเนินชีวิตของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา)
คณะกรรมการตัดสิน รางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา จึงขอประกาศเกียรติคุณให้ นายสุวัฒน์ วรดิลก เป็นผู้ได้รับรางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา สาขานักคิด-นักเขียน เนื่องในวาระแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) และวาระที่องค์การยูเนสโกบรรจุชื่อนายกุหลาย สายประดิษฐ์ไว้ในปฏิทินการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญของโลก.

( )
ประธานคณะอนุกรรมการ รางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา