“วรรณกรรมโลกใสวัยสวยเพื่อคนสูงวัย”กว่าจะเป็น
คุณย่าติดไลน์ คุณยายติดเฟซ  โดย ชมัยภร  แสงกระจ่าง 
สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์  นรีภพ
สวัสดิรักษ์  ดำเนินรายการโดย จรูญพร
ปรปักษ์ประลัย


จรูญพร : ทำไมถึงหยิบเรื่องของเทคโนโลยี ทั้งเฟซบุ๊กและไลน์ หรือสื่อออนไลน์อื่น ๆ
มาเป็นประเด็นของนวนิยายเล่มนี้

ชมัยภร : เราเป็นคนที่เล่นไลน์ เล่นเฟซ ทีหลังอาจารย์สุวรรณา
เกรียงไกรเพ็ชร์ อาจารย์จะเทคโนโลยีก้าวหน้ามาก
ตอนที่อาจารย์เขียนอีเมลมาหาสมัยที่อาจารย์อยู่ญี่ปุ่น มีความรู้สึกไม่สบายใจเลย
อ่านแล้วมันรู้สึกไม่เหมือนจดหมาย มันไม่ใช่จดหมาย เราจะไปเก็บมันไว้ที่ไหน
เราจะทำอย่างไรให้มันออกมาเป็นสัญลักษณ์ว่ามันมาจากอาจารย์มาถึงเราได้
รู้สึกหงุดหงิดมากว่า อ่านไปก็ ฉบับนี้มันสั้นไปนะ เราคิดแบบนั้น
แต่ว่าหลังจากที่เทคโนโลยีทั้งหลายมันก้าวเข้ามาจนติดตัวเรา เราไม่มีทางเลือก
เราก็บอกลูกว่า เราจะเริ่มแล้วนะ ทุกคนก็มาช่วยกัน ใช้คอมพิวเตอร์ครั้งแรก
ลูกต้องคอยฟังเสียงแม่ตลอดเวลา เพราะว่าจะมีเสียงเรียกโวยวายว่า “ช่วยด้วย ๆ
ไปไหนหมดแล้ว” มีอยู่ครั้งหนึ่ง ทำไป
9 หน้า
แล้วก็ปิดพร้อม ๆ กับบันทึก (
save)
แล้วมันก็หายวับไปเลย เพราะมันปิดไปด้วย มันก็เลยไม่บันทึก ก็ตะโกนเรียกลูก
“ช่วยด้วย ๆ เร็ว ๆ มันหายไปหมดเลย” ลูกชายก็ทำเสียงเย็นๆว่า “แบ็ค ๆ”
จะทำได้ยังไง ก็บอกไปว่า แม่ไม่รู้ แม่ทำพร้อมกันหมดเลย ลูกก็บอกว่า “ไม่ยาก ๆ
เขียนใหม่เลย เพิ่งทำไม่ใช่เหรอแม่ ก็ทำใหม่เลย เร็วกว่าไปหาอีก” เราก็เรียนรู้ว่า
การใช้คอมพิวเตอร์ต้องพึ่งตนเอง เราอย่าไปพึ่งคนอื่นมาก
วิธีที่ดีที่สุดก็คือไปหาคนที่ไม่ใช่ลูก คือเวลาเราใช้เครื่องแล้วมีปัญหา
เราจะโทรไปหาน้องที่เป็นนักเขียน น้องเขาก็จะเกรงใจเรามาก เขาก็จะบอกว่า
อาจารย์กดตรงนี้นะ  ตรงนั้นนะ
ก็สำเร็จอยู่หลายครั้ง จนเราต้องบอกเขาว่า ขอโทษนะที่รบกวนบ่อยๆ จริง ๆ ลูกก็รู้
แต่ลูกสอนแม่ไม่ได้ น้องนักเขียนตอบว่า ไม่เป็นไรครับผมเข้าใจดี
เพราะว่าผมก็สอนแม่ผมไม่ได้ ของแบบนี้มันเข้ามาตลอดเวลา
แล้วจะไม่ให้เขียนได้อย่างไร ชมัยภรได้ชื่อว่าอะไรที่อยู่รอบตัวก็เขียน
อะไรที่อยู่ใกล้ตัวก็เขียน หมู หมา กา ไก่ ที่บ้าน ก็ไปเป็นตัวละครไปตาม ๆ กัน
เพราะฉะนั้นแค่เรื่องออนไลน์ที่เราทำได้บ้างไม่ได้บ้างทำไมเราจะไม่เป็น
เกมก็เข้าไปอยู่ตั้งแต่เรื่องในเวิ้งฟ้าอันไพศาล ก็เอาของพวกนี้มารวมกันไว้
แล้วมีความรู้สึกว่ามันกำลังเป็นปัญหา แต่ตอนนั้นยังไม่ได้คิดจะเขียน
วันที่คิดจะเขียนคือวันที่ขึ้นพูดบนเวทีกับน้องคนหนึ่ง คือเขามีลูกเล็ก
ลูกเขาอยู่ชั้น ป.
1 ป.2 เขาบอกว่า “พี่หนูมีความรู้สึกว่า แม่ของหนูตอนนี้เขารักหลานน้อยลง
เขาสนใจหลานน้อยลง เพราะเขามีไอแผ็ด” พอเขาพูดเราก็จับประเด็นได้เลยว่า
มันคือสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริง ๆ  และเมื่อมันเกิดขึ้น
เราถามตัวเราเองว่า คุณย่าคุณยายที่เล่นเกมเขาจะกลับมาไหม เราจะปลุกอย่างไรให้ประเด็นนี้มันเกิดขึ้นมาได้
พอมีเรื่องที่เราเอามาเข้าประเด็นได้เราก็เปิดเรื่องได้ วิธีการผูกเรื่อง
ให้มีเด็ก ให้มีลูกชายอะไรแบบนี้ก็เป็นวิธีที่ทำอยู่เป็นประจำ เรื่องคุณย่าติดไลน์
คุณยายติดเฟซ  ตอนที่ลงสกุลไทยมันยับเยินซึ่งคุณนรีภพอาจไม่เห็น
เพราะมันถูกเกลาไปแล้วด้วยฝีมือลูก มันจะมีอะไรที่ตก ๆ หล่น ๆ เขาก็จะเกลาให้
เพราะฉะนั้นที่เห็นรวมเล่มก็จะเรียบร้อยขึ้นมาก ส่วนที่เป็นองค์ประกอบรายละเอียด
ก็จะเป็นหน้าที่ของบรรณาธิการ อ.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์  ขอเรียกว่าเป็นบรรณาธิการส่วนตัว คุณนรีภพ สวัสดิรักษ์
จะเป็นบรรณาธิการจริง ๆ หมายถึงว่าเป็นบรรณาธิการที่อ่านตอนลงสกุลไทย แต่ว่า
อ.สุวรรณานี่อ่านตลอดชีวิต คือมีเรื่องอะไร อ. ก็จะอ่านทะลุหมด
เพราะว่าได้อ่านต้นฉบับก่อนด้วยในบางเรื่อง แต่คุณย่าติดไลน์ คุณยายติดเฟซ อ.
ได้อ่านจากสกุลไทย

จรูญพร : คุณนรีภพในฐานะที่เป็นบรรณาธิการ หลังจากที่ได้อ่านคุณย่าติดไลน์
คุณยายติดเฟซแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

นรีภพ : ในส่วนของวรรณกรรมคนสูงวัยของคุณชมัยภร
ที่เริ่มตั้งแต่ อาม่าบนคอนโด มาจน สุภาพบุรุษสุดลำบากส์ส์ส์ จนมาถึงคุณย่าติดไลน์
 คุณยายติดเฟซ
ก่อนอื่นจะขอพูดถึงคุณย่าติดไลน์  คุณยายติดเฟซ
ที่เริ่มลงเมื่อปี
2557 ช่วงนั้นกระแสของโลกโซเชี่ยลกำลังเริ่มแรงมาก
ก็คุยกับคุณชมัยภรว่า
เดี๋ยวนี้กระแสของโลกโซเชี่ยลกับคอมพิวเตอร์เริ่มมีคนใช้กันมาก
ตั้งแต่เด็กไปจนถึงคน
70 80 เราน่าจะมีนวนิยายเกี่ยวกับทำนองนี้
ก็เกริ่น ๆ ไว้กับคุณชมัยภร แล้วหลังจากนั้นไม่นาน คุณชมัยภรก็โทรมาบอกว่า
คิดได้แล้วว่าจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ คิดชื่อเรื่องได้แล้ว เรื่องคุณย่าติดไลน์
คุณยายติดเฟซ  ก็เล่าให้กองบรรณาธิการฟัง
ทุกคนก็กรี๊ดกันใหญ่ ชื่อเรื่องคือโดนใจมาก หลังจากนั้นไม่นานเราก็ได้รับต้นฉบับ
ซึ่งคุณชมัยภรส่วนใหญ่จะส่งมาทีละ
4 ตอน อ่านตอนแรกทีละ
4-5 ตอน เราอาจจะไม่เห็นอะไรมาก
พอมาอ่านตอนรวมเล่มอีกครั้ง  คุณย่าติดไลน์คุณยายติดเฟซ
ให้หลายอารมณ์กับเรามาก ให้ภาพหลายภาพ
อย่างแรกก็คือกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคนแต่ละวัย 
โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าเราจะดูแลคนสูงวัยที่อยู่ร่วมกับเราอย่างไร
ตัวเอกของเรื่องนี้คือคุณย่าเทวีที่มีหลานสาวชื่อน้ำอุ่น เด็กวัย
9 ขวบ อยู่ ป.3 แล้วก็มีตัวเชื่อมอีกคนหนึ่งก็คือพี่สมศักดิ์เป็นผู้ที่มาดูแลคุณย่า
เป็นผู้ที่ทำให้มีสีสันของเรื่อง
ขณะเดียวกันพี่สมศักดิ์ก็เป็นตัวที่มาประสานเรื่องราวต่าง ๆ ระหว่างคุณย่ากับคุณพ่อของน้ำอุ่น
เรื่องราวที่ผูกไว้คือคุณย่ามาอยู่ที่บ้านของน้ำอุ่น เพราะว่าคุณปู่เสีย
คุณพ่อของน้ำอุ่นก็กลัวคุณย่าจะเหงาเลยซื้อไอแผ็ดให้
คุณย่าก็เริ่มที่จะเล่นไอแผ็ดโดยมีหลานน้ำอุ่นมาช่วย ตรงนี้เป็นจุด ๆ หนึ่งที่เรามองเห็นว่า
คุณพ่อเขาฉลาด เพราะแทนที่เขาจะมาสอนเอง แต่เขาให้เด็ก
9 ขวบเข้ามาแทนเพื่อให้คนสองวัยได้เชื่อความสัมพันธ์กันแล้วก็เกิดกระบวนการเรียนรู้กันและกัน

จรูญพร : อ.สุวรรณาในฐานะที่เป็นบรรณาธิการส่วนตัวตามที่คุณชมัยภรบอก
จากที่คุณชมัยภรเขียนเรื่องคนสูงวัยมา อ. เห็นอะไรบ้างในงานเขียนของคุณชมัยภรเกี่ยวกับเรื่องนี้

อ.สุวรรณา : คุณชมัยภรเขียนนิยาย
จะมีนวนิยายเยาวชนอยู่หลายเรื่อง ซึ่งนวนิยายเยาวชนจะเป็นบุคลิกของคุณชมัยภรมาตลอด
เพราะว่าคุณชมัยภรจะเป็นนักเขียนที่เขียนระดับเดียวกับสายตาผู้อ่าน
คือไม่ได้มองขึ้นไปสูงส่ง อุดมการณ์ล้ำเลิศเหมือนหนังสือระดับโลก
และขณะเดียวกันก็ไม่ได้มองลงมาที่ผู้คนทุกข์ยากชนิดที่ชีวิตรันทดมาก
แต่ว่ามองในสายตาระดับคนทั่ว ๆ ไป
เพราะฉะนั้นเรื่องของคุณชมัยภรจึงเป็นเรื่องของครอบครัว เรื่องของผู้คนมันก็จะมองเห็นผู้คนทั้งหลายรอบ
ๆ ตัว พอมาเป็นนวนิยายเยาวชนมันก็เข้ามาอยู่กับตัวละครแล้ว คือสองรุ่นจริง ๆ
ตัวละครรุ่นกลางมักจะเป็นตัวเชื่อมบท เสริมบทตรงกลาง
เมื่อก่อนคุณชมัยภรเขียนตัวละครเด็กได้ค่อนข้างเป็นเด็ก
มาตอนหลังตัวละครเด็กของคุณชมัยภรจะฝืนวัยขึ้น
คือจะบอกว่าตัวละครเด็กมีสถานภาพเป็นผู้เล่าเรื่องมีความสำคัญมาก
เพราะว่าคุณชมัยภรจะติดใจกับตัวละครที่เป็นเด็กกับคนแก่มานาน
เรื่องของตัวละครเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
ลองย้อนกลับไปดูตัวละครที่มีชีวิตชีวาที่สุดของคุณชมัยภรคือเด็ก
ซึ่งเมื่อก่อนเขียนได้เป็นเด็กจริง ๆ
แต่เดี๋ยวนี้ตัวละครเด็กจะมีความเป็นผู้ใหญ่ชนิดที่เขาเรียกว่า แก่แดด ซึ่งนั่นจริง
ๆ คือตัวคุณชมัยภร คือตัวละครที่เล่านั่นคือตัวผู้เขียน จริง ๆ แล้วเรื่องในระยะหลังที่เป็นตัวละครเด็กของคุณชมัยภรก็คือตัวคุณชมัยภร
อย่างเช่นตัวแงซาย จากสุภาพบุรุษสุดลำบากส์ส์ส์
จะพบว่าตัวแงซายไม่ค่อยลงไปในอารมณ์จริง ๆเหมือนน้ำอุ่น
เพราะว่าน้ำอุ่นมีความเป็นธรรมชาติของเด็กผู้หญิงในอดีตส่วนหนึ่งของคุณชมัยภร
รวมไปถึงบาทของคุณย่า ของแม่ ที่รวมอยู่ในตัวของน้ำอุ่นเยอะ
ตัวละครเด็กของคุณชมัยภรเป็นตัวละครของผู้เล่า เพราะฉะนั้นความเป็นนวนิยายเยาวชนจะค่อนข้างชัดเจน
แต่ไม่ได้แปลว่าเวลาที่เขียนนวนิยายเยาวชน จะต้องเอาตัวละครเด็กมาเล่า
มันออกมาเองที่ผู้เขียนมีความสนใจตัวละครเด็กมานาน
ตัวละครโชคจากอาม่าบนคอนโดนี่น่าสนใจมาก เป็นตัวละครเด็กผู้ชายที่สมบูรณ์แบบมาก
มันทำให้คุณย่าติดไลน์ คุณยายติดเฟซ ไม่ไปทาบหรือไม่ไปลอกเลียนแบบของเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับคนแก่
เรื่องของครอบครัว โชคน่าสนใจตรงที่เป็นวัยรุ่นจริง ๆ
มีความประพฤติที่มีความขัดแย้งสูงมาก
ซึ่งความขัดแย้งแบบอาม่าบนคอนโดมันทำให้สะท้อนสังคมไปอีกแบบหนึ่ง แต่คุณย่าติดไลน์
คุณยายติดเฟซ จะเป็นความขัดแย้งแบนิ่ม ๆ ระหว่างเด็กผู้หญิงกับคุณย่า แม้ว่าจะมีตัวละครอีกคู่หนึ่งคือคุณตากับเรียว
ก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์เด่นชัด
เพราะว่าคุณตาไปทำอุบัติเหตุให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตของเรียว
ก็เลยต้องรับเรียวมาเลี้ยงก็เป็นความสัมพันธ์ในฐานะอุปถัมภ์ คุณชมัยภรไม่เคยอุปถัมภ์ใครแบบนั้น
เพราะฉะนั้นถ้ามองว่านักเขียนเขียนจากเรื่องรอบตัวหรือเปล่าก็อาจจะมีส่วน
แต่ก็ไม่ใช่นักเขียนเขาจะมีตาอีกดวงหนึ่งซึ่งเขาจะมองเห็นอะไรบางอย่างที่ถึงแม้ไม่ได้เกิดกับเขาหรือเขาไม่ได้ทำ
เขาก็สามารถจะรับเอาสิ่งเหล่านั้นจากรอบข้างมาได้
แต่เผอิญในเรื่องนี้คุณตากับเรียวไม่ใช่ตัวเอกเพียงแต่เป็นตัวเชื่อมบาทอีกอย่างก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์เด่นชัด
งานเขียนของคุณชมัยภรจนมาถึงคุณย่าติดไลน์ คุณยายติดเฟซ เป็นเรื่องที่มีพัฒนาการ
ไม่ใช่แค่นวนิยายเยาวชนชุด
หรือนวนิยายเยาวชนที่ผู้เขียนเขียนแบบนิทานอีสปที่รู้ชัดเจนว่าจะลงกรอบเรื่องอย่างไร
มันมีปมขัดแย้งข้างในของตัวเอง มีลีลา มีตัวละครที่ต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งที่เป็นตัวแกนของเรื่อง
พล็อตเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัว เรื่องของคนต่างวัย หรือเป็นเรื่องของตัวละคร
งานเขียนของคุณชมัยภรมีพัฒนาการ เรื่องของไอทีที่เข้ามามันเป็นกลไกที่ทำให้เดินเรื่อง
แต่จริง ๆ แล้วปมขัดแย้งมันก็คือเรื่องความสัมพันธ์ของครอบครัว
ซึ่งในเรื่องนี้อาจจะดูอ่อนโยนหน่อย แต่ก็ไม่ขาดสีสัน

จรูญพร : นอกจากประเด็นที่ทั้งสามท่านกล่าวมายังมีอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นภาวะสังคม
คือประเด็นสังคมผู้สูงอายุ เมื่อมีผู้สูงอายุในจำนวนมาก
เรื่องราวหรือการเขียนที่มีผู้สูงอายุจำเป็นไหมที่ต้องมีเยอะขึ้น
เพื่อที่จะทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจในคนที่เป็นผู้สูงอายุ
และการอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุในภาวะที่สังคมเปลี่ยนไป

ชมัยภร : มันจะมีเยอะหรือไม่มีเยอะก็ได้
มันเป็นไปตามธรรมชาติ ทุกวันนี้เวลาไปไหนมาไหน จะเห็นคนแก่ที่จูงมือกันไปกินข้าว
หรือว่าเป็นพี่น้องกัน หรือเป็นคู่สามีภรรยากัน
เรารู้เลยว่าสังคมเต็มไปด้วยคนสูงอายุ 
มันไม่ใช่ว่าเราจะเขียนแล้วให้ไปตรงกับคนสูงอายุ
แต่คนสูงอายุเหล่านี้เขาไม่ใช่แค่เดินไปกินข้าว แต่เขาต้องทำอะไรในชีวิตด้วย
เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายที่เป็นผู้สูงวัยถึงเวลาแล้วที่ต้องถ่ายทอดประสบการณ์
ถ่ายทอดเพื่อคลี่คลายตัวเอง และในขณะเดียวกันก็คลี่คลายคนอื่นด้วย เราจะบอกหลาย ๆ คนเวลาที่ไปอบรมงานเขียนว่า
เราอยากให้เขาเล่าประสบการณ์ ยิ่งสูงอายุมาก ๆ ประสบการณ์ชีวิตมันต้องเข้มข้น
แต่หลายคนก็จะมองว่าเราไม่เห็นมีประสบการณ์อะไรเลย เวลาไปอบรมก็จะกระตุ้น จะถาม
ถามไปถามปรากฏว่าแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย และมีแบบชนิดที่เรียกว่า
เราเป็นผู้ที่ได้ยินอย่างเดียวเราเขียนไม่ได้ เขาต้องเขียนเอง
ถ้าเขาเขียนเองมันก็จะทำให้เขารู้สึกดี แต่มีวิธีเล่าหน่อย
ทำอย่างไรให้เขาเล่าแล้วมันน่าสนใจ และมันเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองเป็นอันดับแรก
และเป็นประโยชน์ต้อสังคมเป็นอันดับสอง แค่ได้สื่อสารออกไปมันก็มีความหมายแล้ว
กรณีที่มีคนสูงอายุมากขึ้นมองว่างานเขียนก็น่าจะไปช่วยคนสูงอายุเหล่านั้นในด้านใดด้านหนึ่งเท่าที่จะช่วยได้
ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องมานั่งอ่านหนังสือ เพราะคนแก่ทั้งหลายตาจะเริ่มมีปัญหา
จะให้มาอ่านหนังสือนานๆ หรืออ่านหนังสือตอนกลางคืนก็มองไม่เห็นแล้ว
แต่เขายังมีปะสบการณ์ที่ยังอยู่ และประสบการณ์เหล่านั้นเหมาะที่จะถ่ายทอด
เหมาะที่จะเล่า การเล่าของผู้มีประสบการณ์ไม่ไ

ด้แปลว่าตัวเขาต้องเป็นคนเล่าเองตลอด
เขาอาจจะเป็นเพียงแค่กระตุ้นข้าง ๆ ลูกหลาน หรือคนหนุ่มสาวเป็นคนเขียนก็ยังได้
เพราะฉะนั้นมันมีหลายกลวิธีที่เราจะนำเสนอสิ่งเหล่านี้ออกมาในสังคมคนสูงวัย


จรูญพร : คุณย่าติดไลน์ คุณยายติดเฟซ ในความตั้งใจแรก ตั้งใจจะเขียนให้ใครอ่าน

ชมัยภร : ตั้งใจเขียนให้คนในสังคมออนไลน์ จริง ๆ คือทุกคน
จะบอกว่าให้คนแก่อ่านก็ไม่แน่ใจว่าคนแก่อ่านแล้วจะมีความสุข
แต่ที่รู้แน่คือถ้าเราอ่านผ่านคนแก่คือคุณย่าจะไม่สนุก
อาม่าบนคอนโดตอนที่เลือกเล่าผ่านโชค ก็เลือกนานเพราะว่าถ้าเราเลือกไปเล่าผ่านคนแก่
มันก็คงแห้งแล้งสำหรับคนอ่าน เราก็ถามตัวเองว่าถ้าเราจะเขียนเรื่องอาม่าเฉย ๆ มันก็คือการเล่าเรื่องคนแก่ที่ไม่สบาย
แต่ถ้าเล่าเรื่องแค่คนแก่ไม่สบายมันก็เป็นสารคดี ถ้าเล่าผ่านโชคที่เป็นวัยรุ่น
เรารู้สึกเลยว่ามันมีชีวิตชีวา
ในขณะเดียวกันก็ต้องดูเรื่องก่อนหน้านั้นว่าเราเล่าผ่านใคร
ถ้ามันใกล้กันมากตัวละครมันจะไปสวมกันโดยอัตโนมัติ
เพราะก่อนหน้านั้นคือคุณยายหวานซ่าส์ที่ตัวละครเป็นวัยรุ่นผู้หญิง
พอมาเป็นอาม่าบนคอนโดก็เลยเป็นโชค จริง ๆ อยากเล่าเรื่องคนแก่นั่นแหละ
แต่เล่าผ่านตัวละครเด็ก เพื่อให้มันมีชีวิตชีวา มีสีสัน มันเป็นความหวัง
เล่าผ่านคนแก่มันไม่เป็นความหวัง  ถ้าเราจะเขียนให้มันเป็นวรรณกรรมที่มีกำลังใจมันต้องมีเด็ก
คุณปู่คุณย่าทั้งหลายของเราเลยต้องมีกำลังใจเป็นเด็ก

จรูญพร : หลังจากลงในนิตยสารสกุลไทยกระแสตอบรับจากผู้อ่านเป็นอย่างไรบ้าง

นรีภพ : ตอนที่ลงไปได้สักระยะ
นักเขียนจะตอบจดหมายผู้อ่าน โดยจะมีเสียงมาจากอีเมลมาบ้าง โทรศัพท์มาบ้าง
จดหมายมาบ้างว่า คุณชมัยภรเขียนเรื่องทันสมัยมาก และเรื่องนี้ให้อะไรหลาย ๆ อย่างกับเขา
แต่เสียงส่วนใหญ่บอกว่าสนุกมาก เขียนเรื่องได้เข้ากับยุคสมัยมาก คุณย่าติดไลน์
คุณยายติดเฟซ เราจะเห็นภาพ ภาพทั้งกระบวนการที่เราจะอยู่ร่วมกับคนสูงวัยอย่างไร
เห็นภาพของการเลี้ยงดูบุตรหลาน
เห็นภาพของการอยู่ในโลกโซเชี่ยลว่าเราควรจะอยู่อย่างไร อยู่ในโลกของความเป็นจริงอย่างไร
อยู่ในโลกของอินเตอร์เน็ตอย่างไร ใช้อย่างไร อยู่อย่างมั่นคงอย่างไร
ก็มีเสียงสะท้อนมาว่าเราได้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง เรื่องของโซเชี่ยลก็เป็นกลไกที่สนุก
เป็นกลไกที่สอนว่าเราจะอยู่อย่างไร ใช้อย่างไร

 

 

 

จรูญพร : อย่างที่ อ. สุวรรณาบอกว่าทุกตัวละครมีความเป็นคุณชมัยภรอยู่ในนั้น
คือเป็นเรื่องปกติของการเล่าเรื่องใช่ไหม

อ.สุวรรณา : ตัวละครจะมีตัวคนเขียนไปแขวนไว้อยู่เสมอแล้วแต่ในช่วงของเหตุการณ์หรือบุคลิกนั้น
ๆ แต่เมื่อสักครู่ที่บอกไปนั้นคือผู้เล่า
เพราะผู้เล่าคือเสียงสำคัญที่เป็นเสียงพื้นฐาน ถ้าใครได้อ่านงานของคุณชมัยภร
ให้ลองหาตัวละครที่เขาไม่ตั้งใจจะเขียน 
เขาจะใส่ทุกอย่างแต่มัน เหมือนทำยำใหญ่ มีทุกอย่างอยู่ในนั้นแล้วมันอร่อย
ก็ประหลาดดี มันอะไรก็ได้ไม่ต้องเป็นตัวตามประเพณีพิธีกรรม
ตัวพี่สมศักดิ์เป็นตัวละครที่คนสมัยนี้เขาเรียกว่า ขโมยซีน คือเข้ามาอยู่ในทุกวาระ
ทุกโอกาส แล้วก็จะเป็นตัวที่คอยพลิกเรื่อง เป็นตัวที่ตบเรื่อง เข้ามาตลอด
ซึ่งเป็นความสามารถของคนเขียน ว่าจะสอดใส่เข้าไปตรงไหน สิ่งที่ทำให้นวนิยายมีชีวิตชีวาก็คือตัวละคร
บรรดาปมขัดแย้งอะไรพวกนั้นมันคาบลอยกันมาทั้งนั้น  เพราะฉะนั้นนวนิยายแต่ละเรื่องที่มันต่างกันก็คือตัวละครและพฤติกรรม

                ในฐานะที่เป็นคนรักการอ่านนวนิยายและเรื่องสั้นมาก
อยากบอกว่าอย่าอ่านแล้วพยายามแยกมันออกมาว่า ตรงนั้นเป็นอย่างนี้ ตรงนี้เป็นอย่างนั้น
มันรวมกันอยู่ทั้งหมดเหมือนชีวิตเราปกติ มันแทรกซึมไปอยู่เรื่อย ๆ
ก็เหมือนชีวิตในนิยาย

                การเปิดตัวหนังสือ                  คุณย่าติดไลน์ คุณยายติดเฟซ
ก็มีความรู้สึกยินดีมาก เพราะว่ามันแสดงถึงคุณภาพของผู้เขียน
ว่าเขายังรักษาคุณภาพในการที่จะมองชีวิต แล้วก็เสนอชีวิตออกอย่างที่เขาบอกว่ามันเป็นประสบการณ์
สิ่งที่เขาสะท้อนออกมาเหมือนตามประกาศเกียรติคุณศิลปินแห่งชาติที่บอกว่า
การมองโลกในแง่ดี การมองโลกในแง่มีความหวัง เป็นสิ่งสำคัญของงานคุณชมัยภร
ซึ่งก็อยากให้สิ่งนี้มันปรากฏ มันไม่ใช่ว่ามองโลกในแง่ดีเลิศ แต่ว่าให้มองโลกว่ามันคือธรรมชาติ
นี่มันคือสิ่งที่ชีวิตเราต้องเรียนรู้ คือการมีทัศนคติต่อชีวิต
มีแง่ที่ดีต่อผู้อื่น
มันก็เป็นสิ่งที่ผู้เขียนหรือเรื่องที่เราอ่านควรจะนำเสนอออกมาได้
แต่ไม่ใช่ว่าไม่พูดในแง่ที่มันเป็นความจริง ความจริง ความงาม
และความดีมันอยู่ด้วยกันตลอดเวลา มันไม่ได้แยกจากกัน สิ่งไหนที่เป็นเรื่องจริง
และเป็นเรื่องที่งาม มันก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากไว้ในโลกของหนังสือก็คือ
เราไม่จำเป็นที่จะต้องเขียนหนังสือที่มีแต่ความสุขของชีวิต
หรือว่าเขียนหนังสือที่มีเสียงหัวเราะความรื่นรมย์ตลอด สิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต
นวนิยายเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เราเห็นว่าชีวิตมันมาแล้วก็ผ่านไป
ก็ขอบคุณคุณชมัยภร ขอบคุณคุณนรีภพไว้ในที่นี้ด้วย ที่ขอบคุณก็เพราะว่าเรามีหนังสือดี
ๆ ให้อ่าน ขอบคุณโลกของหนังสือ แล้วก็ขอบคุณคนอ่าน