ใครที่เดินผ่านไปมาบนริมถนนทองหล่อ หน้าบ้านเลขที่ ๖๗ คงอดไม่ได้ที่จะเหลียวดู หญิงสูงอายุร่างเปรียวแกร่งสวมใส่เสื้อผ้าง่ายง่าย ถือไม้กวาดด้ามยาวยืนกวาดเศษใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นลงดิน ใช้สองมือกอบโกยเศษขยะใบหญ้าลงเข่งแล้วหิ้วไปทิ้งตามจุดที่กำหนด ด้วยท่าทีว่องไวทะมัดทะแมง บุคลิกมีเสน่ห์ชวนสะดุดตา หญิงสูงอายุผู้นี้ คือ ครูองุ่น มาลิก หรือ ครูองุ่น ของใครหลายคน

เกือบสิบปีเต็มที่ฉันรับใช้ครูองุ่น ด้วยความรักความผูกพัน เสมือนหนึ่งว่าเป็นแม่ เป็นครู และเป็นเพื่อนเล่น ไม่ว่าจะเกิดเรื่องหรือปัญหาอะไรขึ้นกับครูฉันจะได้รับฟังจากปากของครูเป็นการส่วนตัวเสมอ เราร่วมเป็นกัลยาณมิตรที่จริงใจต่อกันตั้งแต่ต้น มีสิ่งใดที่ครูดำริจะทำแล้วเป็นเรื่องร้าย ทำลายอารมณ์ความรู้สึกผู้อื่นในแง่ไม่ถูกไม่ควร ฉันจะติและคัดค้านเสมอ หลายคนไม่กล้าขัดใจกลัวทำให้ครูไม่สบายใจ แต่ฉันจะท้วงติงด้วยใจบริสุทธิ์ เมื่อเห็นว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งครูจะรับฟังอย่างมีเหตุผลเสมอ

เวลาเช้าฉันมีหน้าที่จ่ายตลาดให้ครู เราทานข้าวด้วยกัน ครูทำให้ฉันทาน ฉันทำให้ครูทาน บางทีซื้อก๋วยเตี๋ยวมาแบ่งกันทานในห่อเดียว ทานข้าวร่วมหม้อกับร่วมจาน ซึ่งหลายหนมี “โอ้” รวมอยู่ด้วย เราพูดคุยกันทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องชีวิตส่วนตัวแต่หนหลัง ไล่ดะไปจนถึงงานเจตนาสร้างสิ่งที่ดีงามเพื่อสังคม ตอนค่ำเราคุยกันหลังอาหารเย็น เมื่อฉันแยกกลับไปนอนสักพักใหญ่ ช่วงดึกครูจะเดินมานั่งข้างมุ้งที่ฉันนอน หอบหนังสือเอกสารมาด้วยเรียกฉันฟังโครงการต่างๆ ที่ครูเห็นว่ามูลนิธิไชยวนาน่าทำ เมื่อท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์สิ้นที่ฝรั่งเศสและต่อมามีการก่อตั้งมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ขึ้น ครูหารือฉันเป็นคนแรกเกี่ยวกับความคิดที่ครูจะยกที่ดินส่วนหนึ่งให้มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ จัดสร้างสถาบันปรีดี พนมยงค์ แน่นอนความคิดเราตรงกัน หลังจากนั้นแล้วโครงสร้างของสถาบัน (วิจัย)ปรีดี พนมยงค์ ก็ถูกท่านร่าง ท่านอ่านให้ฟัง ถามความเห็นครั้งแล้วครั้งเล่า ตลอดไปจนถึงรูปธรรมการสร้างสถาบันให้สำเร็จตามเป้าประสงค์อย่างรวดเร็ว เมื่อนึกอะไรออกท่านจะร่างเป็นจดหมายส่งให้ฉันอ่านถามความเห็น ตรงไหนควรแก้ไขท่านจะขัดเกลาเสียใหม่ ก่อนให้ฉันส่งไปรษณีย์ถึงบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง

ความสัมพันธ์ส่วนตัวเรากว้างไกล ครอบคลุมทุกเรื่อง เที่ยงคืนตีหนึ่ง ถ้าครูมีเรื่องกังวลใจทำให้นอนไม่หลับ ครูจะมาปลุกฉัน ระบายปัญหาที่เกิดขึ้นในใจ บางครั้งก็ร้องไห้ปรับทุกข์ให้ฉันได้เป็นผู้รับรู้ เรื่องตื้นลึกหนาบางที่เคยเป็นมาและเป็นไปต่างๆ ถูกถ่ายทอดจากปากคำของครูบ่อยบ่อย

ครูก็เหมือนปุถุชนทั้งหลาย บางทีท่านก็ท้อแท้หมดหวังกับความใฝ่ฝันอันงดงาม เมื่อเราพูดคุยกันสักหน่อยด้วยเหตุผล ท่านจะผ่านจุดเหล่านั้นอย่างรวดเร็ว สลัดมันทิ้งไปก่อน แล้วหาสิ่งอื่นมากระตุ้นใจให้มีพลังความหวังกับงานสร้างสรรค์เพื่อสังคม ตลอดระยะเวลาที่อยู่ใกล้ชิดท่าน เราได้ร่วมผจญอุปสรรคนานานับประการที่เป็นเรื่องราวของคนและธรรมชาติ ได้เรียนรู้อารมณ์ความรู้สึกของกันและกัน พยายามเป็นเงื่อนไขที่ดีให้แก่กันในอันที่จะยกระดับคุณภาพจิตใจให้สูงขึ้น

๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ เป็นวันแรกที่ครูไปฉายแสง เมื่อทางโรงพยาบาลตรวจพบว่า ท่านเป็นมะเร็งปากมดลูก หลังจากนั้น ฉันจะพาครูไปหาหมอเป็นประจำ ไม่ว่าจะไปโรงพยาบาลรามาธิบดี หรือ คลินิคหมออภิเชษฎ์ นาคเลขา หลายครั้ง “โอ้” มาช่วยดูแลอยู่ด้วย เมื่อผ่านกระบวนการฉายแสงฝังแร่แล้ว ครูยังโหมทำงานหนัก ทั้งงานหุ่น งานเอกสาร พรวนดิน ขุดดิน ปลูกต้นไม้ ในที่สุดท่านปวดท้องอย่างรุ่นแรง ต้องรีบส่งโรงพยาบาลรามาด่วน หมอรับตัวไว้และทำการผ่าตัดทันที เนื่องจากลำไส้พันกันหมด หมอต้องตัดทิ้งส่วนหนึ่งแล้วจึงต่อส่วนที่เหลือใหม่ หลังผ่าตัดและกลับมาอยู่บ้านซอยทองหล่อแล้ว ครูยังมุทำงานอีกแต่ส่วนใหญ่เน้นไปที่การปฏิบัติธรรม ครั้งหนึ่งท่านไปใช้ชีวิตช่วงสั้นๆ ปฏิบัติธรรมที่สวนอุศรมมูลนิธิ จนล้มเจ็บ ฝ่าพายุฝนกลับมากลางดึก ฉันรีบพาท่านไปโรงพยาบาลฉุกเฉินทันที นั่นนับเป็นครั้งสุดท้ายที่ท่านไปใช้ชีวิตปฏิบัตธรรมเต็มรูปแบบ ช่วงนี้ฉันจะอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ให้ฟัง รวมทั้งวรรณกรรมและหนังสือธรรมะด้วย ช่วงแรกครูจะลุกขึ้นทำวัตรเช้าทำวัตรเย็นเป็นประจำด้วยเสียงอันดัง เมื่อเริ่มเจ็บป่วยก็เหลือเพียงการทำวัตรเย็น อีกระยะหนึ่ง การทำวัตรเริ่มตกหล่นเมื่อเจ็บป่วยมากขึ้น วันไหนมีเวลาฉันจะกางหนังสือสวดมนต์ ชวนครูทำวัตรด้วยเสียงอันดังครูจะสบายใจนอนหลับได้ดีขึ้น

ครูกำชับนักกำชับหนาว่า “สินธุ์ เธอจะต้องเอาครูลงอ่างที่เก็บร่างนะ” เราสนทนาเรื่องนี้กันเมื่อปีครึ่งมาแล้ว ตอนนั้นครูให้ช่างมาทำที่เก็บร่าง ฉันกับครูช่วยกันวัดขนาดด้วยไม้ไผ่ ในที่สุดฉันต้องลงไปนอนเป็นแบบให้ช่างวัดเพราะครูกับฉันมีขนาดความสูงเท่ากัน เมื่อมีเวลาฉันจะพาเด็กเด็ก มาช่วยกันขัดล้างทำความสะอาดอ่างเก็บร่างที่สร้างเสร็จเตรียมการล่วงหน้าไว้ ครูจะนั่งยิ้มมองดูด้วยแววตาที่มีความสุข “สินธุ์ เธอต้องทำให้เรียบร้อยนะ ถ้าครูตายปลูกต้นไม้ทำลานสนามให้น่าดูสมชื่อไชยวนานะ” ครูบอกฉันด้วยสำเนียงปิติ

แต่เดิมนั้น ครูได้ทำเรื่องยกร่างให้โรงพยาบาลรามาธิบดีเมื่อถึงแก่กรรม ต่อมาหลังจากฟื้นจากการเจ็บหนักครูได้เน้นศึกษาปัญหาธรรมะมากขึ้น วันหนึ่งขณะสนทนากันยาวหลายชั่วโมงครูได้ปรารภถึงเรื่องการเก็บร่างหลังถึงแก่กรรมไว้ ณ ผืนแผ่นดินไชยวนาแห่งนี้ เราได้แลกเปลี่ยนทัศนะกันมากมายในที่สุดครูได้ทำหนังสือขอยกเลิกการบริจาคร่างกายหลังถึงแก่กรรมให้โรงเพยาบาลรามาธิบดี

ช่วงเจ็บ นอกจากการคร่ำเคร่งจากการงานใช้พลังสมองร่วมกันแล้ว บางครั้งเราจะหยอกล้อเล่นกันเหมือนเพื่อนเกลอโดยเฉพาะถ้าอยู่กันตามลำพัง ฉันจะล้อครูโดยเรียกว่า “นาย” บ้าง “แม่หนู” บ้าง บางทีฉันเอาเพลงอานนท์ของคาราวานมาเปลี่ยนเนื้อเป็น “..เขาคือ องุ่น ที่คนรักและบูชา..” ครูจะนอนหัวเราะด้วยความสนุก เมื่อท่านเจ็บมากขึ้นและยังไม่หาผู้ดูแลมาช่วย ฉันรับภาระแทบทุกอย่าง ช่วยซักผ้าเทกระโถน ช่วยอาบน้ำ ตัดเล็บ ถอนขนตา ฯลฯ หาอาหารที่ถูกใจมาให้ เคี่ยวเข็นให้ทาน หายาให้ท่าน แม้มีผู้ดูแลโดยตรงแล้ว ถ้าไม่สบอารมณ์ท่านจะไม่ยอมทานอาหาร บางทีก็นอนประท้วง หลับตานิ่งไม่ยอมลุกไปอาบน้ำทานข้าว ฉันต้องพูดปลอบแล้วจูงท่านมาอาบน้ำทานข้าว ต่อมาครูเจ็บหนักมากขึ้นบางครั้งไม่ยอมทานข้าวฉันต้องป้อนให้ทีละช้อนสลับอารมณ์หดหู่ของท่าน โดยการหาเรื่องสนุกมาเล่าให้ฟัง “รู้ไหม กับแม่ผมเอง ผมยังไม่เคยได้ปรนนิบัติให้อย่างนี้เลยนะ” ฉันบอกท่านท่านได้แต่ยิ้มน้อยๆ ไม่พูดอะไร

กลางเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๓ ครูเจ็บมากจนเพ้อ จำบ้านตัวเองไม่ได้โกลาหลกันทั้งบ้าน ฉันต้องเรียกแท็กซี่ช่วยกันอุ้มครูขึ้นรถ ให้ผู้ดูแลนั่งข้างๆ คอยประคองครู ซึ่งนั่งกึ่งนอนอยู่ตรงกลาง ให้แท็กซี่ขับช้าๆ วนไปมาส่วนครูนั่งเอามือจับแว่นตาจ้องเขม๋งมองหาบ้านฉันบอกให้ครูมองหาบ้านเอง “บ้านครูอยู่ตรงไหน” “อยู่ใต้ต้นมะขาม” ท่านตอบ ตามองหาซ้ายทีขวาที จนเหนื่อยเพลียหลับ จึงนำท่านลงจากรถเข้าบ้านนอนพักต่อมาท่านไม่ยอมทานอาหารและยาฉันปรึกษาผู้ใหญ่หลายท่าน ก่อนตัดสินใจร่วมกับ อาจารย์ดุษฎี บุญทัศนกุล (พนมยงค์) ส่งครูไปรักษาที่โรงพยาบาลคามิลเลียนโดยด่วนเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๓๓ ด้วยเงื่อนไขที่ตกลงกับคุณหมอว่า ให้ครูมีความทุกข์ทรมานน้อยที่สุด เรารู้อยู่เต็มอกแล้วว่าโรคมะเร็งที่ท่านเป็นได้กระจายตัวไปมากแล้ว ฉะนั้นช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ ขอให้ท่านได้มีความสุขที่สุด ตามเงื่อนไขที่ทำได้ ครูทำประโยชน์เสียสละเพื่อสังคมมามากแล้ว บั้นปลายท่านควรพบกับความสุขบ้าง ครูกลับมีชีวิตที่ร่างเริงสดใสอีกครั้งหนึ่งเหมือนแสงสว่างของเปลวเทียนที่โชติช่วงครั้งสุดท้าย ฉันละงานไปเฝ้าไข้ดูแลท่านทุกวัน สลับผู้ดูแลสองท่านจากสันติอโศกท่านหนึ่ง สติอารมณ์ของครูแจ่มใสมากจนผิดสังเกต “โอ้” มาเฝ้าไข้เป็นระยะขณะกำลังท้อง ญาติมิตรลูกศิษย์ทยอยมาเยี่ยมครูมิได้ขาด

วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๓๓ ครูเริ่มซึมลงไป พูดน้อยอ่อนเพลียนอนมากขึ้น วันที่ ๑๙ มิถุนาฯ หลังจากท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มาเยี่ยมเป็นครั้งที่สองและกลับไปแล้ว พยาบาลได้ให้เลือดครู ๒ ถุง อาการท่านไม่ดีขึ้น บ่นว่าเพลียเหนื่อยมากปวดท้อง กังวลใจหงุดหงิดถามแต่ว่า “กี่ทุ่มแล้ว?” เช้าวันที่ ๒๐ มิถุนายน ฯ ท่านไม่ขยับกาย ฉันจึงเรียกด้วยเสียงดังดัง “ครู ครู จำผมได้หรือเปล่า ?” ท่านตอบว่า “อือ” แล้วยักคิ้ว ฉันถามท่านต่อ “ใครล่ะ ?” “สินสมุทร” ท่านตอบแล้วนอนนิ่งตลอด สังเกตเห็นว่าม่านตาของครูเริ่มขุ่นมัวและเป็นฝ้า ทั่วตัวท่านมีเหงื่อกาฬแตกเย็นเฉียบ ขณะเดียวกันท่านกลับรู้สึกร้อนอยู่ภายใน ถึงเวลาอาหารเช้าต้องตักซุปกรอกใส่ปากทีละครึ่งช้อนชา เวลาให้ยาต้องยัดใส่ปากแล้วบอกให้กลืนดังๆ ฉันโทรศัพท์เรียกทุกคนที่สนิทและนึกได้ทันเพราะเห็นอาการครูทรุดหนักมาก ฉันเรียกพยาบาลเมื่อเห็นท่านหายใจสะดุด พยาบาลให้ออกซิเจนช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น ช่วงบ่ายอาจารย์ประดับ มนูรัษฎา ประธานมูลนิธิไชยวนามาเยี่ยม ครูนอนหลับพักใหญ่ อาจารย์ประดับจึงกลับ “โอ้” มาถึงประมาณเกือบบ่ายสามโมง คุณหมอชัยพฤกษ์แพทย์เจ้าของไข้ เข้ามาตรวจอาการประมาณบ่ายสี่โมง คุณหมอบอกว่า..อีกไม่นาน ท่านคงจากเราไปละครับ “โอ้”เริ่มร้องไห้น้ำตานอง ครูเริ่มรู้สึกตัวน้อยลง ตาเพิ่มความพร่ามัวและเป็นฝ้ามากยิ่งขึ้น ตกเย็นก็มองไม่เห็นทั้งสองข้าง พูดได้ลำบาก แต่เมื่อมีใครเรียก “นาย” ดังดัง ข้างหู ท่านยังหลุดเสียง “จ๋า” ตอบออกมาเบาเบา เวลาค่ำขากรรไกรเริ่มแข็ง ฉันเปิดเทปธรรมะสำหรับคนเจ็บของท่านอาจารย์พุทธทาสให้ฟังเป็นระยะ ท่านยังรู้ตัวอยู่ ฉันกับ “โอ้” กุมมือท่านตลอด มืออีกข้างก็ลูบเส้นผมบนศีรษะให้ พยายามพูดให้ท่านสบายใจตลอดด้วยเสียงดังช้าช้า “ครู ไม่ต้องเป็นห่วง ไม่ต้องกลัวนะครับ..ทำใจให้สบาย…พักผ่อนให้สบายนะครับ..” ท่านพยายามพยักหน้า แต่ลำบากมากแล้ว หลังเวลา ๒๒.๐๐ น. ร่างกายท่อนล่างของท่านเริ่มหมดสภาพ ฉันขึ้นไปนอนบนเตียงเดียวกับท่าน เอาหูแนบท้องครูฟังเสียงภายใน ปกติจะดังครืดคราดแต่ตอนนี้ค่อยๆ เงียบลง ฉันนอนบีบนวดท่านกอดแขนเบาเบา พยายามรบกวนน้อยที่สุด ตั้งแต่เที่ยงคืน ลมหายใจของครูค่อยระรินแผ่วลงเรื่อย จนเหลือชีพจรที่ยังเต้นอยู่ เวลา ๐๑.๐๙ น. ของวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๓๓ ท่านก็หมดลมหายใจอย่างสงบที่สุด ล้อมรอบด้วยฉัน “โอ้” และผู้ดูแลสองท่าน คือ “เจง” และ “คุณวรรณา รัศมิทัต” จากสันติอโศก เนื่องจากโรคมะเร็งร้ายได้เติบโตดูดกินพลังงานจากส่วนต่างๆ ของร่างกายไปจนหมดสิ้น ร่างของครูจึงซูบผอมลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงวันเดียว เมื่อท่านสิ้นลมหนังตาบนจึงค้างไม่สามารถปิดหลับลงได้สนิทเพราะเบ้าตากลวงลึกด้วยความผอม ฉันต้องใช้เวลาอยู่นานกว่าจะทำให้ดวงตาคู่นั้นของครูหลับได้สนิท ฉันกอดและลูบศีรษะครูอีกหลายครั้ง ด้วยความรักความผูกพัน เมื่อมาพิจารณาดูอีกครั้งเหมือนท่านนอนหลับและยิ้มน้อยน้อยให้เราเข้าใจในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ รู้ว่าครูจากไปด้วยความสบายใจ แต่ลึกๆ ในอกยังมีความอาวรณ์ถวิลหา

ร่างของครูได้รับการบรรจุลงเหนือผืนแผ่นดินที่ท่านลงแรงกาย แรงใจแรงสติปัญญา และหยาดโลหิตแห่งความเหนื่อยยากสร้างขึ้นมาตามประสงค์ ฉันพยายามทำทุกอย่างให้เป็นไปตามเจตนาของท่าน นับตั้งแต่รู้จักครูเป็นวันแรกตราบจนท่านฝากลมหายใจเฮือกสุดท้ายไว้ต่อหน้า ทั้งหมดก็คือภาพแห่งความทรงจำอันงดงาม ทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับฉันที่ได้ร่วมอยู่ร่วมรับใช้ใกล้ชิดจะตราตรึงดวงจิตไปตลอดชั่วชีวิต อุดมธรรมเกื้อกูลสังคมส่วนรวมของครูจะได้รับการสานต่อโดยพยายามทำให้เป็นจริงมากที่สุด

●ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ “จารึกไว้บนแผ่นดิน” กันยายน พ.ศ.๒๕๓๓
●ตีพิมพ์ครั้งที่สอง ในเอกสารเผยแพร่ของชมรมผู้ปฎิบัติธรรม พ.ศ.๒๕๓๔
●ตีพิมพ์ครั้งที่สาม ในหนังสือ “สาส์นเยาวศิลป์” พ.ศ. ๒๕๓๖
●ตีพิมพ์ครั้งที่สี่ ในหนังสือเผยแพร่ในกลุ่มเพื่อน“หรือจะไปให้สุดปลายฟ้า” มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๘
●ตีพิมพ์ครั้งที่ห้า ในหนังสือ “บันทึกของฉันสีสันไปสู่ดวงดาว” กันยายน พ.ศ.๒๕๓๙
●ตีพิมพ์ครั้งที่หก ในหนังสือ “องุ่น มาลิก ดอกไม้กลางใจชน” มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๒

ขอเชิญร่วมงาน
รำลึกถึงครูองุ่น มาลิก
ครบรอบ ๑๗ ปี แห่งการถึงแก่กรรม

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐
ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ สุขุมวิท ๕๕ ซอยทองหล่อ กรุงเทพมหานคร

เวลา ๑๑.๓๐ น. พิธิเปิดลานและป้ายชีวประวัติครูองุ่น มาลิก
เวลา ๑๒.๓๐ น. เล่าเรื่อง แนวความคิดการทำงานศิลปะของ สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย
ฟังบทเพลงจากอัลบั้มเพลงชุดล่าสุด “หยิบรุ้งมาถักทอเป็นสายใยจากขั้วหัวใจ”
เรียบเรียงเสียงดนตรี โดย คานธี อนันตกาญจน์
เวลา ๑๓.๓๐ น. เปิดนิทรรศการภาพศิลปะวาดลายเส้น “เส้น เสียง ศิลป์” ผลงานของ
สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย โดย ชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่ง ประเทศไทย
เวลา ๑๔.๐๐ น. ธรรมะสวัสดี โดย สมณะจันทเสฏโฐ (ท่านจันทร์)
* ชมมหกรรมการแสดงแสนหรรษา ครั้งที่ ๙ * ละครหุ่นมือ คณะยายหุ่น
ครูองุ่น มาลิก กลุ่มแต้มฝัน ละครใบ้กลุ่มเบบี้ไมม์

[url][/url]